Tuesday, April 12, 2011

ปัจฉิมลิขิต บทความ “พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร”



(1) ดุรายงานข่าวทางเว็บไซต์ผู้จัดการ เมื่อเวลา 9.12 น. ที่นี่

(2) ดุรายงานข่าวทางเว็บไซต์ผู้จัดการ เมื่อเวลา 16.21 น. ที่นี่ น่าสังเกตว่า ตามรายงานข่าว ผู้บาดเจ็บล้วนแต่เป็นพันธมิตร ไม่มีตำรวจ และผู้อำนวยการโรงพยาบาล “กล่าวอย่างหนักแน่นว่า รพ.ดูแลรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่เลือกศาสนา หรือจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะพวกเราคือหมอ จึงต้องมีจริยธรรมและให้สิทธิ์รักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน” นั่นคือไม่ได้หมายถึง “เท่าเทียมกัน” ทั้งฝ่ายพันธมิตรและเจ้าหน้าที่ (ซึ่งไม่มีรายงานว่ารักษาที่นั่นอยู่แล้ว) ทำให้เข้าใจว่า เงินพระราชทานดังกล่าวยังคงสำหรับผู้บาดเจ็บพันธมิตรเท่านั้น

(3) มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2551 ที่นี่

(4) มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2551 (เว็บไซต์เดียวกับเชิงอรรถที่ 3) ผมเห็นว่า สามารถมองได้ว่า การพระราชทานเงินครั้งแรกสุด เป็นสิ่งที่ฝ่ายราชสำนักตระหนักในเวลาต่อมาว่า เป็นความผิดพลาด ในวันต่อๆมา จึงมีความพยายามที่จะแสดงออกในลักษณะ “ช่วยเหลือทุกฝ่าย” มากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงในเหตุการณ์ปะทะในระยะ 2 ปีต่อมา (ครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2553) แต่ความพิเศษเฉพาะของ “ความช่วยเหลือ” ต่อพันธมิตร เป็นสิ่งที่ชัดเจนเกินกว่าจะปฏิเสธได้ กรณี น.ส.อังคณา “น้องโบว์” ของพันธมิตร ทีกำลังจะกล่าวถึง มีผู้นำมาเปรีบบเทียบกับกรณี “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด ทีเป็นพยาบาลในการชุมนุมของ “เสื้อแดง” ที่เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2553

(5) “สารวัตรจ๊าบ” ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชเพลิงศพเช่นกัน โดยจัดงานในวันถัดมา (14 ตุลาคม) แต่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานในพิธี

(6) รวบรวมตรวจสอบจากรายงานข่าวหนังสือพิมพ์วันที่ 14 ตุลาคม 2551 หลายฉบับคือ มติชน, ผู้จัดการ, โพสต์ทูเดย์, แนวหน้า, กรุงเทพธุรกิจ และ The Nation.

(7) วันที่ 12 ตุลาคม – คือก่อนวันเสด็จพระราชทานเพลิงศพ 1 วัน – มีการชุมนุมย่อยของกลุ่ม “นปช.” ที่สนามหลวง ฉากผ้าหลังเวที เป็นรูปวาดขนาดใหญ่ คล้ายเท้าของไดโนเสาร์ (?) มีแหวนเพ็ชรสีน้ำเงินเม็ดใหญ่สวมอยู่นิ้วหนึ่ง มีข้อความบรรยายว่า “ประชาธิปไตยอยู่ใต้อุ้งเท้าใคร? เมื่อกบฏได้รับการปกป้อง”


(8) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ปีที่ 1 ครั้งที่ 29 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ), วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551, หน้า 127. ดาวน์โหลดได้ที่นี่

(9) มติชนออนไลน์ 13 ธันวาคม 2551 ที่นี่

(10) ดูคลิป “ไฮด์ปาร์ค” ที่มีชื่อเสียงส่วนนี้ ได้ที่ YouTube หลายหน้าเว็บ เช่น ที่นี่

(11) ดูรายงานข่าวที่เว็บไซต์ ผู้จัดการร ที่นี่ ผมไม่พบว่า มีรายงานเรื่องนี้ทางสื่ออื่น นอกจากผู้จัดการซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มพันธมิตร ชิงชัย ได้เข้าเฝ้าในวันที่ 11 สิงหาคม ผมไม่แน่ใจ แต่ดูเหมือนการเข้าเฝ้าครั้งนี้ อาจจะเป็นการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเป็นการส่วนพระองค์ และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่เข้าเฝ้าตามประเพณีในวันที่ 11 สิงหาคม เพราะชิงชัยต้องนำภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ 3-4 ภาพมาถวายด้วย แต่เรื่องนี้ ผมหาข้อมูลยืนยันไม่ได้

(12) สุทธิชัย หยุ่น กล่าวถึงจดหมายนภัส ทาง twitter ในเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ตัวจดหมายดูเหมือนจะเริ่มเผยแพร่ทาง facebook ในเย็นวันก่อนหน้านั้น (ดูที่นี่) จดหมายได้รับการตีพิมพ์ใน The Nation วันที่ 19 พฤษภาคม “Open letter to CNN”, The Nation, 19 May 2010 ที่นี่

Sunday, September 21, 2008

พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร



(1) คลิปวีดีโอการปราศัยของสนธินี้สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ ขนาดทั้งหมด 19.7MB ส่วนที่อ้าง นาทีที่ 6:38 ถึง 8:10

(2) คลิปวีดีโอการปราศัยของสนธิที่รวมการประกอบพิธีอาสาฬหบูชาบนเวทีพันธมิตร พร้อมการเปิดเทปพระสุรเสียงพระราชินี สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ ขนาดทั้งหมด 21.3MB ส่วนที่อ้าง นาทีที่ 4:33 ถึง 7:15

(3) เพิ่งอ้าง นาทีที่ 16:18 ถึง 17:23

(4) พระสุรเสียง อยู่ระหว่าง นาทีที่ 18:06 ถึง 34:37

(5) วศิน อินทสระ, พระอานนท์ พุทธอนุชา (พระนคร: สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2509)

(6) ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มีตัวบท “พระอานท์ พุทธอนุชา” ทีนี่ และ ที่นี่ เว็บไซต์ที่มีทั้งตัวบทและเสียงอ่าน ที่นี่ และเว็บไซต์ที่สามารถฟังและโหลดเสียงอ่านเท่านั้น ได้แก่ ที่นี่, ที่นี่, และที่นี่ ตัวนิยายแบ่งเป็น 33 บท แต่เสียงอ่านแบ่งเป็น 36 ตอน

(7) การขีดเส้นใต้เน้นคำเป็นของผม ตัวบทนี้ ผมนำมาจากเว็บไซต์ที่อ้างในเชิงอรรถที่แล้ว ซึ่งตรงกับฉบับพิมพ์รวมเล่ม (ในเชิงอรรถที่ 5) อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก พระราชินีมิได้ทรงอ่านแบบนักอ่านอาชีพ จึงอาจมีบางคำตกหล่น เพิ่มเข้ามา หรือ คลาดเคลื่อนจากตัวบทจริงเล็กน้อย (เช่น “นี่แล” เป็น “นี่แหละ”, “เหลือเกิน” กลายเป็น “อย่างที่สุด”) ในการเปิดเทปพระสุรเสียงที่เวทีพันธมิตร ประโยคสุดท้ายของบท “ภิกษุทั้งหลาย ! ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่นแม้น้อย อันบัณฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร” ถูกปิดเสียงไปก่อน เมื่อทรงอ่านถึงคำว่า “ขึ้นชื่อว่า” เท่านั้น เข้าใจว่าคงบังเอิญ (ดูช่วงเวลาของคลิปวีดีโอ ที่อ้างอิง ในเชิงอรรถที่ 4) ในเทปอ่านงานนี้ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ บทที่ 4 “มหามิตร” จะอยู่ในช่วงหลังของตอนที่ 2 ต่อเนื่องกับช่วงแรกของ ตอนที่ 3

(8) คลิปวีดีโอการปราศัยของสนธิที่รวมการเปิดเทปพระสุรเสียงอ่าน “ความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย” สามารถดาวน์โหลดได้จากที่นี่ ส่วนที่เป็นพระสุรเสียงอยู่ระหว่างนาทีที่ 5:27 ถึง 9:02 ตัวบทข้างล่างนี้ ผมนำมาจากเว็บไซต์ในเชิงอรรถที่ 6 การขีดเส้นใต้เน้นคำเป็นของผม

(9) คำนูญอธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทก่อนสุดท้ายของหนังสือ (ไม่นับภาคผนวก) คือ บทที่ 24 “เสื้อสีเหลือง ผ้าพันคอสีฟ้า” ข้อความที่ยกมาข้างล่างอยู่ที่หน้า 278-279 และ 281 ข้อความตัวหนาเป็นการเน้นคำของคำนูญเอง การขีดเส้นใต้เป็นของผม

(10) การขีดเส้นใต้เน้นคำของผม เทปเสียงรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ตอน สามารถดาวน์โหลดได้จาก (ตอนที่ 1) และ (ตอนที่ 2) ส่วนที่ยกมาอ้างนี้อยู่ในตอนที่ 2 ระหว่างนาทีที่ 20:34 ถึง 22:33 มีผู้นำคลิปวีดีโอการพูดที่สหรัฐของสนธิเฉพาะตอนที่มีข้อความที่อ้างนี้ มาโพสต์ที่เว็บไซต์ YouTube.com ที่นี่

(11) การขีดเส้นใต้เน้นคำของผม เทปเสียงการปราศรัยของสนธิครั้งนี้ สามารถดาวน์โหลด ได้จากที่นี่ ข้อความที่อ้างนี้ อยู่ระหว่างนาทีที่ 2:48 ถึง 4:09

(12) ข่าวสด 16 พฤศจิกายน 2549

(13) ดูประวัติเชอร์เชิลจากเว็บไซต์ “หอจดหมายเหตุเชอร์ชิล” (Churchill Archive) ที่เป็นทางการ ที่นี่ เขาได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ของเขต Epping ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Essex ตลอดช่วง 1924 ถึง 1945 (ซึ่งครอบคลุมช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรียามสงคราม ระหว่าง 1940 ถึง 1945) หลังจากนั้น ก็เป็น สส.เขต Woodford จากปี 1945 ถึง 1964 (เรียกได้ว่าจนถึงแก่กรรม เขาตายเมื่อ 24 มกราคม 1965) ช่วงเป็น สส.เขต Woodford นี้ เขาได้เป็น นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ระหว่าง 1950-1955

(14) ดูภาพถ่ายจดหมายราชเลขาธิการ เรื่อง “การแอบอ้างข้อความว่าเป็นพระบรมราโชวาทเผยแพร่ในเว็บไซต์” ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2548 ได้ที่นี่

Friday, November 16, 2007

"เราสู้" (เชิงอรรถ 8 - 15)



(8) หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสนี้แล้ว, วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งมีสาระไม่แตกต่างกัน เพียงแต่สั้นกว่ามาก (ตามพระราชประเพณี): “คนไทยมีชาติมีประเทศอันตั้งมั่นโดยอิสระและเสรีมาช้านาน…แต่ในปัจจุบันนี้ มีสภาวการณ์หลายอย่างทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นเหตุบีบคั้นคุกคามความมั่นคงปลอดภัยและอิสรภาพของเรามากขึ้นทุกวัน จำเป็นที่ทุกคนจะต้องต่อสู้ป้องกัน เพื่อรักษาชาติประเทศและความเป็นไทยไว้มิให้เสื่อมสลาย ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ทุกฝ่ายยืนหยัดขึ้นต้านทานวิกฤตการณ์ทั้งนั้น”

(9) ด้วยการพาดหัวตัวโต 3 บรรทัด: เทิดพระเกียรติ ร.9 'จอมราชัน' ทุกสารทิศถวายพระพร, ตามด้วยหัวรองว่า “เผยพระราชกรณียกิจสำคัญ เสด็จทุกแห่งที่ประชาชนมีภัย” ที่เหลือของหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์. ประชาธิปไตย วันที่ 5 ธันวาคม 2518 เป็นอีกฉบับที่ชวนให้แปลกใจ เพราะไม่มีข่าวพระราชดำรัสวันที่ 4 เลย ทั้งๆที่โดยปกติเป็นหนังสือพิมพ์ประเภท broadsheet เน้นข่าวการเมืองแบบซีเรียสจริงจัง ส่วน สยามรัฐ งดตีพิมพ์ในวันนั้น

(10) ในหนังสือ ธ สถิต, หน้า 333 มีการเล่า “เกร็ด” การพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “เราสู้” ว่าทรง “เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย…หยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น” เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดขึ้นในวันปีใหม่ 2517 พอดี โดยกล่าวว่า “เกร็ด” นี้มาจากคำบอกเล่าของ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขณะเดียวกัน ก็กล่าวว่า “ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเสร็จใหม่ๆ ได้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียงและโปรดเกล้าให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงก่อน ภายหลังจากที่วง อ.ส.วันศุกร์บรรเลงแล้ว ได้ทรงนำกลับไปแก้ไขและเรียบเรียงขึ้นใหม่ก่อนจะพระราชทานออกมาใหม่ เพลงรุ่นหลังๆนี้มีพระราชประสงค์ให้นักดนตรีทุกคนมีส่วนเข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขทำนอง มีพระราชดำรัสว่า การแต่งแบบนี้เรียกว่า ‘การแต่งแบบสหกรณ์’…” ความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างหนังสือ 2 เล่ม อาจสรุปได้ดังนี้

ธ สถิต: พระราชนิพนธ์บนซองจดหมายแบบฉับพลัน, พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี เรียบเรียง, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์บรรเลงก่อน, ทรงนำกลับไปแก้ไขโดยนำความเห็นของนักดนตรีมาประกอบ แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา

ดนตรี: พระราชนิพนธ์บนซองจดหมายแบบฉับพลันในวันปีใหม่ 2517, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์ที่กำลังบรรเลงอยู่ในวันนั้นที่บางปะอิน บรรเลงก่อน, ทรงนำกลับไปแก้ไข, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง, ทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

(11) เนื้อหาของการ์ดฉบับนี้ คือ กลอนภาษาไทย “นักรบใด ใจมั่น พลันเริงร่า” ซึ่งการ์ดระบุในบรรทัดสุดท้าย ต่อจาก “ก.ส. 9 ปรุ/ส่ง” ว่า “(จากหนังสือ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”)” อาจจะสงสัยว่าหนังสือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2536 การ์ด ส.ค.ส. ที่มีกลอนนี้จะเป็นการ์ด ส.ค.ส. ปี 2521 ได้อย่างไร? ความจริง ทรงเริ่มแปล A Man Called Intrepid ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2520 (เฉลิมพระเกียรติ, หน้า 119; ทรงแปลเสร็จวันที่ 25 มีนาคม 2523) เนื่องจากกลอนของ William Wordsworth นี้อยู่ในหน้าแรกของหนังสือ จึงเป็นไปได้ว่าจะทรงเริ่มแปลเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น การที่กลอนแปลนี้ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นในเดือนธันวาคมปีนั้น นับว่าสอดคล้องในเรื่องเวลาอย่างยิ่ง

(12) ดูพระราชดำรัสนี้ได้ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท…ปีพุทธศักราช 2518, หน้า 365-366. ทรงรับสั่งตอนหนึ่งว่า “ประเทศของเราต้องประสบความวิกฤตด้านต่างๆติดต่อกันมาเป็นเวลานานพอสมควร ทำให้เกิดหวั่นวิตกกันไปว่าจะต้องประสบเคราะห์กรรมและอันตรายต่างๆอย่างร้ายแรง ความจริง…สถานการณ์ในบ้านเมืองของเรานั้นนับว่ายังดีอยู่…ไม่ควรที่เราจะตื่นตกใจจนเกินไป” บ้านเมือง 1 มกราคม 2519 พาดหัวตัวโตว่า: ในหลวงพระราชทานพรปีใหม่ วิกฤตต่างๆยังดีอยู่ เชื่อชาติไทยไปรอด; ไทยรัฐ: พระราชดำรัสทรงอำนวยพรปวงชน ทรงเตือน ‘อย่าตื่นตระหนก’; เดลินิวส์: พระพรวันปีใหม่ ‘บ้านเมืองเรายังดีอยู่ ไม่ควรตื่นตกใจ’; ดาวสยาม: พระราชดำรัสวันปีใหม่ ‘อย่าตกใจ’ บ้านเมืองเรายังดีอยู่; ประชาธิปไตย: พระราชดำรัสในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทรงให้ชาวไทยหนักแน่น-สามัคคี; Bangkok Post: King calls for unity; The Nation: The King’s Message PANIC WILL ONLY LEAD TO CHAOS.

(13) เมื่อผมตีพิมพ์บทความนี้ครั้งแรกในปี 2544 ผมไม่ทราบว่าทรงใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขทำนองนานเพียงใด ทราบแต่ว่า มีการนำเพลง “เราสู้” ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังการเมืองฝ่ายขวาในขณะนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2519 หลักฐานแรกสุดที่ผมมีในตอนนั้น คือการอ้างถึงบางตอนของเพลงนี้ โดยหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม เพื่อตอบโต้นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ในต้นเดือนกรกฎาคม “แม้ว่าโดยส่วนตัว ผมคิดว่า ‘เราสู้’ น่าจะเป็นที่รู้จักกันแล้วก่อนหน้านั้นเล็กน้อย” (ผมเขียนเช่นนี้ในปี 2544 – กรณีดาวสยามกับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ ดูหัวข้อถัดไปข้างล่าง) หลังจากบทความของผมตีพิมพ์ได้ไม่นาน ผมจึงทราบว่าตัวเองเลินเล่อตกหล่นด้านหลักฐานข้อมูลอย่างชนิดน่าอับอายมาก (ในฐานะนักประวัติศาสตร์อาชีพ) ในงานวิจัยเรื่อง “พิทักษ์โลกเสรี: คำอธิบายและการจัดการความจริงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีสงครามเวียดนาม” ของ พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ซึ่งผมอ้างถึงก่อนหน้านี้ (เชิงอรรถที่ 7 ข้างต้น) มีการอ้างอิงรายงานข่าวเรื่องเพลง “เราสู้” ใน ดาวสยาม ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ที่เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าในหลวงใช้เวลาในการปรับปรุงทำนองนานเท่าใดและมีการเผยแพร่เพลงนี้ต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อไร (อยู่ในหน้า 116-117 ของงานวิจัยฉบับร่าง) ด้วยอานิสงค์ของงานวิจัยของพวงทองดังกล่าว ผมจึงได้ตามไปอ่าน ดาวสยาม ฉบับนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเพลง “เราสู้” เพิ่มเติม ดังที่บรรยายข้างล่าง

(14) กรณี รต. สิรินธร กีรติบุตร รน., “เพลงปลุกใจไทย (พ.ศ. 2475-2525): การวิเคราะห์ทางการเมือง.” วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2528, หน้า 117 ที่ระบุว่า เพลงนี้เผยแพร่ในช่วงปี 2520-2525 นั้น ผิดอย่างแน่นอน

(15) ดาวสยาม 11 กรกฎาคม 2519, หน้า 4 คอลัมน์ “บุคคลในข่าว” ของ “กะแช่”: “เราสู้! ถึงใครจะขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น! สู้มันที่นี่!! สู้มันตรงนี้!!!…” และหน้า 5 คำบรรยายใต้ภาพการชุมนุมหน้าสำนักงาน ดาวสยาม: “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ฯลฯ”

"เราสู้" (เชิงอรรถ 1 - 7)



(1) สิบปีต่อมา ในวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ทรงมีพระราชดำรัสถึงความเป็นมาของงานนี้อีกครั้งดังนี้: “แต่ก่อนนี้ในงานวันเกิดก็มีการออกมหาสมาคมอย่างเดียว คือเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่ในราชการได้มาให้พรที่พระที่นั่งอมรินทร์ ต่อมาก็มีการมาให้พรที่สวนจิตรลดานี้ในวันที่ 5 หลังจากมหาสมาคม ซึ่งมีผู้แทนของเอกชน ของโรงเรียน ของสมาคม และกลุ่มต่างๆได้มาให้พรอีกคำรบหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้น ก็ได้มีการให้พรนอกจากที่มหาสมาคมและหลังจากมหาสมาคม ก็มีการให้พรของกลุ่มศาสนาต่างๆที่มีอยู่ในประเทศ และกลุ่มเกี่ยวข้องกับการศึกษา คือของผู้ที่กำลังเรียนตั้งแต่ชั้นโรงเรียน ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนกระทั่งถึงขั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย แยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่งในวันที่ 4 เช่นในวันนี้ ต่อมาเห็นว่าการที่ได้พบในรายการที่เรียกว่าอนุสมาคม 2 รายการก็ทำให้ต้องใช้เวลามาก เพราะว่าในวันที่ 5 ธันวาคมหลังจากมหาสมาคมก็ทำให้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และจะต้องไปงานในตอนบ่ายอีก จึงรวมหมดมาวันที่ 4 เช่นวันนี้ มีทั้งข้าราชการ ทั้งสมาชิกสโมสร สมาคม โรงเรียน สมาชิก คณะศาสนาต่างๆและอื่นๆมาในวันที่ 4 นี้ แต่ก็ยังมีคณะต่างๆที่ได้พบกันที่บนตำหนักสวนจิตรลดานี้ มาทีหลังก็เลยรวมหมด เพราะว่าใครก็ตามที่มาให้พรก็พร้อมกันมา จนกระทั่งมาเป็นการให้พรเช่นที่เห็นกันวันนี้”

(2) ในสมัยสฤษดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสที่มีลักษณะการเมือง สนับสนุนรัฐบาล และที่สำคัญคือแอนตี้คอมมิวนิสม์หลายครั้ง เช่น ในโอกาสปีใหม่ 2505:
สถานการณ์ภายในของชาติบ้านเมืองนั้นโดยทั่วไปก็กล่าวได้ว่าได้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆในขวบปีมาแล้ว แม้จะมีอุทกภัยอัคคีภัยในท้องที่บางแห่ง ก่อความเสียหายและความทุกข์ยากขึ้นบ้าง แต่ภัยเหล่านี้ก็ย่อมได้รับการควบคุมให้อยู่ในขอบเขตและบรรเทาลง ถ้าท่านทั้งหลายและเจ้าหน้าที่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันระมัดระวังป้องกันให้มาก อนึ่งรัฐบาลก็พยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศชาติ และลงมือปฏิบัติตามโครงการต่างๆเพื่อการนี้อยู่แล้ว ถ้าท่านทั้งหลายให้ความร่วมมือในการนี้แก่ทางราชการด้วย ก็จะช่วยให้งานเหล่านี้สำเร็จเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ

แม้ว่าในขณะนี้ประเทศต่างๆกำลังพยายามที่จะทำความตกลงในข้อขัดแย้งระหว่างกัน ความตึงเครียดหาได้คลี่คลายลงไม่ กลับทวีขึ้นเป็นลำดับไป เฉพาะในด้านอาเซียอาคเนย์ เหตุการณ์ในอาณาเขตใกล้เคียงมีลักษณะทำให้น่าวิตก จะวางใจเสียไม่ได้ เราจำต้องใช้ความระมัดระวังสอดส่องอย่าให้เหตุการณ์ซึ่งเป็นภัยเช่นนั้น เข้ามาคุกคามประเทศเรา ภัยดังกล่าวนี้เป็นภัยที่ร้ายแรงน่ากลัว ถ้าปราศจากการตรวจตราเพ่งเล็งอย่างกวดขันแล้ว อาจแทรกซึมเข้ามาทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว คอยบั่นทอนความสามัคคีกลมเกลียว และความเป็นปึกแผ่นของชาติ ปลุกปั่นทำลายความศรัทธาเชื่อถือในสิ่งที่เราทั้งหลายยึดมั่น ที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษของเรา และในกรณีเช่นนี้ ทุกๆคนอาจตกเป็นเป้าหมายในการมุ่งทำลายจากภัยนั้นได้ง่าย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือทำลายตัวเราเองและประเทศชาติที่รักของเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้
ดู พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานเนื่องในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่พุทธศักราช 2498-2508, หน้า 126-127; และดูพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตชายแดนภาคอีสานวันที่ 12 สิงหาคม 2505 และพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก วปอ. วันที่ 19 ตุลาคม 2508 ใน เล่มเดียวกัน, หน้า 138-139 และ 212-213 ผมขอขอบคุณคุณประจักษ์ ก้องกีรติที่ดึงให้ผมสนใจการมีอยู่ของพระราชดำรัสเหล่านี้.

สฤษดิ์สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองด้วยการออกมารณรงค์ “ปราบอัคคีภัย” ถึงขั้นไปคุมการดับเพลิงเองทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งที่กำลังเจ็บป่วย, สอบสวนหาผู้ลอบวางเพลิงเอง และที่ “ดัง” มากคือสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาซึ่งล้วนเป็นคนจีน บางครั้ง ณ จุดที่เกิดเพลิงไหม้. ดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 253-257.

(3) ข้อความนี้ไม่ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสที่ตีพิมพ์ใน ประมวลพระราชดำรัส..ปีพุทธศักราช 2518 แต่กลับปรากฏในพระราชดำรัสฉบับที่ “ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงขึ้น” ด้วยพระองค์เอง “ตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้” และโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เมื่อปี 2541 (พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษซึ่งทรงแปลเองเช่นกัน) ผมไม่คิดว่าข้อความ “หยอก” นี้ทรงเพิ่มเติมในปี 2541 โดยที่ในปี 2518 ไม่ได้ทรงรับสั่งไว้ เพราะโดยทั่วไปการเรียบเรียงใหม่เป็นการ “ตัด” มากกว่า “เพิ่ม” ส่วนใหญ่ตัดหรือเปลี่ยนคำที่เกิดจากภาษาพูด, ประโยคซ้ำ หรือไม่ครบรูปประโยค หรือไม่ชัดเจน (ดูเชิงอรรถถัดไปเป็นตัวอย่าง) แต่บางกรณีเข้าใจว่าเพื่อให้ดู “รุนแรง” น้อยลง (ดูเชิงอรรถที่ 5 และ 6 เป็นตัวอย่าง) ในกรณีนี้ผมอยากจะเดาว่า เพราะพระสุรเสียงที่บันทึกไว้มีข้อความนี้จริงๆ แต่ไม่มีใน ประมวลพระราชดำรัส จึงทรงเพิ่มเติมเข้าไป

(4) ในฉบับที่ทรงเรียบเรียงใหม่เมื่อปี 2541 ประโยคนี้อ่านว่า “เคยเห็นแผนที่ที่เขาเขียนไว้ว่าเมืองไทยนี้เป็น 'ตายแลนด์' เห็นมานานแล้ว”

(5) เมื่อทรงเรียบเรียงพระราชดำรัสนี้ใหม่ในปี 2541 ทรงตัด “ชนชั้นต่างๆแบ่งกัน” ออก

(6) เมื่อทรงเรียบเรียงพระราชดำรัสนี้ใหม่ในปี 2541 ทรงเปลี่ยนเป็น “ฟังแล้วก็รำคาญ”

(7) ในงานวิจัยที่เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ของพวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ เรื่อง “พิทักษ์โลกเสรี: คำอธิบายและการจัดการความจริงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีสงครามเวียดนาม” ซึ่งดร.พวงทองได้กรุณาให้ผมได้อ่านฉบับร่าง (กันยายน 2543) ดร.พวงทองได้ท้วงติงการตีความของผมตอนนี้ ดังนี้ “ผู้เขียนเห็นด้วยกับการตีความของสมศักดิ์เกือบทั้งหมด ยกเว้นตรงประโยคที่ว่า ‘ข้าวน่ะข้าวไทย ไปตอกตราฮานอยก็มีเหมือนกัน’ ซึ่งเมื่อดูตามรูปประโยคแล้ว ข้าวไทยที่ไปตอกตราฮานอยนั้น ควรจะหมายถึง ‘คนไทยที่ถูกทำให้เป็นเวียดนาม’ ....” โดยพื้นฐานผมไม่คิดว่า พวงทองกับผมขัดกันในเรื่องการตีความสาระ (message) ของในหลวง ซึ่งก็คือ หากประชาชนไทยปลดแอกจากชนชั้นนำเดิมของไทยตามคำชักชวนของฝ่ายซ้ายแล้ว ให้ระวังให้ดี คอมมิวนิสต์ญวนจะมาเป็นใหญ่แทน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า เฉพาะประเด็นเรื่อง “ข้าวไทยที่ไปตอกตราฮานอย” นั้น เราไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะจุดมากเกินไปนัก จนหลุดออกจากความของพระราชดำรัสในส่วนนี้ทั้งย่อหน้าไป (จากจุดเรื่อง “ข้าว” นี้ พวงทองกล่าวเลยไปถึงกรณีที่เขมรแดงโจมตีพวกที่ขัดแย้งกับตนที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศว่า “กายเป็นเขมร ใจเป็นญวน” และเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่ว่า “คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน...” ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามาจากความคิดแบบเดียวกัน ถ้าเราพูดถึงเฉพาะอุปลักษณ์ [metaphor] ที่กำลังทรงใช้เรื่อง “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” แต่ประเด็นของผมคือ ไม่ควรไปเน้นเฉพาะจุดนี้มากเกินไป) นี่เป็นพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในลักษณะ “สด” คือไม่มีการร่างมาก่อน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทรงใช้อุปลักษณ์โดยตลอด เราต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้ทรงใช้คำและประโยคอย่างคงเส้นคงวา ชัดเจนครบถ้วน เป็นตรรกะ (นี่เป็นลักษณะของการ “พูดสด” ทั่วไป) ถ้าเรายอมรับข้อนี้แล้ว ผมคิดว่า เราสามารถพูดได้ว่า คำว่า “ฮานอย” นี้ ตั้งพระทัยจะให้หมายถึงทั้ง “ข้าว” และ “ฟันปลอม” และ – ภายใต้กรอบของ metaphor ที่ทรงใช้ – ทรงต้องการให้หมายถึง “ฟันปลอม” มากกว่าด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าจะให้ทรง “คงเส้นคงวาในอุปลักษณ์ที่ใช้” (metaphorically consistent) ในหลวงควรที่จะทรงใช้คำว่า “ฟันปลอมตอกตราฮานอย” มากกว่า “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า แม้จะไม่ทรง “คงเส้นคงวา” ในอุปลักษณ์ที่ใช้ในที่นี้ แต่ก็ทรงกล่าวไว้ชัดเจนเพียงพอ คือ “จะเอาหรือ ฟันปลอมที่มาจากที่อื่นน่ะ”, “ฟันปลอม จะเอามาจากไหน”, “จะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใด มาใส่ ให้กระทบลิ้นเรา” ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า พูดในเชิงอุปลักษณ์แล้ว (metaphorically speaking) ประเด็นเรื่อง “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” ในที่นี้ ไม่สำคัญเท่ากับ – หรือพูดให้ถูกคือ เป็นเรื่องเดียวกับ – “ฟันปลอม...จากประเทศใด”

Sunday, November 04, 2007

ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 : เชิงอรรถ



(1) ดู บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ๒๕๔๖, หน้า ๑๒๘-๑๓๖ โดยเฉพาะหน้า ๑๓๑ : “ข้อที่ว่าอุปัทวเหตุ มีเหตุผลว่า ประกาแรก ผู้เล่นปืนอาจประมาท โดยขึ้นลำกล้องไว้ แล้วเอามาเล่น อาจลั่นถูกเอาได้ และตามหลักธรรมดาของคน อาจเอามาเล่นดูก็ได้ ส่วนการบรรจุลำกล้อง คนอื่นอาจบรรจุไว้ก่อนโดยเจตนาร้ายก็ได้ โดยอ่านพบตามตำราและเคยตรวจพบบ้างเหมือนกัน” (ผมเห็นว่าคำ “คนอื่นอาจบรรจุไว้ก่อน” ในตอนท้าย ไม่ได้หมายถึง “อุปัทวเหตุโดยผู้อื่น”)

(2) บันทึกคำให้การของ นพ.ฝน อยู่ใน ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ ๒๘ และ ๒๙ (สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๗๔ เชิงอรรถที่ ๓๐) ด้วยความบังเอิญอย่างประหลาด ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ ๒๓-๓๐ หายไปจากหอสมุดแห่งชาติ (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๒๗๘-๒๗๙)

เนื่องจากสรรใจและวิมลพรรณอ้างผิดเรื่อง นพ.เต่อ (ดูเชิงอรรถที่แล้ว) จึงยากจะเชื่อได้เต็มที่ในกรณี นพ.ฝน แต่น่าสังเกตว่า สรรใจและวิมลพรรณโจมตี นพ.ฝนมากเป็นพิเศษ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นพ.ฝน ได้พูดอะไรเป็นนัยๆ เรื่อง “อุปัทวเหตุโดยผู้อื่น” จริงๆ? หลังจากประโยค “นายแพทย์ทั้งสองได้ยกสาเหตุให้คิดกันได้อีกปัญหาหนึ่ง คือ อุปัทวเหตุเกิดจากผู้อื่น โดยมีใครเอาปืนมาเล่นข้างพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วปืนลั่นขึ้น” สรรใจและวิมลพรรณ ได้เขียนต่อทันทีว่า
นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว นั้น จะมีความจริงใจต่อเหตุผลที่ตนได้ยกขึ้นมาเพียงใดไม่อาจทราบได้ แต่หลังจากให้การที่ศาลกลางเมืองแล้ว นายแพทย์ฝนก็เลิกไปสอนวิชาจิตเวชศาสตร์แก่นักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ต้องให้นักศึกษาไปเรียนที่โครงพยาบาลโรคจิตสมเด็จเจ้าพระยา และไม่ไปโรงพยาบาลศิริราชอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รุ่นเก่าเล่ากันต่อๆมาว่า วันหนึ่งกลังกรณีสวรรคต นายแพทย์ฝนไปที่โรงพยาบาลศิริราช ได้มีเสียงตะโกนบอกกันต่อๆไปว่า “หมออุบัติเหตุมาแล้ว”

(3) สรรใจและวิมลพรรณกล่าวหาว่า บันทึกคำให้การตอนนี้เป็นการทำขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาลปรีดี (กรมโฆษณาการ) เพื่อทำให้ฉลาดฟังดูไม่แน่ใจกว่าที่เป็นจริง ทั้งๆทีนายฉลาดกล่าวว่า “แลเห็นพระอนุชาเสด็จพระราชดำเนินไปทางเฉลียงหลัง พยานเข้าใจว่าคงเสด็จกลับห้องของพระองค์” คือ “แลเห็น” เสด็จไปจากหน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์จริงๆ ไม่ใช่เพียง “เข้าใจว่าท่านจะเสด็จไปทางเฉลียงด้านหลัง…” อย่างในข่าวโฆษณาการ สรรใจและวิมลพรรณอ้างว่าฉลาดใช้คำ “แลเห็น” จากรายงานข่าวของศรีกรุง ที่ประหลาดคือ ทำไมสรรใจและวิมลพรรณจะอ้างได้ว่า ศรีกรุง รายงานได้ถูกต้องกว่าข่าวโฆษณาการเล่า? ยิ่งถ้าเราดูประโยคก่อนหน้านั้น ที่มีคำอย่าง “พยานมองไม่เห็น”, “ดูเหมือน” และ “แต่เท่าที่พยานจำได้ไม่แน่นัก” (ที่ผมขีดเส้นใต้ไว้) คำพวกนี้ ไม่มีทางที่กรมโฆษณาการจะคิดขึ้นมาเองทั้งหมดกระมัง? ในความเป็นจริง บันทึกคำให้การทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในข่าวโฆษณาการ น่าจะมาจากคณะกรรมการศาลกลางเมืองเอง ซึ่งมีเจ้านายเป็นกรรมการหลายคน และมีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ

(4) เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของตำแหน่งที่อยู่ของพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบัน ขณะเกิดการสวรรคต ดูการแสดงให้เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคำให้การของบุคคลต่างๆในเรื่องนี้ โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ใน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต, ๒๕๑๗, หน้า ๑๒๗-๑๓๒ และ ๑๔๘-๑๕๔

(5) ขอเตือนความจำว่า แม้ในกรณีนักวิชาการอย่างกอบเกื้อ ดังที่ผมได้อ้างไว้ใน ตอนที่ 1 ก็ยังเขียนว่ากรณีสวรรคตมี 3 สาเหตุนี้ นับเป็นตัวอย่างอันน่าเศร้าของการพูด “ตามกระแส” อย่างไม่คิด ของคนระดับนักวิชาการที่อ้างว่าศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์: “Since the King’s death, there have been three main hypotheses as to its cause: the first is regicide, i.e. King Ananda Mahidol was murdered by unknown person(s), most probably Pridi’s supporters, either with or without his actual knowledge; the second is suicide….; and the third is accident, i.e. as explained in the early official version.”

(6) ผมสรุปจากรายงานของคณะแพทย์ตามที่ปรากฏอย่างเป็นทางการใน “แถลงการณ์กรมตำรวจเรื่องรายงานของแพทย์เกี่ยวกับพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ตีพิมพ์ใน สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๔๔-๔๙ และ บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๕๗-๖๕

นพ.สุด แสงวิเชียร หนึ่งในคณะแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ (บิดาของสรรใจ แสงวิเขียร) ได้ตีพิมพ์บันทึกส่วนตัวที่เขาทำขึ้นเองเกี่ยวกับประสบการณ์การเข้าร่วมงานกับคณะแพทย์ในครั้งนั้น เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต (บี.พี.พี.เอส, 2529) ส่วนที่เล่าการลงความเห็นสาเหตุการสวรรคตของแพทย์แต่ละคน อยู่ที่หน้า 20-29 มีความเห็นแพทย์บางคนที่ นพ.สุดบันทึกไว้ต่างจากบันทึกทางการ แต่ก็ไม่มีผลต่อภาพรวม (เช่น นพ.นิตย์ ตามบันทึกทางการกล่าวว่า “เป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง ซึ่งอาจเป็นได้เท่ากันทั้งสองประการ” แต่ นพ.สุดบันทึกไว้ว่า “ให้ตามลำดับ ปลงพระชนม์เอง ถูกปลงพระชนม์” โดยส่วนตัวผมคิดว่าบันทึกทางการน่าจะถูกต้องกว่า เพราะมีการอ่านทวนให้แพทย์แต่ละคนฟังก่อนลงชื่อรับรอง) ตามการเปิดเผยของนพ.สุด แพทย์บริติช 3 คนที่ขอถอนความเห็นไป คนหนึ่งเห็นว่า “อุบัติเหตุหรือถูกลอบปลงพระชนม์” อีก 2 คนเห็นว่า “ถูกลอบปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง อุบัติเหตุ” ตามลำดับ ตัว นพ.สุดเอง เปลี่ยนใจไม่นานหลังจากนั้น จากที่ลงความเห็นว่า “ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่าๆกัน” กลายเป็น “ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากยิ่งกว่าปลงพระชนม์เอง”

(7) แน่นอน สรรใจและวิมลพรรณ ได้อ้าง “หลักฐาน” อื่น นอกเหนือจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปอย่างเจาะจงว่า “ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ” (ลอบปลงพระชนม์) มากกว่า “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น คือ อ้างทฤษฎีที่ว่าปืนของกลางซึ่งเป็นปืนของในหลวงอานันท์ที่พบข้างพระบรมศพไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิงจริงๆ, ปลอกกระสุนที่นายชิตเก็บได้ก็ไม่ใช่ปลอกของกระสุนที่ปลงพระชนม์ และแม้แต่หัวกระสุนที่ฝังอยู่ในฟูกใต้พระบรมศพ ก็ไม่ใช่หัวกระสุนที่ผ่านพระเศียรจริง แสดงว่า ต้องมีคนร้ายวางแผนสร้างฉากให้ดูเหมือนว่าในหลวงอานันท์ฆ่าตัวตาย โดยคนร้ายใช้ปืนที่เอามาเองยิงในหลวงอานันท์ แต่หยิบเอาปืนของในหลวงอานันท์ขึ้นมาวางไว้ และเตรียมทั้งปลอกกระสุนและหัวกระสุนเก่าที่เคยยิงจากปืนของในหลวงอานันท์กระบอกนั้นมาเปลี่ยนแทนปลอกและหัวกระสุนสังหารจริง (กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๒๖-๑๓๐ “หลักฐาน” เรื่องปืน-ปลอกกระสุน-หัวกระสุน ถูกนำมาเปลี่ยนนี้ อัยการและศาลใช้ในการฟ้องและตัดสินเอาโทษจำเลยคดีสวรรคต)

แต่ทฤษฎีเรื่องปืนของในหลวงอานันท์ที่พบข้างพระบรมศพไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิง ด้วยการอ้างการทดลองทางเคมีว่าปืนนั้นใช้ยิงครั้งสุดท้ายหลายวันก่อนการสวรรคต รวมทั้งเรื่องหัวกระสุนที่ขุดเอามาจากฟูก บู้บี้ไม่พอ จึงต้องไม่ใช่หัวกระสุนที่ผ่านพระเศียรนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีที่หนักแน่นปฏิเสธไม่ได้แต่อย่างใด ผมคิดว่า ในส่วนที่เป็นปัญหาทางเทคนิคเคมี-ฟิสิกส์ (ปฏิกิริยาไนไตร๊ท์, สนิม, ระดับความบู้บี้ ฯลฯ) ใครที่รู้จักใช้เหตุใช้ผลเพียงเล็กน้อย และไม่หมกมุ่นกับความเชื่อว่าการสวรรคตเป็นส่วนหนี่งของแผนการสร้างระบอบสาธารณรัฐ (ดูตัวอย่าง สรรใจและวิมลพรรณ, หน้า ๑๘๙) ควรต้องยอมรับการอภิปรายของหลวงปริพนธ์พจนพิสูทธิ์ ใน “ความเห็นแย้ง” คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสวรรคต ที่โต้แย้งให้เห็นอย่างเฉียบขาดว่า ผลการทดลองทางเคมีไม่สามารถนำมาอ้างว่าปืนของในหลวงไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิงในวันสวรรคต (ดูตัวบท “ความเห็นแย้ง” ที่รู้จักกันดี ได้ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์), ๒๕๔๔ โดยเฉพาะที่หน้า ๓๖๖-๓๗๖, ๓๘๑-๓๘๓) ในส่วนที่ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคโดยตรง ทฤษฎีเรื่องสับเปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุนของพวกนิยมเจ้าจะเป็นจริงได้ หมายความว่า “คนร้าย” จะต้องมีทั้งเวลา โอกาส และความบ้าบิ่น ที่จะหาปลอกกระสุนจริงพบและเก็บไป และขุดเอาหัวกระสุนจริงที่ฝังลึก 3 นิ้วในฟูก แล้วยัดหัวกระสุนเก่าเข้าไปแทน ต่อให้มีนายชิตหรือบุศย์ร่วมมือด้วย ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ซึ่งชวนให้ถามว่า ถ้าจะต้องทำอะไรยุ่งยากถึงขนาดนั้น เพื่อสร้างฉากว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ทำไมไม่ใช้ปืนของในหลวงอานันท์ที่หยิบมาวางหลอกนั้น ยิงเสียเลย จะได้เหมือนการฆ่าตัวตายจริงๆ และไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเปลี่ยนปลอกกระสุนและหัวกระสุนด้วย? ในเมื่อได้รับความร่วมมือจากชิตและบุศย์ จะไปยากอะไรถ้าจะใช้ปืนในหลวงอานันท์ยิง? (ดูเพิ่มเติม การโต้แย้ง “ทฤษฎี” เปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุน ใน Rayne Kruger, The Devil’s Discus, p.202-4 ครูเกอร์ตั้งคำถามว่า คนร้ายจะวางแผนล่วงหน้าได้อย่างไรว่า จะหาปลอกกระสุนจริงที่กระเด็นไปได้ทันที หรือหัวกระสุนจริงต้องทะลุพระเศียร ไปรอให้เปลี่ยนข้างนอก หากยิงแล้วหัวกระสุนจริงเกิดฝังในพระเศียรล่ะ?)

สรุปแล้ว ทฤษฎีเรื่องสับเปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุน ที่สรรใจและวิมลพรรณอ้างเพื่อเสนอว่าการสวรรคตต้องเกิดจากคนอื่นยิงโดยตั้งใจ คือ ลอบปลงพระชนม์ เท่านั้น เป็นทฤษฎีที่ฟังไม่ขึ้น “หลักฐาน” ที่พวกเขาพอจะอ้างอย่างมีน้ำหนักได้จริงๆ ก็คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นการถูกผู้อื่นยิงเท่านั้น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งบาดแผล วิถีกระสุน คาดาเวอริคสปัสซั่ม

ใครที่อ่านหนังสือของสรรใจและวิมลพรรณอย่างใช้ความคิด ไม่หลงติดอยู่กับการอ้างเชิงอรรถเต็มไปหมดแบบหลอกตา ก็ควรจะเห็นได้ว่า พวกเขาให้ภาพที่ขัดกันเองอย่างเหลือเชื่อเพียงใด (แต่ดูความเห็นของกอบเกื้อที่ผมอ้างใน ตอนที่ 1 ที่เห็นว่าหนังสือสรรใจและวิมลพรรณมีลักษณะ balanced view หรือดู ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 98-99 ที่ผมชี้ให้เห็นว่า เมื่อหนังสือนี้ออกใหม่ๆในปี 2517 มีนักวิชาการรุ่นใหม่ 2 คนเห็นว่า “ทำได้น่าเชื่อถือกว่า [หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล] ด้วยการเสนอหลักฐานตามแนววิชาการ”) ด้านหนึ่ง พวกเขาอ้างว่า คนร้ายได้ “วางแผนแยบยลมาก” (ลงแรงทำอะไรยุ่งยากซับซ้อนเพื่อสร้างฉากฆ่าตัวตาย) “คงจะวางแผนไว้อย่างรอบคอบ” แต่อีกด้านหนี่ง คนร้ายที่ว่า กลับทำความผิดพลาดแบบง่ายๆคือ “ไม่ได้เฉลียวใจว่า...ทรงถนัดขวา” และ “ไม่ได้นึกว่าการยิงจากหัวพระแท่นนั้นวิถีกระสุนย่อมเฉียงลงล่าง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ในคนที่ยิงตัวตาย” โธ่! ไหนๆวางแผนและเตรียมการยุ่งยากซับซ้อนขนาดนั้น ทำไมแค่การยิงให้เหมือนการฆ่าตัวตายกว่านั้น ก็คิดไม่ออก? เรื่องถนัดขวา ต่อให้ “ไม่ได้เฉลียวใจ” (ซึ่งเกือบเป็นไปไม่ได้สำหรับคนร้ายที่คิดจะสร้างฉากเรื่องใหญ่โตระดับให้กษัตริย์ฆ่าตัวตาย) แต่ทำไมไม่ยิงให้เหมือนการฆ่าตัวตายกว่านั้น เช่น ยิงใส่กลางหน้าผาก หรือขมับ (ต่อให้เป็นขมับซ้าย ก็ยังเหมือนกว่า) หรือหน้าอกตรงหัวใจ? (ขอให้สังเกตว่า ตัวอย่าง “ความผิดพลาดของคนร้าย” ที่สรรใจและวิมลพรรณกล่าวนี้ – ไม่เฉลียวใจเรื่องถนัดขวาและเรื่องวิถีกระสน – แท้จริง เพียงยืนยันว่าการสวรรตไม่ใช่เกิดจากยิงตัวเอง แต่เกิดจาก “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าต้องเป็นการ “ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ” หรือลอบปลงพระชนม์ นั่นคือ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น” ก็สามารถปรากฏบาดแผลออกมาเหมือนกัน คือ “ยิงจากหัวพระแท่น [ด้านซ้าย]….วิถีกระสุน...เฉียงลงล่าง”)

Saturday, July 21, 2007

แลนดอน (เชิงอรรถ)



(1) โปรดอย่าเข้าใจผิด ผมย่อมทราบดีว่า มีการรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 และมีเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกแบบอนุมานว่าเป็น "รัฐประหาร" ก็ได้ คือ เมื่อ 1 เมษายน 2476 พระยามโนฯปิดสภา (หรือกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2487 ล้มจอมพล) แต่ที่ผมเรียกรัฐประหาร 8 พ.ย. ในทีนี้ว่า เป็น รัฐประหารครั้งแรกสุดของระบอบใหม่ เพื่อจะเน้นความสำคัญอย่างหนึ่งคือ อันที่จริง การรัฐประหารยึดอำนาจเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือคาดคิดกันอยู่ ความจริงคือ การรัฐประหาร 8 พ.ย. เป็นอะไรบางอย่างที่ หากมองจากจุดยืนของผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการ "แตกหัก" กับเจตนารมณ์ของ 2475 เอง ที่ว่า ต้องการให้มีระบอบ "รัฐธรรมนูญ" คือ การปกครองมีกฎหมายสูงสุดกำกับ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งมวลต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำกับนี้ มองจากมุมนี้ กรณีอย่าง 1 เมษายน และแม้กระทั่ง 20 มิถุนายน 2476 สามารถกล่าวว่า เป็น ส่วนหนึ่ง ของ 24 มิถุนายน 2475 เอง คือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเพื่อให้เลิกสมบูรณาญาสิทธิราช และการต่อต้านการปฏิวัตินั้น คือ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลามากกว่าการยึดอำนาจวันเดียว

Friday, October 27, 2006

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 11 - 19)



(11) ตัวบทของพระราชดำรัสนี้ ซึ่งพระราชทานหลังการระเบิดไม่กี่นาทีและสำนักราชเลขาธิการ “เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้” ตีพิมพ์อยู่ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ปีพุทธศักราช 2520, หน้า 224-225 เปรียบเทียบกับที่รายงานใน เดลินิวส์ (เพียงฉบับเดียว) แล้ว ไม่แตกต่างกันนัก

(12) อันที่จริง ควรกล่าวว่า เหตุการณ์ร้ายต่อพระราชวงศ์เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนการระเบิดหน้าที่ประทับ คือประมาณ 20 นาฬิกาของวันที่ 21 กันยายน 2520 ระหว่างที่ขบวนรถพระที่นั่งของในหลวง พระราชินี และพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ กำลังแล่นกลับจากการเสด็จเยี่ยมราษฎรที่ปัตตานี เพื่อไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นราธิวาส มาตามทางสายปัตตานี-นราธิวาส เมื่อถึงทางแยกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ได้มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับโดยพลตำรวจสังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษผู้หนึ่ง มีคนนั่งซ้อนท้าย 2 คน เป็นพลตชด. 1 คนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 1 คน ได้วิ่งฝ่าตำรวจจราจรที่ปิดกั้นทางแยกไว้แล้ว ด้วยความเร็วสูง พุ่งเข้าชนรถพระที่นั่งบริเวณไฟหน้าด้านซ้าย มอเตอร์ไซค์ดังกล่าวล้มลง และเกิดไฟลุก คนขับและคนนั่งมอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บ ขบวนรถพระที่นั่งได้หยุดเพื่อช่วยเหลือนำส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล แล้วเคลื่อนต่อไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ดู เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2520 ซึ่งนอกจากรายงานข้อมูลของเหตุการณ์ข้างต้นตามแถลงการณ์รัฐบาลแล้ว ยังรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดเหตุ ขบวนรถพระที่นั่งได้หยุดลง พระราชินีและเจ้าฟ้าสิรินธรซึ่งประทับในรถอีกคันหนึ่ง และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ซึ่งประทับในรถคันเดียวกับในหลวง “ได้เสด็จฯลงจากรถเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันที ทรงให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯให้น้ำเกลือกับผู้บาดเจ็บ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรฯทรงถือขวดน้ำเกลือด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล รถพระที่นั่งจึงได้เสด็จฯกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์” ถ้ารายงานของ เดลินิวส์ นี้ถูกต้อง แสดงว่าขณะนั้น ทั้ง 3 พระองค์ที่เสด็จลงจากรถมาดูเหตุการณ์ไม่ได้ทรงรู้สึกว่าอยู่ในอันตราย อาจจะทรงเข้าพระทัยในขณะนั้นว่าเป็นอุบัติเหตุ น่าคิดว่า เมื่อเกิดระเบิดในวันต่อมา ขณะทรงนำร้องเพลง “เราสู้” นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ได้ทรงระลึกย้อนมองเหตุการณ์รถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งต่างออกไปหรือไม่ ต้นเดือนต่อมา (ตุลาคม) กรมตำรวจสรุปผลการสอบสวนกรณีนี้ว่า เป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากคนขับเมาและประมาท ไม่ได้เจตนาทำร้ายในหลวง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลำพังการเกิด “อุบัติเหตุ” เช่นนี้ ก็นับว่าผิดปกติอย่างยิ่งแล้ว การมาเกิดขึ้นภายใน 20 ชั่วโมงก่อนเหตุการณ์ที่ยิ่งกว่าผิดปกติอย่างการระเบิดหน้าที่ประทับ ก็ต้องนับเป็นเรื่อง “ความบังเอิญ” ที่เกือบจะเหลือเชื่อ จนทุกวันนี้ ทั้ง 2 เหตุการณ์ (ทั้งในแง่แยกกัน และในแง่ที่มาเกิดพร้อมกัน) ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดกับสถาบันกษัตริย์ไทยสมัยใหม่ในเวลาอื่นใดเลย (และดู ความทรงจำของวสิษฐ เดชกุญชร, รอยพระยุคลบาท, หน้า 347-349 ซึ่งเปิดเผยว่า ขณะรถมอเตอร์ไซค์ชนนั้น ในหลวงทรงกำลังขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง)

(13) ดูเชิงอรรถที่ 12 ข้างต้น [หมายถึงเชิงอรรถที่ 12 ของบทความฉบับเต็ม ไม่ใช่ของ "ภาคผนวก" นี้ ในฉบับที่ตีพิมพ์ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นเชิงอรรถที่ 11 หน้า 145 ]

(14) ดูตัวบทพระราชดำรัสใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆปีพุทธศักราช 2520, หน้า 273-280 สำหรับเวลาที่ทรงใช้ ดูจากที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ลงมาประมาณ 17 น. บัดนี้ ก็ 17.55 น. แล้ว ก็ได้พูดมาเกือบตลอด”

(15) แถลงการณ์รัฐบาลวันที่ 23 กันยายน 2520 กล่าวว่า ขณะเกิดระเบิด ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังอ่านรายงานถวาย

(16) หนังสือที่ระลึกปีสุดท้ายที่มีการพิมพ์บทเพลง “เราสู้” ที่ผมหาได้คือปี 2527 ผมไม่แน่ใจว่ามีพระราชพิธีและหนังสือที่ระลึกในปี 2528 หรือไม่ ในปี 2529 ชื่อหนังสือได้เปลี่ยนเล็กน้อยเป็น อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการพิเศษในการรักษาความมั่นคงภายใน และเข้าใจว่า เหลือเพียงเล่มเดียว ไม่ได้แบ่งเป็น 2 เล่มอีก ในเล่มมีเพียง “ความฝันอันสูงสุด” (ไม่ได้อยู่ในหน้าแรก) หนังสือปี 2530 ก็มีเฉพาะเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ขณะที่ในปี 2532 (หาฉบับปี 2531 ไม่ได้ อาจจะไม่มีพิธี) หนังสือเปลี่ยนชื่ออีกเป็น อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในและรักษาอธิปไตยของชาติ พ.ศ. 2532 และไม่มีทั้ง 2 เพลงเลย

(17) ข้อมูลนี้ได้จาก The Nation, 17 November 2004, 4A: “Yesterday’s audience with Her Majesty the Queen was unprecedented in the history of Royal engagement with the public. Her Majesty also hosted a tea party for the audience on the Dusit Palace lawns. Every audience member was given a card with a poem written by His Majesty entitled ‘The Ultimate Dream’. The poem declares Thai people’s willingness to die for their compatriots.” ไม่มีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับใด (รวมทั้ง Bangkok Post) รายงานเรื่องการ์ดนี้ แม้ว่าบางฉบับจะพูดถึงการพระราชทานเลี้ยงน้ำชา

(18) เราสู้ อนุสรณ์คำนึงถึงเกียรติประวัติและสดุดีวีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และบรรดาที่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในการสร้างทางสายละหานทราย-ตาพระยา, หน้า 18.

(19) ดูจากข้อมูลในเว็ปไซ้ต์ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.thaiveterans.mod.go.th

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 5 - 10)



(6) ในหนังสือ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 – กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ (หน้า 7) ได้สรุปพระราชกรณียกิจเดียวกันนี้ของ 2 พระเจ้าลูกเธอ ไว้ดังนี้:
วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2519

เวลา 14.50 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จโดยรถยนต์ที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบรรจุศพ นายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 6 ค่ายวังสราญรมย์ 206/3 กทม. 70 ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ ศาลาทักษิณาประดิษฐ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร

เวลา 16.05 น. เสด็จถึงหน้าศาลาทักษิณาประดิษฐ วัดพระศรีมหาธาตุ เสด็จขึ้นศาลาทักษิณาประดิษฐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์สวดมาติกา จบแล้ว เสด็จไปทอดผ้า พระสงฆ์บังสกุล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงหลั่งทักษิโณทก พระเสงฆ์ถวายอนุโมทนา จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงอ่านประกาศสดุดีเกียรติคุณนายเสมอ อ้นจรูญ เสร็จแล้ว เสด็จไปที่หน้าหีบศพ ทรงหยิบดินห่อผ้าขาว-ดำ วางบนพานที่ตั้งอยู่หน้าหีบศพ และทรงวางพวงมาลา เมื่อเสร็จพิธีบรรจุศพแล้ว ทรงพระดำเนิน ทรงเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านและราษฎรที่เฝ้าอยู่เป็นจำนวนมากภายในบริเวณวัด ทรงพระปฏิสันถารอย่างทั่วถึงกับลูกเสือชาวบ้าน และราษฎรเหล่านั้น สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์ที่นั่งเสด็จกลับถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเวลา 17.40 น.
ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เล่ม 1 ปีพุทธศักราช 2519-2525 (2538) ไม่มีพระราชดำรัสสดุดีนายเสมอ อ้นเจริญ รวมอยู่ด้วย (พระราชดำรัสปี 2519 ที่รวมไว้ในเล่มมีเพียง 2 รายการ วันที่ 2 และ 22 เมษายน)

น่าสังเกตว่า ในกรณีระเบิดหน้าที่ประทับปี 2520 (ข้างล่าง) พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ก็ทรงเป็นผู้นำร้องเพลง “เราสู้”

(7) โดยมีเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่เคยพิมพ์อยู่ในหน้าแรกตั้งแต่ปี 2516 ย้ายไปพิมพ์บนปกหลัง (ยกเว้นปี 2527 ซึ่งสลับกัน และปี 2521 ซึ่งพิมพ์อยู่ติดกันใน 2 หน้าแรก) เฉพาะฉบับปี 2520 นี้ ไม่มี “ความฝันอันสูงสุด” อันที่จริง เนื้อเพลง “เราสู้” คงปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือที่ระลึกปี 2519 (มีพิธีวันที่ 6 พฤษภาคม) แต่ผมหาหนังสือที่ระลึกของปีนั้นได้เพียงเล่มเดียว คือเล่มรายชื่อและรูปถ่ายผู้เสียชีวิต ซึ่งมีเพลง “เราสู้” และ “ความฝันอันสูงสุด” พิมพ์อยู่ในหน้าติดกันก่อนรายชื่อและรูปถ่าย เล่มบทความซึ่งผมยังหาไม่ได้ อาจจะมี “เราสู้” ตีพิมพ์อยู่ด้วยก็ได้

(8) ผมถูกเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ โดยงานวิจัยของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง “ความรุนแรงกับการจัดการ ‘ความจริง’: ปัตตานีกึ่งศตวรรษ” (ฉบับร่าง สิงหาคม 2545 แต่ฉบับที่ผมใช้อ้างในเชิงอรรถที่ 19 ข้างล่างคือฉบับแก้ไขปรับปรุง พฤษภาคม 2547) บทที่ 6 เสียงระเบิดใกล้ที่ประทับ: แถลงการณ์, เสียงเพลง และรถมอเตอร์ไซค์, ยะลา 2520

ยกเว้นที่ระบุเป็นอย่างอื่น ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในย่อหน้าถัดไป ผมสรุปมาจากแถลงการณ์ที่รัฐบาลออกในขณะนั้น ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ (ผมใช้ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, บ้านเมือง, สยามรัฐ, ดาวสยาม และ ตะวันสยาม)

(9) วสิษฐ เดชกุญชร รอยพระยุคลบาท, หน้า 351-352 “ผมตัดสินใจก้าวจากพื้นพลับพลาขึ้นไปบนแท่นที่เขาจัดถวายให้เป็นที่ประทับทั้งสี่พระองค์โดยเฉพาะ ผมเข้าไปยืนจนชิดพระวรกายพระเจ้าอยู่หัว และหันหน้าออกเพื่อเผชิญภัยที่อาจตามมา พร้อมๆกันนั้น นายทหารราชองครักษ์ประจำและนายตำรวจราชสำนักประจำคนอื่นๆ ก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ผมเชื่อว่าคงเป็นครั้งแรกและยังเป็นครั้งเดียวที่พวกเราได้เข้าถวายความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดถึงเพียงนั้น ตามหลักการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพึงกระทำ ก็คือเอาตัวบุคคลสำคัญผู้นั้นออกจากที่เกิดเหตุไปทันที เพื่อมิให้ได้รับอันตรายจากเหตุร้ายที่ยังอาจจะตามมาอีก แต่ไม่มีใครกล้าถวายบังคมทูลให้เสด็จออกจากพลับพลาพิธีนั้น เพราะทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯทรงแสดงพระกิริยามั่นคง ทรงยืนนิ่งอยู่ สีพระพักตร์เป็นปกติ”

(10) เกี่ยวกับการรายงานข่าวหรือ “การจัดการความจริง” กรณีนี้ของหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ดูงานวิจัยของชัยวัฒน์ที่อ้างถึงในเชิงอรรถที่ 8 ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า โดยทั่วไป ชัยวัฒน์ให้ภาพที่ไขว้เขวด้วยการตีความมากเกินไป (over-interpretation) เขาเสนอว่ารูปแบบการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2520 เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับวันที่ 23 โดยในวันที่ 23 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเสนอข่าวเหมือนๆกัน ขณะที่วันต่อมา “เริ่มเลือกให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆในเหตุการณ์ต่างกันออกไป” (หน้า 200 ของงานวิจัย การขีดเส้นใต้เน้นคำของชัยวัฒน์เอง) ผมเห็นว่า ยกเว้นกรณี เดลินิวส์ ที่ผมจะอธิบายข้างล่าง (และ สยามรัฐ ในบางด้าน) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเสนอข่าวนี้ในลักษณะที่เหมือนๆกันทั้ง 2 วัน คือ ไม่รายงานข่าวเองว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อ้างจากแถลงการณ์ของรัฐบาล (หรือในภาษาหนังสือพิมพ์ว่า “ข่าวแจก”) ผมคิดว่า สาเหตุสำคัญที่ภาพรวมของชัยวัฒน์ไขว้เขว เพราะเขา “ตกหล่น” ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง และมองข้ามความจริงอีกอย่างหนึ่ง ข้อมูลสำคัญที่ “ตกหล่น” คือ มีการเปิดเผยว่า กองเอกสารกรมตำรวจได้ขอร้องหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเกี่ยวกับการเสนอข่าวเรื่องที่เกิดขึ้นกับในหลวงติดกัน 2 วัน คือ รถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งวันที่ 21 (ดูเชิงอรรถที่ 12 ข้างล่าง) และระเบิดหน้าที่ประทับวันที่ 22 ว่า “ให้เสนอเป็นข่าวธรรมดา อย่าให้ประชาชนตื่นเต้น” (ดูคอลัมภ์ “ฟันวันละหน” ของ “ไอศูรย์ รังษี” ใน ตะวันสยาม วันที่ 24 และ 25 กันยายน 2520 ซึ่งโจมตี เดลินิวส์ อย่างรุนแรงที่ไม่ยอมทำตามคำขอร้องเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ เพราะ “ฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง” และ “ดึงสถาบันกษัตริย์มาหากิน”) ถ้าเรามองการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ขณะนั้นผ่านข้อมูลนี้ จะทำให้เห็นลักษณะที่เหมือนๆกันแบบ “ข่าวแจก” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (และไม่ตีความมากเกินไปแบบชัยวัฒน์) ส่วนความจริงอย่างหนึ่งที่ชัยวัฒน์มองข้ามคือ (ดังกล่าวข้างต้น) เดลินิวส์ เป็นฉบับเดียวที่เสนอข่าวในลักษณะของการรายงานเองจากที่เกิดเหตุเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่รายงาน “ข่าวแจก” เท่านั้นเหมือนฉบับอื่นๆทุกฉบับ เดลินิวส์ แทบจะเป็นฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายเหตุการณ์จริงหลังการระเบิดไม่กี่วินาที ในฉบับวันที่ 24 และ 25 ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้น (ไทยรัฐ ตีพิมพ์ภาพเหตุการณ์ 1 ภาพ แต่เป็นหลังการชุลมุนแล้ว แสดงว่ามีนักข่าวอยู่ในที่เกิดเหตุเหมือนกัน แต่กลับอาศัยแถลงการณ์รัฐบาลในการรายงานข่าว) เดลินิวส์ เป็นฉบับเดียวเช่นกัน ที่รายงานข่าวมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งที่นราธิวาสตอนค่ำวันที่ 21 กันยายน เพิ่มเติมจากที่เกิดเหตุ (ความจริง ผมเห็นว่า มีเรื่องที่ชัยวัฒน์มองข้ามหรือไม่เอ่ยถึงอื่นๆอีก ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพรวมออกมาไขว้เขว เช่นการที่เขากล่าวถึง “พาดหัว” ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ โดยไม่อธิบายว่า ลักษณะของการ “พาดหัว” เป็นอย่างไร ใหญ่เล็กแค่ไหน หรือการมองข้ามการวิจารณ์รัฐบาลของ คึกฤทธิ์ (สยามรัฐ วันที่ 27 กันยายน 2520 คอลัมภ์ “คลื่นใต้น้ำ” หน้า 5) กรณี สยามรัฐ นับว่ามีลักษณะเสนอข่าวต่างกับฉบับอื่นในบางด้าน คือเป็นฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ ข่าวหน้า 1 ในลักษณะวิจารณ์รัฐบาลโดยตรง: “ส.ส.ปฏิรูปตำหนิรัฐบาลทำหละหลวม ในการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องรับผิดชอบเต็มประตู” (แต่ก็ยังเหมือนฉบับอื่น – และต่างกับ เดลินิวส์ – ในแง่ที่ใช้ “ข่าวแจก” ของเหตุการณ์ล้วนๆเช่นกัน)

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 1 - 5)



(1) เป็นการบุกรุกเข้าไป ด้วยการตัดโซ่ที่ล่ามประตูรั้วทำเนียบ ดูการบอกเล่าของ พัลลภ โรจนวิสุทธ์, ยังเตอร์กของไทย, 2521, หน้า 209-211 ดูเหมือนพัลลภจะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

(2) ดาวสยาม 9 ตุลาคม 2519 รายงานข่าวอยู่ในหน้า 16 พระราชดำรัสอยู่ในหน้า 4 มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (ในฉลองพระองค์ชุดนายทหาร) ขณะทรงมีพระราชดำรัสกับลูกเสือชาวบ้าน พร้อมคำบรรยายในหน้า 1 และ 4 วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับพระราชดำรัสครั้งนี้ที่มีส่วนนอกเหนือไปจาก ดาวสยาม ว่า “ได้มีรับสั่งขอบใจที่ทุกคนรู้สึกเจ็บร้อนแทนพระองค์” (ยังเตอร์กของไทย, หน้า 219) ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นรายงานข่าวนี้เลย ยกเว้น เดลินิวส์ วันที่ 9 ตุลาคม 2519 ซึ่งตีพิมพ์เฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ในหน้า 1 พร้อมคำบรรยายว่า “เสด็จฯทำเนียบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อเย็นวันที่ 6 ต.ค. ทรงมีรับสั่งกับลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งไปชุมนุมอย่างแน่นขนัดประมาณ 6 หมื่นคน”

(3) ตัวอย่างของพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับในบ่ายวันนั้น: “นองเลือด ตายเจ็บนับร้อย จับนศ.แขวนคอ-ประกาศฉุกเฉิน” (ไทยรัฐ), “จลาจลแล้ว แขวนคอ นศ. เผาสด 5 ศพ จับเลขาศูนย์นิสิต-ให้ปลด 3 รมต.ด่วน” (เดลินิวส์), “นองเลือด! ประชาชนขยี้ศูนย์-จับแขวนคอ ตายนับร้อย” (ตะวันสยาม) ภาพถ่ายนักศึกษาถูกแขวนคอและถูกเผาได้รับการตีพิมพ์ทุกฉบับ

(4) วสิษฐ เดชกุญชร, รอยพระยุคลบาท, มติชน 2545, หน้า 307 ผมถูกทำให้ตระหนักถึงข้อมูลนี้จากบทความ “กลุ่มพลังฝ่ายขวาและสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ของ พุทธพล มงคลวรรณ ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บก.), 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2546, หน้า 200

(5) เสียงปวงชน 9 ตุลาคม 2519, หน้า 12 ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้บาดเจ็บของพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ครั้งนี้และการเสด็จไปพบลูกเสือชาวบ้านที่ทำเนียบในเย็นวันที่ 6 ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชข้างต้น ไม่ได้รับการบันทึกในหนังสือทางการ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 – กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ (ดูหน้า 2 ของหนังสือ ซึ่งสรุปพระราชกรณียกิจวันที่ 5 ตุลาคม แล้วข้ามไปวันที่ 8 ตุลาคมเลย) ที่น่าสนใจคือ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพในหลวงและสมเด็จพระบรมฯ กำลังทรงเสด็จทอดพระบาท โดยมีลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งนั่งถวายบังคมกับพื้น พร้อมคำบรรยายว่า “เมื่อลมฝนบนฟ้ามาแล้ว ล่มโพธิแก้วจะพาพฤกษาสดใส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พสกนิกรชาวไทยผู้มั่นคงในองค์พระมหากษัตราธิราช เฝ้าถวายความจงรักภักดีโดยคับคั่ง” ถ้าคำบรรยายนี้ถูกต้อง ก็แสดงว่า ในวันนั้น ในหลวงทรงเสด็จไปยังบริเวณใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ (ธรรมศาสตร์-สนามหลวง) มาก น่าเสียดายว่า คำบรรยายไม่ได้ระบุว่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอะไรและเวลาใด (ทั้ง 2 พระองค์อยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล) ติดกันยังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมฯทรงกำลังนมัสการพระญาณสังวร โดยมีคำบรรยายว่า “พุทธมามก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามก ปฏิบัติพระองค์โดยเบญจศีล ยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นี้” (ทรงอยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล จึงอาจเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่เสด็จวัดพระแก้วในอีกภาพหนึ่ง)


เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงและพระราชวงศ์ในวันที่ 6 ตุลา และวันต่อๆมา นับเป็นเรื่อง irony ที่ ในหนังสือซึ่งเต็มไปด้วยการสรรเสริญพระบารมีของ กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร (Kobkua Suwannathat-Pian, Kings, Contry and Constitutions: Thailand Political Development 1932-2000. RoutledgeCurzon, 2003, pp. 173-174) มีข้อความที่ผิดความจริง ต่อไปนี้ :
Two days after the massacre, the King broke his silence. His Majesty made a radio broadcast calling for national unity in the face of the crisis. The message was clear: King Bhumibol had issued 'a strong endorsement' of the new military junta..... Perhaps to emphasize further the unmistakable stand of the Throne, Queen Sirikit and the royal Princesses went to visit and provide food for the Village Scouts who encamped in the campus of Thammasat University. The death of democracy appeared a small prize to pay for the return of political stability and social status quo.
ความจริง คือ ในคืนวันที่ 8 ตุลาคม มีคำปราศรัยของสงัด ชลออยู่ และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร แจ้งให้ประชาชนทราบถึงพระบรมราชโองการแต่งตั้งธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีพระราชดำรัสของในหลวง (ดูรายงานข่าวโดยละเอียดใน ไทยรัฐ 10 ตุลาคม 2519) และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ไม่ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานอาหารแก่ลูกเสือชาวบ้านที่ตั้งแคมป์ในธรรมศาสตร์ (หลังเหตุการณ์ ไม่มีลูกเสือชาวบ้านตั้งแคมป์อยู่ที่นั่นด้วยซ้ำ มีแต่ตำรวจทหาร!) มีแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จเยี่ยมตำรวจที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาลตำรวจดังกล่าวข้างต้น กอบเกื้อไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลใดๆสำหรับเรื่องสำคัญนี้ และขอให้สังเกตประโยคสุดท้ายที่ผมยกมาข้างต้นว่า กอบเกื้อเลือกใช้คำ (นามธรรม) ว่า "The death of democracy" แทนที่จะเป็นคำ (รูปธรรมและจริงกว่า) ว่า students หรือ demonstrators ซึ่งจะทำให้ความหมายของประโยคนี้ ในบริบทของข้อความย่อหน้านี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

ใน The King Never Smiles: A Biography of Thailand's King Bhumibol Adulyadej (Yale University Press, 2006, p.237), Paul M Handley กล่าวว่า "Some people claim to have seen Prince Vajiralongkorn on the scene at Thammasat on October 5 and 6 in the company of police and Village Scouts." แต่ข้ออ้างของ "some people" (Handley ไม่ได้ระบุว่าใคร) ไม่น่าจะเป็นความจริงเช่นกัน

Thursday, October 26, 2006

เมื่อ ถวัติ เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า (เชิงอรรถ)



(๑) ผมใส่เครื่องหมายคำพูดในที่นี้ เพราะความเป็น “ผู้นำกรรมกร” ของถวัติ เช่นเดียวกับ กรณี “ฟ้องพระปกเกล้า” ที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรื่องที่ควรวิเคราะห์วิจารณ์ให้ดี (ซึ่งยังไม่มีใครทำ) ก่อนที่จะยอมรับเรื่องเล่าเชิง “ตำนาน” ที่ผ่านๆมาอย่างเบ็ดเสร็จง่ายๆ

(๒) วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรโณ, “พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”, วารสารกฎหมาย, ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2520), หน้า 160 (การเน้นคำของผม): “เหตุที่ต้องบัญญัติมาตรานี้ขึ้นในรัฐธรรมนูญเพราะเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2476 นายถวัติ ฤทธิเดช และ ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร ได้ร่วมกันทำคำฟ้องขึ้นฉบับหนึ่งเป็นโจทก์กล่าวหาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหมิ่นประมาทนายถวัติ ฤทธิเดช อันเป็นความผิดอาญา ให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งศาลในขณะนั้นก็มิได้รับฟ้อง....”

(๓) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, “๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช: ผู้นำกรรมกรคนแรก”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๗, หน้า ๑๔๒-๑๔๙ และ แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย. มติชน, ๒๕๔๗.

(๔) ดูรายละเอียดใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “กรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๘, หน้า ๑๐๐-๑๒๐ หลังจากบทความนี้ถูกตีพิมพ์แล้ว ผมได้พบข้อมูลเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง จึงได้เขียนบางตอนของบทความใหม่ โปรดดูฉบับแก้ไขได้ที่นี่

(๕) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ร.๗ สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ ๑๔ ตุลา”, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (๒๕๔๔), หน้า ๑๒.

Monday, October 16, 2006

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๑๔ - ๒๑)



(๑๔) โทรเลขนี้อ้างจาก ปรีดา วัชรางกูร, พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย (๒๕๒๐), หน้า ๓๐๑-๓๐๒ ศิโรตม์อ้างโทรเลขฉบับนี้ (“๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช”, หน้า ๑๔๘ และ แรงงานวิจารณ์เจ้า, หน้า ๙๙ และ ๑๐๕) แต่กลับกล่าวว่าเป็นโทรเลขที่พระยาพหลทำขึ้นหลังจากสั่งให้อัยการฟ้องถวัติ “เพื่อแจ้งให้ราชสำนักรับทราบเรื่องนี้ [ฟ้องถวัติ] ในทันที” นับว่าเป็นการอ้างผิดที่แปลกอีกครั้งหนึ่ง (ดูเชิงอรรถที่ ๑๒ ประกอบ) เพราะความจริงเนื้อหาโทรเลขก็บอกอยู่ในตัวว่าเป็นโทรเลขแจ้งข่าวเรื่องกบฏบวรเดช (มิหนำซ้ำ ถวัติถูกอัยการฟ้องวันที่ ๓๐ กันยายน โทรเลขวันที่ ๑๒ ตุลาคม ไม่อาจเรียกว่า “ในทันที” อยู่นั่นเอง!)

(๑๕) ต้นฉบับร่างญัตติและโทรเลขฉบับนี้อยู่ในแฟ้ม “คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ สลค. ในโทรเลขมีผู้ใช้ดินสอขีดเส้น ๒ เส้น ใต้คำว่า “โปรด”

(๑๖) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๖/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

(๑๗) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๓/๒๔๗๖ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ ที่บันทึกไว้ว่า “เนื่องจากรายงานประชุมที่ ๔๙/๒๔๗๖” นั้น ผมได้คำนวนจากจำนวนครั้งของการประชุมครม.ในแต่ละเดือน (ประมาณสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง) น่าจะตกอยู่ในช่วงปลายพฤศจิกายนหรือต้นธันวาคม ๒๔๗๖ ครั้งสุดท้ายที่ทราบตัวเลขคือการประชุมวันที่ ๑ กันยายน ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๖ ดังที่กล่าวในตอนต้นบทความนี้ รายงานการประชุมครม.ระหว่างต้นเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ถึงปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ ได้หายไปจาก สลค. มีการเริ่มนับครั้งที่ของการประชุมใหม่หลังการเปลี่ยนรัฐบาลในปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ การประชุมวันที่ ๓๐ ธันวาคม จึงเป็นเพียง ครั้งที่ ๓ (แต่ของ “สมัยที่ ๒”)

(๑๘) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๕/๒๔๗๖ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๗๖

(๑๙) เจ้าหน้าที่กรมเลขาธิการ ครม. เขียนด้วยลายมือที่จดหมายว่า “เสนอคณะรัฐมนตรี [ลงชื่อ] ประมวล ๔/๑๐/๗๖” แต่ผมคิดว่า จดหมายคงยังไม่ถึงที่ประชุมครม.ในวันที่ ๕ มกราคม เมื่อมีการพิจารณาวาระเรื่องถวัติข้างต้น

(๒๐) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๖/๒๔๗๖ วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๖

(๒๑) อันที่จริง ผมคิดว่า ปัญหาเชิงกฎหมายและหลักการเรื่องการฟ้องร้องกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ นี้ ยังมีกรณีสำคัญอีกกรณีหนึ่ง คือถ้าเป็นการกระทำในเชิงส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ต้องมีผู้รับสนอง แต่บังเอิญการกระทำนั้นไปกระทบทางคดีได้ (เช่น ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างกษัตริย์กับราชินีหรือโอรสธิดาหรือพระญาติ พูดง่ายๆคือเรื่องภายในครอบครัว) เราจะเห็นปัญหาได้ชัดขึ้นถ้าลองเปรียบเทียบกับกรณีทรัพย์สิน ซึ่งมีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกมา แต่ในกรณีทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น เพื่อป้องกันการฟ้องร้องกษัตริย์ กฎหมายก็กำหนดว่าการกระทำอะไรเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งแม้จะเป็นส่วนพระองค์นี้ ก็ห้ามไม่ให้กระทำในนามพระองค์ แต่ให้ทำในนามผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๕ ทวิ วรรค ๒ “ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดๆอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า ‘ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์’ เท่านั้น”) ดังนั้น ถ้าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็ยังต้องฟ้องผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์แทน แต่กรณีส่วนพระองค์ที่ผมเพิ่งกล่าวถึง (“เรื่องภายในครอบครัว”) นอกจากจะไม่สามารถมีผู้รับสนองได้แล้ว ยังไม่สามารถมีผู้จัดการแบบทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่จะมารับแทนได้ด้วย ผมคิดว่าในกรณีนี้ ก็ต้องให้สภาวินิจฉัยเช่นกัน

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๘ - ๑๓)



(๗) ในแฟ้มเดียวกัน มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๗๖ ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ตอนรับจดหมายของพระยาอุดมพงศ์ฉบับนี้ โดยเพียงแต่เขียนว่า “ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว” เท่านั้น (คือเขียนตามข้อความที่พระยาพหลเขียนในท้ายจดหมายพระยาอุดมพงศ์นั่นเอง ตามแบบฉบับของจดหมายตอบรับทางราชการ) ไม่มีการพูดถึงการให้เข้าพบในบ่ายวันที่ ๑๘ ขอให้สังเกตวันที่ตอบรับด้วยว่า ล่าช้าจากวันที่ได้รับจดหมายกว่า ๑ สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในจดหมายของพระยาอุดมพงศ์ถึงพระยาพหลเกี่ยวกับเรื่องนี้ฉบับต่อมา ลงวันที่ ๒๖ กันยายน (ดูข้างล่าง) มีตอนหนึ่งที่เขียนว่า “ซึ่งข้าพเจ้าได้มาเรียนชี้แจงแล้วนั้น” ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงการ “เรียนชี้แจง” ในจดหมายฉบับวันที่ ๑๘ นี้ หรือหมายถึงการได้เข้าพบขี้แจงจริงๆ

(๘) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๗๖.

(๙) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕.

(๑๐) น่าแปลกที่วิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยตรง David E. Streckfuss, “The Poetics of Subversion: Civil Liberty and Lese-Majeste in the Modern Thai State” ตกหล่นไม่กล่าวถึงกรณีฟ้องถวัตินี้ ซึ่งต้องนับเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกหลัง ๒๔๗๕ ผมเดาว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถวัติถูกฟ้องคือ มาตรา ๙๘ ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ “ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระราชินีก็ดี มกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของการมันจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง” ส่วนข้อหากบฏนั้น ผมไม่แน่ใจว่าถวัติถูกฟ้องตามมาตราไหน เพราะมีหลายมาตราในหมวด “ความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร” แต่เป็นไปได้ว่าหมายถึง มาตรา ๑๐๔ ซึ่งถูกแก้ไขในปี ๒๔๗๐ “๑) ผู้ใดกระทำการอย่างใดใดก็ตาม สนับสนุนหรือสั่งสอนลัทธิหรือวิธีการเมือง หรือเศรษฐกิจ ด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์หรือด้วยอุบายใดใดก็ตาม ด้วยเจตนา หรือคำนวณว่าจะให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้คือ ก) เพื่อจะให้บังเกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือรัฐบาล หรือราชการแผ่นดินก็ดี....ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสิบปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

(๑๑) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๑/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ “นายกรัฐมนตรีกล่าวเสนอให้หยุดพัก ๑๐ นาที ตกลงเป็นอันหยุดพักในเวลา ๑๘.๓๕ น. ครั้นถึงเวลา ๑๘.๕๐ น. เปิดประชุมจากเวลาหยุดพัก ประธานสภาฯกล่าวว่า เรื่องตีความในมาตรา ๓ จะว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอเลื่อนไป พระยาประวญวิชาพูลรับรอง ประธานสภาฯกล่าวว่า ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็จะได้เลื่อนไป และยังไม่มีกำหนดในเวลานี้”

(๑๒) ในทัศนะของผม การเล่าการประชุมสภาตอนนี้ของศิโรตม์ ในแรงงานวิจารณ์เจ้า เป็นตัวอย่างของการอ่านหรือตีความ “เกินหลักฐาน” และของการมีข้อสรุปที่ใหญ่โตล่วงหน้าเกี่ยวกับถวัติ (heroic tale) ที่ผมวิจารณ์ตอนต้น การอภิปรายเรื่องนี้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องในเชิงระเบียบการประชุม แน่นอน เป็นความจริงที่ว่า ในที่สุด ไม่มีใครอยากจะเป็นสปอนเซอร์รับคำฟ้องของถวัติมานำเสนอเข้าสภา ซึ่งอาจจะเพราะเหตุผลทางการเมืองบางอย่าง แต่เหตุผลอะไร? บันทึกการอภิปรายที่มีอยู่ไม่เพียงพอให้สรุปลงไปทางใดทางหนึ่งได้ว่า ความไม่อยากเป็นสปอนเซอร์ของสมาชิกมาจากทัศนะอะไร เพราะเกือบไม่มีใครพูดแสดงเหตุผลที่ไม่เสนอตัวรับเป็นสปอนเซอร์ออกมา แต่ศิโรตม์กลับยืนยันหนักแน่น (โดยไม่ยกตัวอย่างเลย) ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายรายก็ยังคงวิตกว่าคำแถลงของถวัติอาจทำให้เกิด ‘วิกฤติ’ ทางการเมือง [!?] ถึงขั้นที่ไม่มีใครกล้ายื่นมือเข้ามารับผิดชอบคำแถลงนี้ แม้ในชั้นของการได้ชื่อว่าเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา....เป็นอันว่าหลังจากแจกจ่ายแถลงการณ์ของถวัติสู่ที่ประชุม [?] ตัวประธานสภาฯเองกลับออกตัวว่าท่านไม่ได้รับรองญัตติให้พิจารณาคำแถลงการณ์ของถวัติในเรื่องนี้ ผลก็คือ คำแถลงของถวัติถูก ‘แจก’ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน แต่ไมได้ถูก ‘เสนอ’ ให้เข้าสู่การพิจารณา” (หน้า ๑๐๒-๑๐๓) ข้อสรุปตอนท้ายของศิโรตม์นี้ผิดข้อเท็จจริงอันเนื่องจากการอ่านรายงานการประชุมผิดอย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงคือ “คำแถลงการณ์เปิดคดี” (คำของถวัติเอง) ที่สมาชิกสภาเถียงกันว่าจะรับหรือไม่รับหรือมีใครจะเป็นคนเสนอหรือไม่นั้น หมายถึงเอกสารที่ถวัติเตรียมไว้ฟ้องพระปกเกล้าตั้งแต่แรก แต่มังกร สามเสนไม่รับ ไม่ใช่ตัวจดหมายที่ประธานสภาอ่านข้างต้น (ดูย่อหน้าที่ ๓ ของจดหมาย) “คำแถลงการณ์เปิดคดี” นี้ ไม่ได้ “ถูกแจก แต่ไม่ถูกเสนอ” อย่างที่ศิโรตม์เขียนเลย! ประธานสภาเพียงแต่อ่านจดหมายข้างต้น (“จดหมายปะหน้า” ในภาษาสมัยใหม่) ให้ฟังเท่านั้น (ไม่ได้ “แจก” เช่นกัน) แต่ที่เถียงกัน ไม่ใช่เถียงเรื่องจดหมายฉบับนี้แต่อย่างใด (เพราะอ่านให้ฟังไปแล้ว)

(๑๓) ผมเขียนเช่นนี้ในลักษณะที่ถือว่า จดหมายฉบับนี้ และการที่ทรงอ้างความล่าช้าเรื่องการตีความมาตรา ๓ เป็นเหตุให้ไม่ทรงเสด็จกลับกรุงเทพตามหมายกำหนดเดิม ตลอดจนการที่เรื่องนี้เกิดขึ้นใน ๒๔ ชั่วโมงก่อนกบฏบวรเดชในเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม ล้วนไม่มีเบื้องหลังและเป็นความบังเอิญทั้งสิ้น แต่ถ้าเชื่อตามคำพิพากษาของศาลพิเศษปี ๒๔๘๒ ที่กล่าวหาว่า พระปกเกล้าทรงรู้เห็นเป็นใจกับการกบฏ ในลักษณะที่ทรงให้ความช่วยเหลือพวกกบฏล่วงหน้า (ดู กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ, หน้า ๒๙-๓๐) จดหมายฉบับนี้และการอ้างเรื่องการตีความมาตรา ๓ ล่าช้าเป็นเหตุไม่ยอมเสด็จกลับ ก็อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีเบื้องหลังสำคัญ คือเป็นจดหมายและข้ออ้างบังหน้า ที่ไม่ทรงเสด็จกลับเพราะทรงรู้ว่ากำลังจะมีกบฏ ไม่ใช่เพราะความล่าช้าในการตีความมาตรา ๓ เท่าที่ผมทราบ ยังไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๑ - ๖)



(๑) ชื่อบทความจริงๆคือ “๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช: ผู้นำกรรมกรคนแรก”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๗, หน้า ๑๔๒-๑๔๙.

(๒) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย (มติชน, สิงหาคม ๒๕๔๗).

(๓) ที่ว่าถวัติฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาข้อหา “หมิ่นประมาทราษฎร” นั้น ศิโรตม์อ้างหนังสือชีวประวัติพระปกเกล้าของ “นายหนหวย” (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) ที่รู้จักกันดี (เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ) “นายหนหวย” เขียนโดยไม่มีการอ้างอิงที่เหมาะสม ตามแบบฉบับนักเขียนสารคดีรุ่นเก่าโดยทั่วไป ความจริงในคำร้องเรียนของถวัติต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ศิโรตม์เองยกมาทั้งฉบับนั้น ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาพยายาม “ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ไม่ใช่ฟ้องศาล (ดูรายละเอียดข้างล่าง) นอกจากนี้ งานของศิโรตม์ยังละเลยไม่ใช้ประโยชน์จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้อีก ๒ ครั้ง เขาอ้างเฉพาะครั้งการประชุมวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ โดยอ้างผิดเป็นวันที่ ๔ เขาเข้าใจผิดเรื่องที่อภิปรายกัน และยังเข้าใจผิดเรื่องโทรเลขพระยาพหลถึงพระปกเกล้ากรณีกบฏบวรเดช (ดูเชิงอรรถที่ ๑๒ และ ๑๔ ข้างล่าง)

(๔) สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย (๒๕๒๙) ตัวอย่างสำคัญหนึ่งที่ “โครงเรื่อง” (plot) ของการบรรยายแบบนี้ทำให้มองภาพไขว้เขวไม่สมจริง คือกรณีสิ่งที่เรียกว่า “สถานแทนทวยราษฎร์” ที่ศิโรตม์บรรยายว่าเป็น “องค์กรที่ถวัติจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง” แต่ถ้าลองอ่าน “ระเบียบการ” ของ “องค์กร” นี้ให้ดีๆ โดยไม่สรุปล่วงหน้าว่านี่เป็นเรื่องของ “ชนชั้นกรรมกร”, “สามัญชน”, “หาญกล้า”, “ท้าทายระบอบเก่า” ของ plot แบบ heroic tale นี้ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “สถานแทนทวยราษฎร์” นั้น แท้จริงแล้ว คือวิธีหารายได้ หางานทำ หรือเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของถวัตินั่นเอง! (และของคนสมัยนั้นอีกจำนวนมาก ศิโรตม์กล่าวว่า “การรวมกลุ่มแบบนี้เป็นปรากฏาการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕”) พูดแบบภาษาสมัยใหม่คือเป็น marketing ploy (กลยุทธการตลาด) อย่างหนึ่ง ศิโรตม์เขียนว่าสมาชิก (หรือ “นายจ้าง”) ของสถานแทนทวยราษฎร์ ประเภทที่ ๓ “จ่ายค่าสมาชิกในอัตราเดือนละ ๑ บาท เพื่อแลกกับบริการที่มีราคาแพงกว่านั้นในทุกๆด้าน” ความจริง “ระเบียบการ” ระบุว่า “เรื่องค่าใช้สรอย เป็นต้นว่า พาหนะหมอความหมอยา ค่ายา...ค่าใช้สรอยเหล่านี้...นายจ้างประเภทที่ ๓ เสียค่าใช้สรอยทุกอย่าง” จริงที่ว่า “ค่าจ้างหมอความหมอยา” นั้น “ไม่ต้องเสีย” แต่ก่อนจะรีบสรุป ควรต้องสืบให้ได้ก่อนว่า “ค่าจ้างหมอความหมอยา” นั้น ปรกติเสียเท่าไรเมื่อเทียบกับ “ค่าใช้สรอย” ต่างๆเช่น “ค่ายา” ที่สมาชิกต้องเสียเอง ที่สำคัญ โดยทั่วไป คงไม่มีใครหาหมอความหมอยาทุกวันหรือกระทั่งทุกเดือน ซึ่งถ้าเช่นนั้น “ค่าสมาชิก” ที่เสียเป็นรายเดือน ก็เป็นรายได้หรือกำไรสะสมที่ถวัติหรือคนที่ตั้งองค์กรแบบนี้ได้แบบกินเปล่าไป คล้ายบริษัทประกันภัยสมัยใหม่ สรุปแล้ว “สถานแทนทวยราษฎร์” ก็คือการที่ถวัติเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการติดต่อหมอและทนายความให้ โดยขอค่าตอบแทนเป็นรายเดือน หรือทำตัวเป็นนายหน้าหางานให้ “สมาชิก” ไม่เกี่ยวกับ plot สูงส่งอะไรที่ศิโรตม์เขียน (“องค์กรที่ถวัติจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง”)

(๕) จดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าที่นำมาอ้างในบทความนี้ทั้งหมด มาจากแฟ้มชื่อ “คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๘ กันยายน ๒๔๗๖ – ๒๒ มกราคม ๒๔๗๖)” ในเอกสารชุด “กรณีสละราชสมบัติ” ซึ่งเก็บอยู่ที่ สลค.

(๖) ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ภาษาไทยช่วงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ไม่มีเหลืออยู่เลยในหอสมุดแห่งชาติ แม้แต่ในรูปไมโครฟิลม์ เมื่อประมาณปีที่แล้ว (๒๕๔๖-๔๗) ระหว่างที่ผมค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทความเรื่องอื่น ยังมีประชาชาติของเดือนนี้ในรูปไมโครฟิลม์ให้บริการ แต่ก็อยู่ในสภาพที่อ่านเกือบไม่ได้ เพราะถ่ายจากต้นฉบับที่ทรุดโทรมมาก ปัจจุบันแม้แต่ฉบับไมโครฟิล์มนี้ก็งดให้บริการแล้วเนื่องจากฟิล์มเสื่อมสภาพ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีการถ่ายไมโครฟิล์มใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ายังมีต้นฉบับ (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือฟิล์มต้นฉบับ) เหลืออยู่หรือไม่ ในบทความศิลปวัฒนธรรม ศิโรตม์กล่าวว่า ถวัติยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎรเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๖ โดยอ้างประชาชาติฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน และเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศของ “นายหนหวย” แต่น่าแปลกว่าในหนังสือเล่มแรงงานวิจารณ์เจ้า เขาอ้างเฉพาะราชันผู้นิราศเท่านั้น ที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าศิโรตม์ได้อ่านประชาชาติจริง เหตุใดจึงคลาดเคลื่อนเรื่องถวัติฟ้องศาลทั้งที่ไม่ได้ฟ้อง (ประชาชาติเองไม่น่าจะรายงานผิด?) ในราชันผู้นิราศ “นายหนหวย” อ้างบทบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์โดยหลุย คีรีวัตร ซึ่งกล่าวว่าถวัติฟ้องศาลอาญาเช่นกัน แต่ผมไม่แน่ใจว่า “นายหนหวย” อาจจะอ้างมาผิดๆก็ได้ ดังที่จะแสดงให้เห็นต่อไป ถวัติไม่ได้ฟ้องศาลแน่นอน อันที่จริง เมื่อปีก่อน ผมเองได้อ่านประชาชาติฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๗๖ โดยไม่เห็นข่าวถวัติ แต่เป็นไปได้ว่าผมอาจจะตกหล่นก็ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจค้นหาเรื่องนี้ในตอนนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ผมยังได้ตรวจดู Bangkok Times ช่วงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ แต่ก็ไม่มีข่าวถวัติ อย่างไรก็ตาม มีการรายงานข่าวนี้ในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นอย่างแน่นอน เพราะดูจากจดหมายรัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งผมกำลังจะนำเสนอ (หัวข้อถัดไป) ที่ผมกล่าวข้างบนว่าการรายงานข่าวนี้อยู่ในระหว่างวันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ กันยายนนั้น เอามาจากวันที่ที่ “นายหนหวย” ระบุว่ามีการฟ้องกับวันที่ของจดหมายรัฐมนตรีมหาดไทย

Thursday, September 14, 2006

ความเป็นมาของคำว่า "นาถ" ใน "พระบรมราชินีนาถ" (เชิงอรรถ ๑๑-๑๗)



(๑๑) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๗/๒๔๙๙ (สามัญ) ชุดที่ ๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๙ น่าสนใจว่า หนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๙ ได้รายงานการเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการ โดยพาดหัวตัวใหญ่ว่า “สั่งเปลี่ยนผู้สำเร็จฯขณะผนวช” และพาดหัวตัวรองพร้อมข่าวดังนี้ (ขอให้สังเกตภาษาที่ใช้กับในหลวงสมัยนั้น)

ให้ราชินีเป็นแทนกรมหมื่นพิทยลาภ
อ้างมีภาระกิจมาก – ไม่เหมาะสม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีดำรัสให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าเฝ้าเมื่อเช้าวานนี้ และทรงแจ้งพระประสงค์ว่า พระองค์ขอแต่งตั้งพระบรมราชินีสิริกิติ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรตามที่ได้แต่งตั้งไว้เดิม ทรงอ้างว่า กรมหมื่นพิทยลาภมีภาระกิจมาก

ทั้งนี้จอมพล ป.พิบูลสงครามแถลงแก่ผู้สื่อข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันวานนี้ว่า ทางรัฐบาลไม่ขัดข้องในพระราชประสงค์ครั้งนี้ เพราะได้เคยมีตัวอย่างมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดวันผนวช วันที่ ๒๒ ตุลาคม และจะทรงลาผนวชวันที่ ๕ พฤศจิกายน ทั้งนี้ทรงตั้งพระราชหฤทัยอุทิศส่วนกุศลให้พระราชบิดา พระเชษฐา และเพื่อพศกนิกรชาวไทยด้วย
ผมไม่แน่ใจว่า ทำไมสยามนิกรจึงรายงานว่า ในหลวงแสดงพระประสงค์เปลี่ยนผู้สำเร็จ โดยที่ “ทรงอ้างว่า กรมหมื่นพิทยลาภมีภาระกิจมาก” เพราะไม่มีหลักฐานอื่นให้เหตุผลนี้ ดูจากรายงาน นอกจากคำแถลงของจอมพลแล้ว หนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้มีแหล่งข่าวอื่นอีก หรือจอมพลแถลงข่าวไปเช่นนั้นจริงๆ? ถ้าใช่ ทำไม? เพื่อพยายามทำให้การเปลี่ยนที่ค่อนข้างไม่ปรกตินี้ ดูมีเหตุผลมากขึ้น?

(๑๒) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๔/๒๔๙๙ วันพุธที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๙๙ ดังที่เห็นจากหัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๗ กันยายน ที่อ้างถึงก่อนหน้านี้ เรื่องวันและระยะเวลาผนวชนี้ ได้ทรงแจ้งให้จอมพลทราบด้วยวาจาแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๗

(๑๓) จดหมายด่วนมาก ที่ สผ.๔๑๔๔/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๙๙ นายกรัฐมนตีถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง กำหนดวันทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตัวบทของจดหมายมีอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๘/๒๔๙๙ (สามัญ) ชุดที่ ๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๙๙ ด้วย ความจริง สภาได้รับทราบกำหนดวันและเวลานี้จากการชี้แจงด้วยวาจาของจอมพล ป.แล้วในการประชุมวันที่ ๑๘ “เมื่อวานซืนนี้ท่านรับสั่งบอกจะทรงผนวช ๒๒ แล้วก็จะลาผนวชวันที่ ๕ พฤศจิกายน” ผมคิดว่าจอมพลคงพูดผิด (หรือรายงานผิด) ที่ถูกคือ “เมื่อวานนี้” (๑๗) ไม่ใช่ “เมื่อวานซืนนี้” (๑๖)

(๑๔) จดหมายที่ สร.๑๖๙๐/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๙ หม่อมเจ้านิกรเทวัญ เทวกุล ราชเลขาธิการ ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(๑๕) “ประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”, ราชกิจจานุเบษา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๗๖ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๙๙ หน้า ๑๐๓๕-๑๐๓๖ “โดยที่มีพระราชประสงค์จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙....จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวช”

(๑๖) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕๖/๒๔๙๙ วันอังคารที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๙

(๑๗) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๑๐๓ วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๙ หน้า ๑๖๔๐-๑๖๔๑.

ความเป็นมาของคำว่า "นาถ" ใน "พระบรมราชินีนาถ" (เชิงอรรถ ๖-๑๐)



(๖) ตัวบทของ “ประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ” อยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔ วันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖, น่า ๑๐.

(๗) “Return to Chulalongkorn” เป็นคำที่ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพ (ซึ่งมีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ ๖ อย่างมาก) ใช้บรรยายนโยบายของรัชกาลที่ ๗ ในปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ (ซึ่งเขาแสดงความชื่นชม) “an all round change in policy – it may best be described as a ‘return to Chulalongkorn’”, “[Prajadhipok’s] intention is to return as far as possible to the golden age of his father, King Chulalongkorn” ดูการบรรยายเรื่องนี้ใน Benjamin A Batson, The End of the Absolute Monarchy in Siam (OUP, 1984), p.36.

(๘) จากแฟ้ม “เงินปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ (๒๙ ตุลาคม ๒๔๕๓ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๐)” ในกรณีพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์นี้ ครม.ได้ตกลงตั้งเงินปีถวายเป็นจำนวน ๔,๐๕๘ บาท เงินเพิ่มอีกปีละ ๑๐๐ บาท รวมเป็น ๔,๑๕๘ บาท แต่ในปีต่อมา เมื่อมีการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ครม.ได้ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าควรจะตั้งเงินปีถวายเท่าไร โดยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบเทียบเคียงกับประเทศอื่น กระทรวงต่างประเทศจึงสั่งให้ทูตประจำอังกฤษและฝรั่งเศสสืบค้นข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งทูตประจำอังกฤษได้รายงานเงินปีของพระราชวงศ์อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ส่งมา ส่วนทูตประจำฝรั่งเศสรายงานเงินปีของพระราชวงศ์เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมส่งมา กระทรวงการคลังได้สรุปเสนอว่า ควรตั้งเงินปีถวายปีละ ๓๐๐,๐๐ บาท เท่ากับที่รัชกาลที่ ๖ เคยได้รับเมื่อยังทรงเป็นพระยุพราช ในที่สุด ครม.ได้ตกลง (๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖) ให้ตั้งเงินปีถวายเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ที่เคยตกลงตั้งไว้ปีละ ๔,๑๕๘ บาท ให้เพิ่มเป็นปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมา เมื่อพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ทรงประสูติ (๒๔๙๘ และ ๒๕๐๐) ก็ทรงได้รับการตั้งเงินปีถวายปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท

(๙) จดหมายจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง เงินปีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๙๔ จากแฟ้ม “เงินปีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (๑ สิงหาคม ๒๔๙๔ – ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๕)” ครั้งนี้ ครม.ได้ตกลง (๕ กันยายน ๒๔๙๔) ตั้งเงินปีถวายตามกระทรวงการคลังเสนอ จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท เท่ากับพระนางเจ้ารำไพพรรณี

(๑๐) จดหมายจากนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง ถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นสักขีในการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ในแฟ้มชื่อ “สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ทรงครรภ์ ประสูติราชกุมารีและราชกุมาร (พ.ศ. ๒๔๙๘ และ ๒๕๐๐)”

ในปี ๒๔๙๔ รัฐบาลพยายามจะกราบบังคมทูลให้ทรงเสด็จกลับมาประสูติในประเทศไทย แต่ไม่สำเร็จ หนังสือโต้ตอบระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในแฟ้มชื่อ “สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงพระครรภ์ ประสูติราชกุมารีและราชกุมาร (พ.ศ. ๒๔๙๔)” ในหนังสือลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ ถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ขณะนั้นยังเป็นกรมพระชัยนาทนเรนทร จะทรงสิ้นพระชนม์วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๔) จอมพล ป.เขียนว่า (การเน้นคำของผม)
บัดนี้ สำนักพระราชวังได้เสนอโครงการและวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการประสูติ ซึ่งได้เฝ้าเรียนพระปฏิบัติใต้ฝ่าพระบาททรงเห็นชอบด้วยแล้ว ไปเพื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณา ข้าพระพุทธเจ้าได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบตามโครงการที่สำนักพระราชวังได้เสนอไปนั้นแล้ว

อนึ่ง ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาหารือเกี่ยวกับการพระราชพิธีนี้ ข้าพระพุทธเจ้าและคณะรัฐมนตรีได้รู้สึกปริวิตกกังวลเกี่ยวกับราชประเพณีต่างๆในการประสูติ จะปฏิบัติได้มิครบถ้วนสมพระเกียรติดังที่เคยมีมาแต่โบราณกาล เนื่องจากทรงประทับอยู่นอกราชอาณาจักร อันเป็นดินแดนห่างไกลประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง นอกจากความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้าและรัฐบาลของพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังปรากฏเสียงร่ำร้องของหมู่สมาชิกรัฐสภา ทั้งเสียงจากประชาชนโดยทั่วๆไป ได้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ใคร่ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาประสูติในราชอาณาจักร....

หนังสือฉบับนี้ตอนแรกถูกร่างขึ้นในลักษณะหนังสือจากนายกรัฐมนตรีถึงในหลวง “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม....ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความปริวิตกกังวลเกี่ยวกับราชประเพณีต่างๆในการประสูติ จะปฏิบัติได้มิครบถ้วนสมพระเกียรติดังที่เคยมีมาแต่กาลก่อน....”

ความเป็นมาของคำว่า "นาถ" ใน "พระบรมราชินีนาถ" (เชิงอรรถ ๑-๕)



(*) บทความเรื่องแรกใน ๓ เรื่อง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม กับสถาบันกษัตริย์ ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ ๒๔๙๐ บทความเรื่องที่ ๒ จะอยู่ภายใต้ชื่อ “กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ๒๔๙๙” และบทความเรื่องที่ ๓ ภายใต้ชื่อ “พิบูล-เผ่า กับ ราชสำนัก ๒๔๙๖-๒๕๐๐”

(๑) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๒/๒๔๙๙ วันพุธที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๙ นี่เป็นหลักฐานการแสดงพระราชประสงค์จะทรงผนวชอย่างเป็นทางการครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้มีข่าวจะทรงผนวชแพร่ออกมาโดยรัฐบาลไม่รู้ตัวล่วงหน้า หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๗/๒๔๙๙ วันที่ ๔ เมษายน ๒๔๙๙ ได้บันทึกไว้ดังนี้
๑๑. เรื่องข่าวรับฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทย ท่านนายกรัฐมนตรีได้เสนอข่าวรับฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทย ๑) เรื่องกษัตริย์แห่งประเทศไทยจะทรงผนวช ๒) เรื่องเครื่องบินกองทัพอากาศไทยประสบอุบัติเหตุ ...........

มติ – รับทราบ สำหรับเรื่องกษัตริย์แห่งประเทศไทยจะทรงผนวชนั้น คณะรัฐมนตรียังมิได้รับทราบเรื่องนี้แต่ประการใด ให้สอบถามทางราชเลขาธิการต่อไป
ผมค้นไม่พบว่า “สถานทีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ” ในที่นี้หมายถึงสถานีอะไร และไม่ปรากฏว่ามีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก ผมเชื่อว่าคงเป็นสถานีวิทยุบีบีซีหรือเสียงอเมริกา คือของฝ่ายตะวันตก มากกว่าของฝ่ายคอมมิวนิสต์ (จีนหรือรัสเซีย) ซึ่งรัฐบาลคอยรับฟังอยู่และบางครั้งมีการนำประเด็นที่สถานีเหล่านั้นกระจายเสียงมารายงานในที่ประชุมครม. เพราะถ้าเป็นสถานีวิทยุของฝ่ายคอมมิวนิสต์ น่าจะมีการระบุไว้ในบันทึกการประชุม

ข่าวลือเรื่องในหลวงจะออกผนวช คงมีอยู่ก่อนที่จะทรงแจ้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการนี้ เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศข่าวออกไปในวันนั้น หนังสือพิมพ์สยามนิกรรายวันได้รายงานว่า “ในหลวงแจ้งรัฐบาลทรงผนวช รัฐบาลเห็นชอบตั้งผู้สำเร็จฯ – ข่าวการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันตลอดมาว่า จะทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศนั้น บัดนี้ ได้มีการยืนยันการผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่แน่นอนแล้ว” (สยามนิกร วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙ ขีดเส้นใต้ของผม) อย่างไรก็ตาม ผมไม่พบข่าวเรื่องนี้ในสยามนิกรฉบับก่อนหน้านี้ ในช่วงปีนั้น

(๒) จดหมายฉบับนี้และฉบับอื่นเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ๒๔๙๙ อยู่ในแฟ้มชื่อ “แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตุลาคม ๒๔๙๙)” ในกลุ่มเอกสารเรื่อง “พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์” ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จดหมายถึงประธานสภาฉบับนี้และอีกฉบับหนึ่งที่อ้างถึงข้างล่าง ลงวันที่ ๑๘ กันยายน มีอยู่ในรายงานการประชุมสภาในวันนั้นๆด้วย

(๓) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๖/๒๔๙๙ (สามัญ) ชุดที่ ๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙ แม้จะเป็นการประชุม “ลับ” ตามที่ครม.ขอ แต่วาระนี้ นอกจากประธานสภาอ่านจดหมายของจอมพลข้างต้นแล้ว ก็มีเพียงส.ส.คนหนึ่งถามว่า ระยะเวลาการเป็นผู้สำเร็จราชการที่ขอให้รับรองนี้ ระหว่างเมื่อไรถึงเมื่อไร ซึ่งจอมพลตอบว่า “ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่สามารถจะแจ้งให้ได้ เพราะเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้กำหนดวันที่จะทรงผนวช เมื่อกำหนดวันแน่นอนประการใดแล้วก็จะได้แจ้งมาให้ทราบเพื่อขออนุมัติอีกครั้งหนึ่ง”

(๔) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๓/๒๔๙๙ วันจันทร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๙๙

(๕) ข้อความทั้งหมดเป็นลายมือบนกระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ ใต้คำว่า “นารถ” คำที่ ๒ มีขีดเส้นใต้ ๒ เส้น

Wednesday, September 13, 2006

สมัชชาแห่งชาติ ๒๕๑๖ (เชิงอรรถ ๖-๙)



(๖) ประชาธิปไตย ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖.

(๗) ประชาธิปไตย ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖.

(๘) ประชาธิปไตยและไทบรัฐรายงานข่าวมารุตทำหนังสือถึงประธานสภาทันทีในวันรุ่งขึ้น (๒๗) ขณะที่เดลินิวส์และบ้านเมืองรายงานวันถัดไป (๒๘) สยามรัฐ รายงานในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนเช่นกัน แต่เน้นที่การสัมภาษณ์ศิริเรื่องหนังสือของมารุต โดยศิริกล่าวว่าจะจัดประชุมตามคำขอหลังการประชุมสภาปรกติในวันที่ ๒๙ แต่ในส่วนข้อเรียกร้องนั้น “ไม่อาจจะออกความเห็นอะไรได้ เพราะต้องทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ต้องแล้วแต่บรรดาสมาชิกว่าจะเห็นสมควรกันอย่างไร” สยามรัฐกล่าวว่าได้สอบถามสมาชิกสภาหลายคน “ปรากฏว่าส่วนใหญ่โดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นข้าราชการประจำได้บอกว่า ยังไม่อาจจะตัดสินใจอะไรได้ ต้องแล้วแต่ความเห็นและมติของที่ประชุม”

(๙) ประชาธิปไตย ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๖.

สมัชชาแห่งชาติ ๒๕๑๖ (เชิงอรรถ ๑-๕)



(๑) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๖๑ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๖, ฉบับพิเศษ หน้า ๑-๑๑๐ รายชื่อที่ตีพิมพ์ต่อจากตัวบทคำประกาศใน ราชกิจจาบุเบกษา ฉบับนี้ มีทั้งหมด ๒๓๔๙ รายชื่อ ซึ่งไม่ตรงกับรายชื่อที่ถูกประกาศในคืนวันที่ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งมี ๒๓๔๖ รายชื่อ และในจำนวนนั้นมีรายชื่อบางคนที่เสียชีวิตแล้วรวมอยู่ด้วย ดังจะอธิบายข้างล่าง

(๒) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๓๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖

(๓) ข้อมูลที่ว่าศิริกำลังไปต่างประเทศ มาจากการบอกเล่าของสัญญา ใน วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน, หน้า ๒๑๙ : “เข้าใจว่าพระองค์ท่านทรงเลือกผมด้วยพระองค์เอง ไม่ทราบเลยว่าทรงปรึกษาใครบ้างหรือเปล่า และไม่ได้ตรัสบอกผมก่อนแม้แต่คำเดียว ผมมารู้เอาพร้อมๆกับคนอื่น เมื่อท่านประกาศทางโทรทัศน์นั่นเอง....ผมไม่ได้เฉลียวใจอะไรที่คุณทวี แรงขำ ซึ่งเป็นรองประธานสภาอยู่ ถูกเรียกตัวเข้าวังในวันนั้น เพื่อรับสนองพระบรมราชโองการ ตอนนั้น ประธานสภาคือ พล.ต.ศิริ ศิริโยธิน แต่อยู่เมืองนอก” ผมไม่แน่ใจว่า ทรงมีปัญหาไม่แน่พระทัยในความร่วมมือของศิริด้วยหรือไม่ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของถนอม ดูเหมือนจะเป็นการตัดสินเองโดยไม่ได้รับการขอร้องหรือบีบบังคับจากใคร ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ไม่น่าที่ศิริ ซึ่งเป็นลูกน้องถนอม ถ้ากลับจากต่างประเทศ จะไม่ยอมลงนามรับสนองฯการตั้งคนอื่นเป็นนายกแทน (ดูคำให้สัมภาษณ์ของถนอมเรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกต่อยศ สันตสมบัติ ใน อำนาจ บุคคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย, ๒๕๓๓, หน้า ๙๘-๙๙ และการบอกเล่าผ่าน ทรงสุดา ยอดมณี ลูกสาวของเขา ใน กังหันต้องลม, ๒๕๔๒, หน้า ๓๖๖-๓๖๙ – ดูเหมือนว่า เฉพาะการลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและการเดินทางไปต่างประเทศจึงเป็นพระราชประสงค์ของในหลวง) การที่ไม่ทรงรอศิริ จึงอาจเป็นเพียงพระราชประสงค์ที่ให้ได้นายกคนใหม่ทันทีเท่านั้น ไม่ใช่ไม่ไว้วางพระทัยในความร่วมมือของศิริ

(๔) สมัยหนึ่ง ฝ่ายซ้ายไทยมีการถกเถียงกันว่า ๒๔๗๕ มีความสำคัญเพียงใด ความเห็นที่ครอบงำขบวนการฝ่ายซ้ายจากทศวรรษ ๒๔๙๐ ถึงต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ คือ ๒๔๗๕ ไม่ประสบความสำเร็จ ในแง่การล้มล้างระบอบเก่าลงอย่างสิ้นเชิง (สังคม-การเมืองไทย ยังเป็น “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา”) หลังทศวรรษ ๒๕๒๐ ปัญญาชนที่ได้ชื่อว่า “ทวนกระแส” (ปัญญาชน “ซ้าย”?) หันมาให้ความสำคัญกับ ๒๔๗๕ ในแง่ที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “ประชาธิปไตย” คือแม้จะไม่ได้ทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ควรเอามาเป็นประเด็นวิจารณ์ เพราะประชาธิปไตย “ไม่ใช่การต่อสู้ฉากเดียวจบ” (ดู เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕”, วารสารธรรมศาสตร์, มิถุนายน ๒๕๒๕, หน้า ๖๒-๖๘) แต่ถ้าเรามองในแง่ของเป้าหมายรูปธรรมของ ๒๔๗๕ ที่ต้องการยกเลิกระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย – คือระบอบที่ทรงทำอะไรได้เอง เพราะเป็น “กฎหมาย” เอง หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช” – ถ้ามองในแง่นี้ ความล้มเหลว (หรือการ “ยังไม่สิ้นสุด” unfinished) ของ ๒๔๗๕ ก็มีมากกว่าที่ปัญญาชนหลังทศวรรษ ๒๕๒๐ จะยอมรับกัน ดูการอภิปรายเรื่องนี้อีกครั้งในตอนท้ายบทความนี้

(๕)
มาตรา ๖ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยเก้าสิบเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีวาระคราวละสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกแทนก็ได้ ในกรณีที่ได้ทรงแต่งตั้ง สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงครบตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

หยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหา (เชิงอรรถ)



(๑) ผมเริ่มสนใจกรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ครั้งแรก จากการอ่านการเล่าเรื่องนี้อย่างสั้นๆ (๑ หน้า) ใน David E. Streckfuss, “The Poetics of Subversion: Civil Liberty and Lèse-Majesté in the Modern Thai State.” Ph.D. Thesis, University of Wisconsin-Madison, 1998, pp. 110-111. ข้อสรุปของ Streckfuss คล้ายกับที่ผมเขียนข้างต้นคือ กรณีหยุดถูกกล่าวหา แสดงว่า “การอภิปรายสาธารณะ (public discourse) เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เริ่มเปลี่ยนไปสู่ลักษณะไม่เป็นเหตุเป็นผล (the insensible)” และ ใน ๓ หรือ ๔ ทศวรรษข้างหน้า การอภิปรายแม้แต่ในระดับเรียบๆไม่รุนแรงอย่างกรณีหยุดก็ “ถูกเบียดขับออกไปมากขึ้นๆจนเหลือเพียงข่าวลือและการแอบกระซิบกระซาบ” อย่างไรก็ตาม Streckfuss อ่านหลักฐานภาษาไทยบางชิ้นเกี่ยวกับกรณีหยุดไม่ถูกนัก และเขาไม่ได้สนใจเรื่องสถานะของกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ โดยตรง

(๒) ชาวไทย ๒๗ มกราคม ๒๔๙๙

(๓) สยามนิกร ๒๗ มกราคม ๒๔๙๙ ข้อมูลที่เหลือในย่อหน้านี้และย่อหน้าถัดไปทั้งหมดมาจากที่เดียวกัน

(๔) สยามนิกร ๙ ธันวาคม ๒๔๙๙

องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ (เชิงอรรถ)



(๑) แน่นอน ยังเป็นปัญหาว่า จะมีกรณีอาญาอย่างไรที่กษัตริย์อยู่พ้นการฟ้องร้องยังโรงศาลแต่อาจถูกวินิจฉัยโดยสภาได้ เพราะตามมาตรา ๗ กำหนดว่า “การกระทำใดๆของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” หมายความว่า กษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรด้วยพระองค์เอง ซึ่งถ้าเช่นนั้น การกระทำในนามกษัตริย์ ย่อมควรจะถูกฟ้องร้องยังโรงศาลได้ เพียงแต่ฟ้องผู้ร่วมลงนาม ไม่ใช่ฟ้องกษัตริย์ ถ้าเช่นนั้นก็น่าจะเหลือกรณีที่กษัตริย์ทำด้วยพระองค์เองได้โดยไม่ต้องมีผู้ลงนามร่วม คือเรื่องที่มีลักษณะ “ส่วนตัว” ซึ่งจะไม่มีผู้ถูกฟ้องแทน ผมได้อภิปรายประเด็นนี้ใน “กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๘, หน้า ๑๑๖-๑๑๘ และเชิงอรรถที่ ๑๙. ในบทความนั้นผมได้ยกกรณี “เรื่องภายในครอบครัว” ผมพบภายหลังว่าในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๒ มีสมาชิกสภาบางคนยกตัวอย่างเรื่องพระมหากษัตริย์ขับรถชนคนตาย (“ตัวอย่างถ้าเผื่อท่านขับรถยนต์ไปชนเขาตายอย่างนี้”) รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔ วันเสาร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๒, หน้า ๑๘๕.

(๒) ในกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ฉบับแรก “พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูด ฤาเขียน ถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๘” ไม่มีข้อกำหนดให้ “เคาพสักการะ” กษัตริย์ แต่มีข้อห้าม “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล” (มาตรา ๔) และ “ผู้ใด...ยุยงส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายคิดเอาใจออกห่างจากความซื่อสัตย์สวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงค์สยามรัฐมณฑล” (มาตรา ๕ ข้อ ๑) ในทำนองเดียวกัน ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ที่ออกต่อมา มีข้อห้าม “ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (มาตรา ๙๘) และ “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยประการใดๆ โดยเจตนา...เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดี หรือดูหมิ่นต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (มาตรา ๑๐๔) ซึ่งอาจตีความในทางกลับกันได้ว่า เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของพลเมืองที่จะต้องมี “ความซื่อสัตย์สวามิภักดิ์” (ร.ศ. ๑๑๘) และ “ความจงรักภักดี” (ร.ศ. ๑๒๗) ต่อกษัตริย์ แต่ในปี ๒๔๗๐ ข้อความตอนนี้ของกฎหมายอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “เพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” คือตัด “ความจงรักภักดี” ออกไป ผมเห็นว่า การห้ามหมิ่นประมาท (ซึ่งห้ามกระทำไม่เพียงต่อกษัตริย์ แต่ต่อคนธรรมดาทั่วไป) ไม่เหมือนกับการกำหนดบังคับว่าต้องจงรักภักดีหรือเคารพสักการะ เท่าที่ผมทราบ ในสมัยสมบูรณญาสิทธิราช ไม่มีกฏหมายที่ระบุอย่างชัดเจนถึงระดับที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

(๓) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕, หน้า ๓๗๕-๓๗๗ (การเน้นคำเป็นไปตามต้นฉบับ) ตัวรายงานจริงพิมพ์ผิดข้อความของมาตรา ๓ ที่แก้ใหม่ ซึ่งประธานสภาอ่านให้สมาชิกฟังเพื่อลงคะแนน (ย่อหน้าสุดท้ายในรายงานที่อ้างข้างต้น) ว่า “พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คือตกคำว่า “องค์” ตอนต้นประโยค ผมแก้ไขเติมให้ถูกต้อง

(๔) ดูบันทึกของปรีดี พนมยงค์ ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ใน ข่าวจัตุรัส ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๐ วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๕, หน้า ๑๖-๒๐ และใน ปรีดี พนมยงค์ มหาราชและรัตนโกสินทร์ (โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, ๒๕๒๕, หน้า ๔๕-๕๒. ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการมีอยู่ของบันทึกฉบับนี้และของข้อเสนอ (ของพระยามโน) ที่จะประกาศยกย่องพระปกเกล้าเป็น “มหาราช” ในช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ปรีดีเปิดเผยเรื่องนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของการคัดค้านการที่มีผู้เสนอในช่วงปลายปี ๒๕๒๔ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในต้นปี ๒๕๒๕ ให้ประกาศยกย่องพระพุทธยอดฟ้าเป็น “มหาราช” ในบันทึกฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ปรีดีเขียนว่า
ข้าพเจ้าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในหลักการที่จะถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯให้สูงยิ่งขึ้นเพราะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยให้ได้มีระบบการปกครอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนหลักมูลที่ก้าวหน้า

แต่การที่จะถวายพระเกียรติยศทรงเป็นเพียง “มหาราช” นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามิใช่เป็นการเพิ่มพระเกียรติที่ทรงมีอยู่แล้วเท่านั้น หากยังเป็นการลดพระเกียรติที่พระองค์ทรงมีอยู่ก่อนแล้ว
(๕) ดูตัวอย่างการอธิบายแบบแก้ต่างความจำเป็นของการต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนิธิ เอียวศรีวงศ์, “หนวดฮิตเลอร์กับการปกป้องสถาบันฯ” ๗ มีนาคม ๒๕๔๕ (การเน้นคำของผม): “ส่วนหนึ่งของเจตนารมณ์ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นก็คือ ในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ จะปล่อยให้องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ต้องออกมาฟ้องคดีหมิ่นประมาทกับเอกชนย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่งามด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐในอันที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์” สำหรับนักประวัติศาสตร์ชั้นนำ ที่พูดเรื่อง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” จนติดปาก การพูดถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในลักษณะนี้นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ กฎหมายนี้ไม่เพียงเป็นกฎหมายของสมบูรณาญาสิทธราช ซึ่งก็คือเป็นส่วนหนึ่งของระบอบกฎหมายที่ค้ำจุนโครงสร้างทางอำนาจแบบเผด็จการจารีตเท่านั้น หลัง ๒๔๗๕ การดำรงอยู่ของกฎหมายนี้ก็เป็นมากกว่าเพื่อเหตุผลไร้เดียงสาประเภทป้องกันความ “ไม่งาม” อันจะเกิดจากการที่กษัตริย์และราชวงศ์ต้องออกมาฟ้องคดีหมิ่นประมาท แล้วเหตุใดจึงควรจะถือเป็นเรื่อง “ไม่งามด้วยประการทั้งปวง” ถ้าจะมีการฟ้องร้องของราชวงศ์จริงๆ? ทำไมจึงเป็นเรื่อง “เป็นไปไม่ได้” ในเมื่อราชวงศ์ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกทั่วไป ก็ต้องอาศัยการฟ้องร้องนี้เช่นกัน? ถ้าราษฎรไทยรู้สึกเดือดร้อนจากการถูกละเมิด ต้องอาศัยกระบวนการฟ้องร้อง ทำไมเจ้าจึงทำไม่ได้? การเสนอให้รัฐใช้กฎหมายนี้ “ป้องกันมิให้มีการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์” เป็นเรื่อง “งาม” กว่า? และที่ผ่านมา มองในเชิง “โครงสร้าง” และการปฏิบัติที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ กฎหมายนี้มีไว้เพื่อเหตุผลนี้จริงหรือ?

Monday, September 11, 2006

ความพยายามเข้าเฝ้าที่สวิตเซอร์แลนด์ (เชิงอรรถ)



(๑) การรับพระราชทานคำให้การที่สวิตเซอร์แลนด์โดยไม่มีฝ่ายจำเลยเข้าร่วมด้วย เป็นประเด็นหลักที่ปรีดี พนมยงค์ใช้เป็นข้ออภิปรายว่า การพิจารณาคดีสวรรคตทั้งหมดควรถือเป็นโมฆะ เพราะผิดกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญา แต่เขาเข้าใจผิดว่า การเข้าเฝ้ารับพระราชทานคำให้การที่สวิตเซอร์แลนด์โดยไม่มีจำเลยอยู่ด้วย รวมถึงกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความจริงคือ ในหลวงทรงพระราชทานคำให้การในประเทศไทยโดยมีฝ่ายจำเลยเข้าร่วมฟังและซักค้านด้วย เฉพาะกรณีสมเด็จพระราชชนนีเท่านั้นที่เข้าข่ายข้ออภิปรายของปรีดี ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “๕๐ ปี การประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ (เมษษยน-มิถุนายน ๒๕๔๘), หน้า ๖๖-๖๗ เชิงอรรถที่ ๒

Sunday, September 03, 2006

พระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ (เชิงอรรถ)



(๑) ดูบทความของผมเรื่อง “ความพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อสืบพยานคดีสวรรคต ๒๔๙๓

(๒) บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ (คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์, ๒๕๔๖) ตัวบทพระราชดำรัสให้การของในหลวงองค์ปัจจุบันและพระราชชนนีอยู่ที่หน้า ๓๑๙-๓๕๓. ระยะเวลาที่ ๒ พระองค์ทรงให้การเป็นโดยประมาณเท่านั้น เช่น ไม่สามารถนับเวลาที่ใช้ระหว่างย้ายการไต่สวนจากห้องบรรทมมาที่ห้องรับแขกชั้นล่าง (ดูข้างหน้า) หรือ จาก ๑๕.๒๐ ถึง ๑๕.๔๐ นาฬิกา ซึ่งบันทึกว่าเป็นช่วงสมเด็จพระราชชนนีทรงให้การนั้น ความจริง ในตอนท้าย กรรมการได้กลับไปถามในหลวงองค์ปัจจุบันและในหลวงทรงตอบอีกหลายประโยค เป็นต้น ตัวอย่างการตีพิมพ์ซ้ำที่สำคัญ ได้แก่ สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ (๒๕๑๗), หน้า ๘๒-๑๑๓.

(๓) ผมไม่สามารถหาต้นฉบับในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ได้ ในที่นี้ใช้ฉบับที่ตีพิมพ์ซ้ำใน ดำริห์ ปัทมะศิริ, ในหลวงอานันท์ฯกับปรีดี (สำนักพิมพ์รัชดารมภ์, ๒๔๙๓), หน้า ๓๐๕-๓๑๕.

(๔) ดูการอภิปรายเหตุการณ์นี้ได้ใน “เราสู้ หลัง ๖ ตุลา” ซึ่งเป็น “ภาคผนวก” ของบทความเรื่อง “เราสู้ เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองไทยปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙” ของผม ฉบับปรับปรุงใหม่ (ยังไม่ตีพิมพ์)

(๕) แน่นอนว่า บริบทของการทรงให้การ ๒ ครั้ง ต่างกันอย่างมาก ในกรณี “ศาลกางเมือง” เป็นการสอบสวนเพื่อหาคำตอบว่า “เกิดอะไรขึ้น” มากกว่าเพื่อเอาผิดใคร และแม้กรรมการที่ตั้งขึ้นจะมีความ “เป็นกลาง” หรือ “เป็นอิสระ” แต่ก็เป็นกรรมการที่รัฐบาลปรีดี ตั้งขึ้น ขณะที่คดีสวรรคตเป็นการฟ้องร้องและสืบพยานของฝ่ายรัฐบาลคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และพวกนิยมเจ้า เพื่อกล่าวโทษเอาผิดต่อผู้ต้องหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล่าวโทษเอาผิดต่อปรีดี ในกรณีแรก ทรงให้การในฐานะพยานผู้มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ กรณีหลังในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ผมคิดว่า ปัจจัยต่างๆเหล่านี้สามารถอธิบายความแตกต่างเปลี่ยนแปลงของคำถามของผู้ถาม ซึ่งมีส่วนต่อการกระตุ้น (soliciting) ให้ได้มาซึ่งคำตอบในลักษณะ “กลางๆ” กับลักษณะ “กล่าวหา” (accusatory) ที่ต่างกันของ ๒ กรณี แต่ไม่ถึงกับอธิบายความแตกต่างเปลี่ยนแปลงของคำตอบได้ทั้งหมด ปัจจัยด้านความแตกต่างในวิธีการบันทึกคำให้การของ ๒ กรณี (“ศาลกลางเมือง” ใช้การจดแบบ “คำต่อคำ” ทั้งคำถามและคำตอบ ศาลอาญาใช้การจดเฉพาะคำตอบ แล้วเรียบเรียงใหม่) ที่ผมอภิปรายข้างล่างก็เช่นเดียวกัน

(๖) คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ (กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๓), หน้า ๗๓.

(๗) ปรีดีเสนอความเห็นนี้ในหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ (คือในคำฟ้องศาลของเขาในคดีหมิ่นประมาท ต่อหนังสือของชาลี เอี่ยมกระสินธ์) ผมได้อภิปรายเรื่องนี้ในบทความ “๕๐ ปี การประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ (เมษษยน-มิถุนายน ๒๕๔๘), หน้า ๖๖-๖๗ เชิงอรรถที่ ๒

(๘) สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (โรงพิมพ์สุวรรณภูมิ, ๒๕๑๗), หน้า ๑๒๑ สุพจน์ตีพิมพ์ย่อหน้า [2] ของพระราชดำรัสให้การ ในหน้า ๑๒๗ โดยเน้นข้อความในพระราชดำรัสที่ว่า “ต่อจากนั้น ฉันได้เดินไปห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้” และดูการอภิปรายเพิ่มเติมของเขาที่หน้า ๑๔๙ และ ๑๕๐-๑๕๑

Tuesday, June 27, 2006

"ท่านชิ้น" (เชิงอรรถ)



(๑) ฉากเหตุการณ์ทรงต้องพระแสงปืนอย่างไรในลักษณะคล้ายๆกับที่ “ท่านชิ้น” เสนอ (แต่ไม่ละเอียดเท่านี้) ได้เคยถูกเสนอมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยชิต สิงหเสนี ซึ่งภายหลังตกเป็นจำเลยในคดีสวรรคตและถูกประหารชีวิต ในระหว่างให้การเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ต่อ “คณะกรรมการสอบสวนพฤฒิการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ที่รัฐบาลปรีดีตั้งขึ้นในปีนั้น ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลกลางเมือง” ชิตได้วาดเหตุการณ์สวรรคต ดังปรากฏในบันทึกการสอบสวนดังนี้ “ประธานกรรมการฯได้ขอให้พยาน [ชิต] ลองวาดภาพการแอ็กซิเดนท์ตามคำให้การของพยานว่า พยานคาดว่าจะเกิดแอ็กซิเดนท์ขึ้นในประการใด พยานได้ทำท่าให้ดูตามที่พยานนึกเอา แล้วบอกว่า บางทีขณะที่พระองค์ถือส่องดูพระแสงปืนนั้น เนื่องจากทรงอิดโรยเพราะกำลังประชวร ปืนอาจจะหล่นจากพระหัตถ์แล้วพระองค์ทรงตะปบคว้าปืนด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ปืนจึงอาจะลั่นออกมาได้ และโดนพระองค์เข้า ภาพที่พยานวาดให้กรรมการฟังนี้ พยานว่า พยานคิดดังนี้ แต่อย่างอื่นไม่เคยคิด” (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, ๒๕๔๖, หน้า ๙๑) เป็นไปได้ว่า “ท่านชิ้น” อาจจะทรงได้ความคิดอธิบายแบบนี้ครั้งแรกจากคำให้การของชิตก็ได้ ความจริงคือในสมัยนั้น มีการพูดคุยคาดเดาไปต่างๆนานาอย่างกว้างขวางว่า ทรงสวรรคตอย่างไร คนที่คิดว่าการสวรรคตอาจเกิดขึ้นได้โดยอุบัติเหตุในทำนองนี้จึงคงไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ “ท่านชิ้น” (หรือชิต สิงหเสนี) เพียงคนเดียว

(๒) เกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับไทยอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคต ดู William Stevenson, The Revolutionary King (2001) pp. 63-64, 95, 144-147, 155 สตีเวนสันกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยภาษาที่รุนแรงยิ่งกว่าข้อเขียนของลูกสาว “ท่านชิ้น” ที่ผมยกมาข้างต้นเสียอีก (โดยเฉพาะประโยคที่อ้างว่าเป็นของกษัตริย์อังกฤษในการให้เหตุผลปฏิเสธการพบกับในหลวง ซึ่งสตีเวนสันยกมาถึง ๒ ครั้ง) สตีเวนสันเล่าการเสด็จเยือนไทยของเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเค้นท์ในฐานะราชอาคันตุกะของในหลวง ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการคืนดี (reconciliation) จากความบาดหมางนี้ (pp. 146-147) ทำให้ผมคิดขึ้นมาว่า การที่ทรงเจาะจงเลือกบ้านไร่ของ “ท่านชิ้น” ในการนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราเสด็จไปพักผ่อน อาจจะไม่ใช่เรื่องไม่มีการเมืองเสียเลยก็ได้ (แต่สตีเวนสันไม่ได้พูดถึง “ท่านชิ้น” ในการเล่าการเสด็จเยือนของอเล็กซานดรา และทายาท “ท่านชิ้น” เองก็ไม่ได้เชื่อมโยงการเยือนนี้กับความเข้าใจผิดก่อนหน้านั้นระหว่างราชวงศ์อังกฤษ-ในหลวง-“ท่านชิ้น” ในกรณีสวรรคต)

การสนทนาระหว่างลอร์ดหลุยส์เมานท์แบทเทนกับพระองค์เจ้าธานี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ราชสำนักไทยทราบข่าวลือในแวดวงราชสำนักอังกฤษ ซึ่งลูกสาว “ท่านชิ้น” เล่าข้างต้น คือกรณีเดียวกับที่ปรีดีเอ่ยพาดพิงถึง (แต่ไม่เล่ารายละเอียด) ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕) พิมพ์ครั้งที่ ๒ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ๒๕๓๕, หน้า ๘๕.

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๒๖ - ๓๘)



(๒๖) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ รายงานว่า บุญสม ปัทมศรินภรรยากล่าวกับนักข่าวว่า “โธ่ ทำไมยิงเขาตั้ง ๓ ชุดไม่รู้ ปกติคุณบุศย์แกเป็นคนขี้โรคอยู่แล้ว รูปร่างก็อ้อนแอ้นยังกับผู้หญิง ดิฉันจะเข้าไปดูศพผู้ใหญ่เขาก็ห้ามไว้ กลัวดิฉันจะเป็นลม ดิฉันไปดูตอนเขามัดตราสังข์ เข้าไปกอดคว้า เห็นเนื้อตัวเหลวไปหมด หาชิ้นดีอะไรไม่ได้เลย คลำหามือไม่พบ เข้าใจว่าถูกยิงขาดไปด้วย”

(๒๗) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๘) เช้า วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๙) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ “ร.ม.ต. เผ่า วิสาสะ – ในขณะที่เฉลียว ชิต บุศย์ กำลังถูกควบคุมตัวภายหลังจากที่ได้ฟังพระเทศน์แล้ว อธิบดีเผ่าได้ถือโอกาสเข้าไปสนทนาและปลอบโยนในห้องขังด้วยตนเองประมาณ ๑๐ นาที จึงได้กลับออกมานอกห้อง”

(๓๐) เช้า วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๓๑) ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร ๒๕๐๐”, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (๒๕๔๔), หน้า ๓๑-๓๕.

(๓๒) ดูจดหมายทั้งฉบับใน คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ (๒๕๔๓), หน้า ๒๑๗ ตอนต้นของจดหมาย ปรีดีได้ท้าวความถึงคำของจอมพล ป ที่ฝากผ่านมาในจดหมายของสังข์ว่า “ผมมีความยินดีมากที่ได้ทราบจากคำยืนยันของคุณว่า ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามมิได้เป็นศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอและอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ” น่าเปรียบเทียบ ท่าทีของจอมพลต่อปรีดีนี้กับการอภิปรายในสภาเมื่อ ๑๒ เดือนก่อนหน้านั้น ที่อ้างในเชิงอรรถที่ ๖ ข้างต้น

(๓๓) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๓๔) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕๓/๒๔๙๘ วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๘

(๓๕) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๑/๒๔๙๓ วันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๓

(๓๖) จอมพล ป.ให้การในฐานะพยานโจทก์เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ตามรายงานของ สยามนิกร ฉบับวันต่อมา เขาได้กล่าวต่อศาลตอนหนึ่งว่า “ก่อนเสด็จสวรรคตประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ พล.ต.ต.เผ่า ได้มาบอกกับพยานว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เข้าเฝ้า ซึ่งพล.ต.ต.เผ่าบอกแต่เพียงว่า ในหลวงต้องการพบ พลตรีเผ่า ได้ทราบมาจากในวัง ซึ่งพยานเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร พยานได้บอกกับพล.ต.ต.เผ่าว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระประสงค์เช่นนั้น พยานก็ยินดีที่จะเข้าเฝ้า พยานได้ให้พล.ต.ต.เผ่า ไปตกลงว่าจะให้เข้าเฝ้าที่ไหนและเวลาไร แล้วพล.ต.ต.เผ่าก็ได้มาแจ้งให้ทราบ ซึ่งพยานได้ตอบไปว่า ที่ไหนก็ได้ ตามความสะดวกของพระองค์ เมื่อก่อนในหลวงสวรรคต ประมาณ ๑ สัปดาห์ ว่าจะให้เข้าเฝ้าที่วังสระปทุม หรือในวังหลวงที่พระที่นั่งบรมพิมาน พยานจำไม่ได้แน่ ต่อมาเรื่องก็เลยเงียบไป จนกระทั่งในหลวงสวรรคต” ผมตีความว่า ฝ่ายโจทก์พยายามสร้างภาพปรักปรำปรีดี ในลักษณะเดียวกับที่พวกนิยมเจ้าชอบสร้างข่าวลือที่รู้จักกันดีว่าปรีดีไม่พอใจในหลวงอานันท์อย่างมาก ต่อการที่ในหลวงอานันท์ทรงเสด็จเยาวราชโดยการนำเสด็จของควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือพยายามจะบอกว่า ปรีดีอาจไม่พอใจที่ในหลวงอานันท์ทรงติดต่อกับจอมพล ป.เช่นเดียวกัน

(๓๗) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘/๒๔๙๗ วันพุธที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๙๗

(๓๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 15/2497 วันพุธที่ 3 มีนาคม 2497

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑๗ - ๒๕)



(๑๗) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๙/๒๔๙๗ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ ผมไม่พบว่ามีการนำเรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตเข้าสู่การพิจารณาอีก (“ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร”) แต่ ๑๐ เดือนต่อมา มีการเสนอเรื่องการเลื่อนบำเหน็จอีก ดูภาคผนวกท้ายบทความนี้

อันที่จริง คดีสวรรคตถูกพาดพิงถึงในอีกวาระหนึ่ง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีเลย แต่มีความน่าสนใจในตัวเองอยู่บ้าง คือ ในการประชุมวันที่ ๓๑ มกราคม มีวาระชื่อ “นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญจะมาประเทศไทย” เนื้อหาของวาระคือ เอกอัครราชทูตไทยประจำลอนดอนรายงานมาว่า นาย Kingsley Martin บรรณาธิการ New Statesman and Nation จะเดินทางมาแวะพักในกรุงเทพเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ “เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูง ทั้งนี้คงจะมาติดตามข่าวการประชุม SEATO และคดีกรณีสวรรคต ซึ่งมีคำพิพากษาเสร็จแล้วนั้นด้วย” เอกอัครราชทูตรายงานว่า “บุคคลผู้นี้เขียนบทประพันธ์แสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของรัฐบาลและราชวงศ์อยู่เสมอ” จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าจะออกวีซ่าให้หรือไม่ แต่กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้เข้ามาได้ จึงโทรเลขอนุมัติให้สถานทูตในลอนดอนออกวีซ่าให้แล้ว ครม.เพียงแต่ลงมติ “ทราบ” (หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๙/๒๔๙๘ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘)

(๑๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๓/๒๔๙๘ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๑๙) เช้า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๐) สยามนิกร วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ต้นฉบับพิมพ์ผิดว่า “คุณบุญส่ง (ภรรยาคุณชิต)” ผมแก้ให้ถูกต้อง

(๒๑) พิมพ์ไทย ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๒) หัวข้อนี้ ผมเรียบเรียงจากรายงานในหนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้น ๓ ฉบับคือ พิมพ์ไทย, สยามนิกร และ เช้า (ฉบับแรกมากที่สุด) ซึ่งโดยทั่วไปไม่แตกต่างกันนัก เช่น มีการนิมนต์พระมาเทศน์, เผ่าเดินทางมาสังเกตการณ์, มีการอ่านคำพิพากษา เป็นต้น ยกเว้นในแง่ลำดับขั้นตอนที่เกิดขึ้นก่อนหลังและในรายละเอียดบางประการ ในกรณีเช่นนี้ ผมจะระบุว่าผมเขียนจากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ฉบับไหน

(๒๓) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๔) ผมถือตาม เช้า (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) ที่ลำดับการอ่านคำพิพากษาก่อนพระเทศน์ ต่างกับ พิมพ์ไทย (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) ที่ให้พระเทศน์จบแล้วจึงอ่านคำพิพากษา แม้ว่าโดยทั่วไปผมจะเล่ารายละเอียดของแต่ละขั้นตอนโดยถือตามพิมพ์ไทย ซึ่งรายงานละเอียดที่สุด เหตุผลของผมคือ (๑) ผมคิดว่าโดยสามัญสำนึก การบอกนักโทษว่าจะประหาร ควรมาก่อนการให้ฟังเทศน์ (มิเช่นนั้น เหตุใดจึงให้มานั่งฟังเทศน์ดึกๆดื่นๆ!) และ (๒) ทุกฉบับรายงานตรงกันว่า เผ่ากับบริวารมาถึงเมื่อพระเทศน์จบพอดี ถ้าหลังเทศน์ยังมีการอ่านคำพิพากษาอีกว่า ๑ ชั่วโมง เผ่าก็ต้องนั่งรอ (เพราะเขาอยู่ดูการประหาร) ผมไม่คิดว่าเขาจะขยันมาล่วงหน้านานขนาดนั้น

(๒๕) สยามนิกร วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘