Friday, November 16, 2007

"เราสู้" (เชิงอรรถ 8 - 15)



(8) หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสนี้แล้ว, วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งมีสาระไม่แตกต่างกัน เพียงแต่สั้นกว่ามาก (ตามพระราชประเพณี): “คนไทยมีชาติมีประเทศอันตั้งมั่นโดยอิสระและเสรีมาช้านาน…แต่ในปัจจุบันนี้ มีสภาวการณ์หลายอย่างทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นเหตุบีบคั้นคุกคามความมั่นคงปลอดภัยและอิสรภาพของเรามากขึ้นทุกวัน จำเป็นที่ทุกคนจะต้องต่อสู้ป้องกัน เพื่อรักษาชาติประเทศและความเป็นไทยไว้มิให้เสื่อมสลาย ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ทุกฝ่ายยืนหยัดขึ้นต้านทานวิกฤตการณ์ทั้งนั้น”

(9) ด้วยการพาดหัวตัวโต 3 บรรทัด: เทิดพระเกียรติ ร.9 'จอมราชัน' ทุกสารทิศถวายพระพร, ตามด้วยหัวรองว่า “เผยพระราชกรณียกิจสำคัญ เสด็จทุกแห่งที่ประชาชนมีภัย” ที่เหลือของหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์. ประชาธิปไตย วันที่ 5 ธันวาคม 2518 เป็นอีกฉบับที่ชวนให้แปลกใจ เพราะไม่มีข่าวพระราชดำรัสวันที่ 4 เลย ทั้งๆที่โดยปกติเป็นหนังสือพิมพ์ประเภท broadsheet เน้นข่าวการเมืองแบบซีเรียสจริงจัง ส่วน สยามรัฐ งดตีพิมพ์ในวันนั้น

(10) ในหนังสือ ธ สถิต, หน้า 333 มีการเล่า “เกร็ด” การพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “เราสู้” ว่าทรง “เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย…หยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น” เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดขึ้นในวันปีใหม่ 2517 พอดี โดยกล่าวว่า “เกร็ด” นี้มาจากคำบอกเล่าของ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขณะเดียวกัน ก็กล่าวว่า “ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเสร็จใหม่ๆ ได้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียงและโปรดเกล้าให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงก่อน ภายหลังจากที่วง อ.ส.วันศุกร์บรรเลงแล้ว ได้ทรงนำกลับไปแก้ไขและเรียบเรียงขึ้นใหม่ก่อนจะพระราชทานออกมาใหม่ เพลงรุ่นหลังๆนี้มีพระราชประสงค์ให้นักดนตรีทุกคนมีส่วนเข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขทำนอง มีพระราชดำรัสว่า การแต่งแบบนี้เรียกว่า ‘การแต่งแบบสหกรณ์’…” ความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างหนังสือ 2 เล่ม อาจสรุปได้ดังนี้

ธ สถิต: พระราชนิพนธ์บนซองจดหมายแบบฉับพลัน, พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี เรียบเรียง, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์บรรเลงก่อน, ทรงนำกลับไปแก้ไขโดยนำความเห็นของนักดนตรีมาประกอบ แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา

ดนตรี: พระราชนิพนธ์บนซองจดหมายแบบฉับพลันในวันปีใหม่ 2517, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์ที่กำลังบรรเลงอยู่ในวันนั้นที่บางปะอิน บรรเลงก่อน, ทรงนำกลับไปแก้ไข, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง, ทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

(11) เนื้อหาของการ์ดฉบับนี้ คือ กลอนภาษาไทย “นักรบใด ใจมั่น พลันเริงร่า” ซึ่งการ์ดระบุในบรรทัดสุดท้าย ต่อจาก “ก.ส. 9 ปรุ/ส่ง” ว่า “(จากหนังสือ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”)” อาจจะสงสัยว่าหนังสือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2536 การ์ด ส.ค.ส. ที่มีกลอนนี้จะเป็นการ์ด ส.ค.ส. ปี 2521 ได้อย่างไร? ความจริง ทรงเริ่มแปล A Man Called Intrepid ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2520 (เฉลิมพระเกียรติ, หน้า 119; ทรงแปลเสร็จวันที่ 25 มีนาคม 2523) เนื่องจากกลอนของ William Wordsworth นี้อยู่ในหน้าแรกของหนังสือ จึงเป็นไปได้ว่าจะทรงเริ่มแปลเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น การที่กลอนแปลนี้ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นในเดือนธันวาคมปีนั้น นับว่าสอดคล้องในเรื่องเวลาอย่างยิ่ง

(12) ดูพระราชดำรัสนี้ได้ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท…ปีพุทธศักราช 2518, หน้า 365-366. ทรงรับสั่งตอนหนึ่งว่า “ประเทศของเราต้องประสบความวิกฤตด้านต่างๆติดต่อกันมาเป็นเวลานานพอสมควร ทำให้เกิดหวั่นวิตกกันไปว่าจะต้องประสบเคราะห์กรรมและอันตรายต่างๆอย่างร้ายแรง ความจริง…สถานการณ์ในบ้านเมืองของเรานั้นนับว่ายังดีอยู่…ไม่ควรที่เราจะตื่นตกใจจนเกินไป” บ้านเมือง 1 มกราคม 2519 พาดหัวตัวโตว่า: ในหลวงพระราชทานพรปีใหม่ วิกฤตต่างๆยังดีอยู่ เชื่อชาติไทยไปรอด; ไทยรัฐ: พระราชดำรัสทรงอำนวยพรปวงชน ทรงเตือน ‘อย่าตื่นตระหนก’; เดลินิวส์: พระพรวันปีใหม่ ‘บ้านเมืองเรายังดีอยู่ ไม่ควรตื่นตกใจ’; ดาวสยาม: พระราชดำรัสวันปีใหม่ ‘อย่าตกใจ’ บ้านเมืองเรายังดีอยู่; ประชาธิปไตย: พระราชดำรัสในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทรงให้ชาวไทยหนักแน่น-สามัคคี; Bangkok Post: King calls for unity; The Nation: The King’s Message PANIC WILL ONLY LEAD TO CHAOS.

(13) เมื่อผมตีพิมพ์บทความนี้ครั้งแรกในปี 2544 ผมไม่ทราบว่าทรงใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขทำนองนานเพียงใด ทราบแต่ว่า มีการนำเพลง “เราสู้” ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังการเมืองฝ่ายขวาในขณะนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2519 หลักฐานแรกสุดที่ผมมีในตอนนั้น คือการอ้างถึงบางตอนของเพลงนี้ โดยหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม เพื่อตอบโต้นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ในต้นเดือนกรกฎาคม “แม้ว่าโดยส่วนตัว ผมคิดว่า ‘เราสู้’ น่าจะเป็นที่รู้จักกันแล้วก่อนหน้านั้นเล็กน้อย” (ผมเขียนเช่นนี้ในปี 2544 – กรณีดาวสยามกับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ ดูหัวข้อถัดไปข้างล่าง) หลังจากบทความของผมตีพิมพ์ได้ไม่นาน ผมจึงทราบว่าตัวเองเลินเล่อตกหล่นด้านหลักฐานข้อมูลอย่างชนิดน่าอับอายมาก (ในฐานะนักประวัติศาสตร์อาชีพ) ในงานวิจัยเรื่อง “พิทักษ์โลกเสรี: คำอธิบายและการจัดการความจริงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีสงครามเวียดนาม” ของ พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ซึ่งผมอ้างถึงก่อนหน้านี้ (เชิงอรรถที่ 7 ข้างต้น) มีการอ้างอิงรายงานข่าวเรื่องเพลง “เราสู้” ใน ดาวสยาม ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ที่เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าในหลวงใช้เวลาในการปรับปรุงทำนองนานเท่าใดและมีการเผยแพร่เพลงนี้ต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อไร (อยู่ในหน้า 116-117 ของงานวิจัยฉบับร่าง) ด้วยอานิสงค์ของงานวิจัยของพวงทองดังกล่าว ผมจึงได้ตามไปอ่าน ดาวสยาม ฉบับนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเพลง “เราสู้” เพิ่มเติม ดังที่บรรยายข้างล่าง

(14) กรณี รต. สิรินธร กีรติบุตร รน., “เพลงปลุกใจไทย (พ.ศ. 2475-2525): การวิเคราะห์ทางการเมือง.” วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2528, หน้า 117 ที่ระบุว่า เพลงนี้เผยแพร่ในช่วงปี 2520-2525 นั้น ผิดอย่างแน่นอน

(15) ดาวสยาม 11 กรกฎาคม 2519, หน้า 4 คอลัมน์ “บุคคลในข่าว” ของ “กะแช่”: “เราสู้! ถึงใครจะขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น! สู้มันที่นี่!! สู้มันตรงนี้!!!…” และหน้า 5 คำบรรยายใต้ภาพการชุมนุมหน้าสำนักงาน ดาวสยาม: “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ฯลฯ”

"เราสู้" (เชิงอรรถ 1 - 7)



(1) สิบปีต่อมา ในวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ทรงมีพระราชดำรัสถึงความเป็นมาของงานนี้อีกครั้งดังนี้: “แต่ก่อนนี้ในงานวันเกิดก็มีการออกมหาสมาคมอย่างเดียว คือเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่ในราชการได้มาให้พรที่พระที่นั่งอมรินทร์ ต่อมาก็มีการมาให้พรที่สวนจิตรลดานี้ในวันที่ 5 หลังจากมหาสมาคม ซึ่งมีผู้แทนของเอกชน ของโรงเรียน ของสมาคม และกลุ่มต่างๆได้มาให้พรอีกคำรบหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้น ก็ได้มีการให้พรนอกจากที่มหาสมาคมและหลังจากมหาสมาคม ก็มีการให้พรของกลุ่มศาสนาต่างๆที่มีอยู่ในประเทศ และกลุ่มเกี่ยวข้องกับการศึกษา คือของผู้ที่กำลังเรียนตั้งแต่ชั้นโรงเรียน ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนกระทั่งถึงขั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย แยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่งในวันที่ 4 เช่นในวันนี้ ต่อมาเห็นว่าการที่ได้พบในรายการที่เรียกว่าอนุสมาคม 2 รายการก็ทำให้ต้องใช้เวลามาก เพราะว่าในวันที่ 5 ธันวาคมหลังจากมหาสมาคมก็ทำให้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และจะต้องไปงานในตอนบ่ายอีก จึงรวมหมดมาวันที่ 4 เช่นวันนี้ มีทั้งข้าราชการ ทั้งสมาชิกสโมสร สมาคม โรงเรียน สมาชิก คณะศาสนาต่างๆและอื่นๆมาในวันที่ 4 นี้ แต่ก็ยังมีคณะต่างๆที่ได้พบกันที่บนตำหนักสวนจิตรลดานี้ มาทีหลังก็เลยรวมหมด เพราะว่าใครก็ตามที่มาให้พรก็พร้อมกันมา จนกระทั่งมาเป็นการให้พรเช่นที่เห็นกันวันนี้”

(2) ในสมัยสฤษดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสที่มีลักษณะการเมือง สนับสนุนรัฐบาล และที่สำคัญคือแอนตี้คอมมิวนิสม์หลายครั้ง เช่น ในโอกาสปีใหม่ 2505:
สถานการณ์ภายในของชาติบ้านเมืองนั้นโดยทั่วไปก็กล่าวได้ว่าได้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆในขวบปีมาแล้ว แม้จะมีอุทกภัยอัคคีภัยในท้องที่บางแห่ง ก่อความเสียหายและความทุกข์ยากขึ้นบ้าง แต่ภัยเหล่านี้ก็ย่อมได้รับการควบคุมให้อยู่ในขอบเขตและบรรเทาลง ถ้าท่านทั้งหลายและเจ้าหน้าที่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันระมัดระวังป้องกันให้มาก อนึ่งรัฐบาลก็พยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศชาติ และลงมือปฏิบัติตามโครงการต่างๆเพื่อการนี้อยู่แล้ว ถ้าท่านทั้งหลายให้ความร่วมมือในการนี้แก่ทางราชการด้วย ก็จะช่วยให้งานเหล่านี้สำเร็จเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ

แม้ว่าในขณะนี้ประเทศต่างๆกำลังพยายามที่จะทำความตกลงในข้อขัดแย้งระหว่างกัน ความตึงเครียดหาได้คลี่คลายลงไม่ กลับทวีขึ้นเป็นลำดับไป เฉพาะในด้านอาเซียอาคเนย์ เหตุการณ์ในอาณาเขตใกล้เคียงมีลักษณะทำให้น่าวิตก จะวางใจเสียไม่ได้ เราจำต้องใช้ความระมัดระวังสอดส่องอย่าให้เหตุการณ์ซึ่งเป็นภัยเช่นนั้น เข้ามาคุกคามประเทศเรา ภัยดังกล่าวนี้เป็นภัยที่ร้ายแรงน่ากลัว ถ้าปราศจากการตรวจตราเพ่งเล็งอย่างกวดขันแล้ว อาจแทรกซึมเข้ามาทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว คอยบั่นทอนความสามัคคีกลมเกลียว และความเป็นปึกแผ่นของชาติ ปลุกปั่นทำลายความศรัทธาเชื่อถือในสิ่งที่เราทั้งหลายยึดมั่น ที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษของเรา และในกรณีเช่นนี้ ทุกๆคนอาจตกเป็นเป้าหมายในการมุ่งทำลายจากภัยนั้นได้ง่าย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือทำลายตัวเราเองและประเทศชาติที่รักของเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้
ดู พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานเนื่องในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่พุทธศักราช 2498-2508, หน้า 126-127; และดูพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตชายแดนภาคอีสานวันที่ 12 สิงหาคม 2505 และพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก วปอ. วันที่ 19 ตุลาคม 2508 ใน เล่มเดียวกัน, หน้า 138-139 และ 212-213 ผมขอขอบคุณคุณประจักษ์ ก้องกีรติที่ดึงให้ผมสนใจการมีอยู่ของพระราชดำรัสเหล่านี้.

สฤษดิ์สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองด้วยการออกมารณรงค์ “ปราบอัคคีภัย” ถึงขั้นไปคุมการดับเพลิงเองทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งที่กำลังเจ็บป่วย, สอบสวนหาผู้ลอบวางเพลิงเอง และที่ “ดัง” มากคือสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาซึ่งล้วนเป็นคนจีน บางครั้ง ณ จุดที่เกิดเพลิงไหม้. ดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 253-257.

(3) ข้อความนี้ไม่ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสที่ตีพิมพ์ใน ประมวลพระราชดำรัส..ปีพุทธศักราช 2518 แต่กลับปรากฏในพระราชดำรัสฉบับที่ “ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงขึ้น” ด้วยพระองค์เอง “ตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้” และโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เมื่อปี 2541 (พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษซึ่งทรงแปลเองเช่นกัน) ผมไม่คิดว่าข้อความ “หยอก” นี้ทรงเพิ่มเติมในปี 2541 โดยที่ในปี 2518 ไม่ได้ทรงรับสั่งไว้ เพราะโดยทั่วไปการเรียบเรียงใหม่เป็นการ “ตัด” มากกว่า “เพิ่ม” ส่วนใหญ่ตัดหรือเปลี่ยนคำที่เกิดจากภาษาพูด, ประโยคซ้ำ หรือไม่ครบรูปประโยค หรือไม่ชัดเจน (ดูเชิงอรรถถัดไปเป็นตัวอย่าง) แต่บางกรณีเข้าใจว่าเพื่อให้ดู “รุนแรง” น้อยลง (ดูเชิงอรรถที่ 5 และ 6 เป็นตัวอย่าง) ในกรณีนี้ผมอยากจะเดาว่า เพราะพระสุรเสียงที่บันทึกไว้มีข้อความนี้จริงๆ แต่ไม่มีใน ประมวลพระราชดำรัส จึงทรงเพิ่มเติมเข้าไป

(4) ในฉบับที่ทรงเรียบเรียงใหม่เมื่อปี 2541 ประโยคนี้อ่านว่า “เคยเห็นแผนที่ที่เขาเขียนไว้ว่าเมืองไทยนี้เป็น 'ตายแลนด์' เห็นมานานแล้ว”

(5) เมื่อทรงเรียบเรียงพระราชดำรัสนี้ใหม่ในปี 2541 ทรงตัด “ชนชั้นต่างๆแบ่งกัน” ออก

(6) เมื่อทรงเรียบเรียงพระราชดำรัสนี้ใหม่ในปี 2541 ทรงเปลี่ยนเป็น “ฟังแล้วก็รำคาญ”

(7) ในงานวิจัยที่เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ของพวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ เรื่อง “พิทักษ์โลกเสรี: คำอธิบายและการจัดการความจริงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีสงครามเวียดนาม” ซึ่งดร.พวงทองได้กรุณาให้ผมได้อ่านฉบับร่าง (กันยายน 2543) ดร.พวงทองได้ท้วงติงการตีความของผมตอนนี้ ดังนี้ “ผู้เขียนเห็นด้วยกับการตีความของสมศักดิ์เกือบทั้งหมด ยกเว้นตรงประโยคที่ว่า ‘ข้าวน่ะข้าวไทย ไปตอกตราฮานอยก็มีเหมือนกัน’ ซึ่งเมื่อดูตามรูปประโยคแล้ว ข้าวไทยที่ไปตอกตราฮานอยนั้น ควรจะหมายถึง ‘คนไทยที่ถูกทำให้เป็นเวียดนาม’ ....” โดยพื้นฐานผมไม่คิดว่า พวงทองกับผมขัดกันในเรื่องการตีความสาระ (message) ของในหลวง ซึ่งก็คือ หากประชาชนไทยปลดแอกจากชนชั้นนำเดิมของไทยตามคำชักชวนของฝ่ายซ้ายแล้ว ให้ระวังให้ดี คอมมิวนิสต์ญวนจะมาเป็นใหญ่แทน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า เฉพาะประเด็นเรื่อง “ข้าวไทยที่ไปตอกตราฮานอย” นั้น เราไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะจุดมากเกินไปนัก จนหลุดออกจากความของพระราชดำรัสในส่วนนี้ทั้งย่อหน้าไป (จากจุดเรื่อง “ข้าว” นี้ พวงทองกล่าวเลยไปถึงกรณีที่เขมรแดงโจมตีพวกที่ขัดแย้งกับตนที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศว่า “กายเป็นเขมร ใจเป็นญวน” และเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่ว่า “คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน...” ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามาจากความคิดแบบเดียวกัน ถ้าเราพูดถึงเฉพาะอุปลักษณ์ [metaphor] ที่กำลังทรงใช้เรื่อง “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” แต่ประเด็นของผมคือ ไม่ควรไปเน้นเฉพาะจุดนี้มากเกินไป) นี่เป็นพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในลักษณะ “สด” คือไม่มีการร่างมาก่อน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทรงใช้อุปลักษณ์โดยตลอด เราต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้ทรงใช้คำและประโยคอย่างคงเส้นคงวา ชัดเจนครบถ้วน เป็นตรรกะ (นี่เป็นลักษณะของการ “พูดสด” ทั่วไป) ถ้าเรายอมรับข้อนี้แล้ว ผมคิดว่า เราสามารถพูดได้ว่า คำว่า “ฮานอย” นี้ ตั้งพระทัยจะให้หมายถึงทั้ง “ข้าว” และ “ฟันปลอม” และ – ภายใต้กรอบของ metaphor ที่ทรงใช้ – ทรงต้องการให้หมายถึง “ฟันปลอม” มากกว่าด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าจะให้ทรง “คงเส้นคงวาในอุปลักษณ์ที่ใช้” (metaphorically consistent) ในหลวงควรที่จะทรงใช้คำว่า “ฟันปลอมตอกตราฮานอย” มากกว่า “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า แม้จะไม่ทรง “คงเส้นคงวา” ในอุปลักษณ์ที่ใช้ในที่นี้ แต่ก็ทรงกล่าวไว้ชัดเจนเพียงพอ คือ “จะเอาหรือ ฟันปลอมที่มาจากที่อื่นน่ะ”, “ฟันปลอม จะเอามาจากไหน”, “จะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใด มาใส่ ให้กระทบลิ้นเรา” ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า พูดในเชิงอุปลักษณ์แล้ว (metaphorically speaking) ประเด็นเรื่อง “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” ในที่นี้ ไม่สำคัญเท่ากับ – หรือพูดให้ถูกคือ เป็นเรื่องเดียวกับ – “ฟันปลอม...จากประเทศใด”

Sunday, November 04, 2007

ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 : เชิงอรรถ



(1) ดู บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ๒๕๔๖, หน้า ๑๒๘-๑๓๖ โดยเฉพาะหน้า ๑๓๑ : “ข้อที่ว่าอุปัทวเหตุ มีเหตุผลว่า ประกาแรก ผู้เล่นปืนอาจประมาท โดยขึ้นลำกล้องไว้ แล้วเอามาเล่น อาจลั่นถูกเอาได้ และตามหลักธรรมดาของคน อาจเอามาเล่นดูก็ได้ ส่วนการบรรจุลำกล้อง คนอื่นอาจบรรจุไว้ก่อนโดยเจตนาร้ายก็ได้ โดยอ่านพบตามตำราและเคยตรวจพบบ้างเหมือนกัน” (ผมเห็นว่าคำ “คนอื่นอาจบรรจุไว้ก่อน” ในตอนท้าย ไม่ได้หมายถึง “อุปัทวเหตุโดยผู้อื่น”)

(2) บันทึกคำให้การของ นพ.ฝน อยู่ใน ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ ๒๘ และ ๒๙ (สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๗๔ เชิงอรรถที่ ๓๐) ด้วยความบังเอิญอย่างประหลาด ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ ๒๓-๓๐ หายไปจากหอสมุดแห่งชาติ (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๒๗๘-๒๗๙)

เนื่องจากสรรใจและวิมลพรรณอ้างผิดเรื่อง นพ.เต่อ (ดูเชิงอรรถที่แล้ว) จึงยากจะเชื่อได้เต็มที่ในกรณี นพ.ฝน แต่น่าสังเกตว่า สรรใจและวิมลพรรณโจมตี นพ.ฝนมากเป็นพิเศษ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นพ.ฝน ได้พูดอะไรเป็นนัยๆ เรื่อง “อุปัทวเหตุโดยผู้อื่น” จริงๆ? หลังจากประโยค “นายแพทย์ทั้งสองได้ยกสาเหตุให้คิดกันได้อีกปัญหาหนึ่ง คือ อุปัทวเหตุเกิดจากผู้อื่น โดยมีใครเอาปืนมาเล่นข้างพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วปืนลั่นขึ้น” สรรใจและวิมลพรรณ ได้เขียนต่อทันทีว่า
นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว นั้น จะมีความจริงใจต่อเหตุผลที่ตนได้ยกขึ้นมาเพียงใดไม่อาจทราบได้ แต่หลังจากให้การที่ศาลกลางเมืองแล้ว นายแพทย์ฝนก็เลิกไปสอนวิชาจิตเวชศาสตร์แก่นักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ต้องให้นักศึกษาไปเรียนที่โครงพยาบาลโรคจิตสมเด็จเจ้าพระยา และไม่ไปโรงพยาบาลศิริราชอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รุ่นเก่าเล่ากันต่อๆมาว่า วันหนึ่งกลังกรณีสวรรคต นายแพทย์ฝนไปที่โรงพยาบาลศิริราช ได้มีเสียงตะโกนบอกกันต่อๆไปว่า “หมออุบัติเหตุมาแล้ว”

(3) สรรใจและวิมลพรรณกล่าวหาว่า บันทึกคำให้การตอนนี้เป็นการทำขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาลปรีดี (กรมโฆษณาการ) เพื่อทำให้ฉลาดฟังดูไม่แน่ใจกว่าที่เป็นจริง ทั้งๆทีนายฉลาดกล่าวว่า “แลเห็นพระอนุชาเสด็จพระราชดำเนินไปทางเฉลียงหลัง พยานเข้าใจว่าคงเสด็จกลับห้องของพระองค์” คือ “แลเห็น” เสด็จไปจากหน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์จริงๆ ไม่ใช่เพียง “เข้าใจว่าท่านจะเสด็จไปทางเฉลียงด้านหลัง…” อย่างในข่าวโฆษณาการ สรรใจและวิมลพรรณอ้างว่าฉลาดใช้คำ “แลเห็น” จากรายงานข่าวของศรีกรุง ที่ประหลาดคือ ทำไมสรรใจและวิมลพรรณจะอ้างได้ว่า ศรีกรุง รายงานได้ถูกต้องกว่าข่าวโฆษณาการเล่า? ยิ่งถ้าเราดูประโยคก่อนหน้านั้น ที่มีคำอย่าง “พยานมองไม่เห็น”, “ดูเหมือน” และ “แต่เท่าที่พยานจำได้ไม่แน่นัก” (ที่ผมขีดเส้นใต้ไว้) คำพวกนี้ ไม่มีทางที่กรมโฆษณาการจะคิดขึ้นมาเองทั้งหมดกระมัง? ในความเป็นจริง บันทึกคำให้การทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในข่าวโฆษณาการ น่าจะมาจากคณะกรรมการศาลกลางเมืองเอง ซึ่งมีเจ้านายเป็นกรรมการหลายคน และมีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ

(4) เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของตำแหน่งที่อยู่ของพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบัน ขณะเกิดการสวรรคต ดูการแสดงให้เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคำให้การของบุคคลต่างๆในเรื่องนี้ โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ใน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต, ๒๕๑๗, หน้า ๑๒๗-๑๓๒ และ ๑๔๘-๑๕๔

(5) ขอเตือนความจำว่า แม้ในกรณีนักวิชาการอย่างกอบเกื้อ ดังที่ผมได้อ้างไว้ใน ตอนที่ 1 ก็ยังเขียนว่ากรณีสวรรคตมี 3 สาเหตุนี้ นับเป็นตัวอย่างอันน่าเศร้าของการพูด “ตามกระแส” อย่างไม่คิด ของคนระดับนักวิชาการที่อ้างว่าศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์: “Since the King’s death, there have been three main hypotheses as to its cause: the first is regicide, i.e. King Ananda Mahidol was murdered by unknown person(s), most probably Pridi’s supporters, either with or without his actual knowledge; the second is suicide….; and the third is accident, i.e. as explained in the early official version.”

(6) ผมสรุปจากรายงานของคณะแพทย์ตามที่ปรากฏอย่างเป็นทางการใน “แถลงการณ์กรมตำรวจเรื่องรายงานของแพทย์เกี่ยวกับพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ตีพิมพ์ใน สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๔๔-๔๙ และ บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๕๗-๖๕

นพ.สุด แสงวิเชียร หนึ่งในคณะแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ (บิดาของสรรใจ แสงวิเขียร) ได้ตีพิมพ์บันทึกส่วนตัวที่เขาทำขึ้นเองเกี่ยวกับประสบการณ์การเข้าร่วมงานกับคณะแพทย์ในครั้งนั้น เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต (บี.พี.พี.เอส, 2529) ส่วนที่เล่าการลงความเห็นสาเหตุการสวรรคตของแพทย์แต่ละคน อยู่ที่หน้า 20-29 มีความเห็นแพทย์บางคนที่ นพ.สุดบันทึกไว้ต่างจากบันทึกทางการ แต่ก็ไม่มีผลต่อภาพรวม (เช่น นพ.นิตย์ ตามบันทึกทางการกล่าวว่า “เป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง ซึ่งอาจเป็นได้เท่ากันทั้งสองประการ” แต่ นพ.สุดบันทึกไว้ว่า “ให้ตามลำดับ ปลงพระชนม์เอง ถูกปลงพระชนม์” โดยส่วนตัวผมคิดว่าบันทึกทางการน่าจะถูกต้องกว่า เพราะมีการอ่านทวนให้แพทย์แต่ละคนฟังก่อนลงชื่อรับรอง) ตามการเปิดเผยของนพ.สุด แพทย์บริติช 3 คนที่ขอถอนความเห็นไป คนหนึ่งเห็นว่า “อุบัติเหตุหรือถูกลอบปลงพระชนม์” อีก 2 คนเห็นว่า “ถูกลอบปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง อุบัติเหตุ” ตามลำดับ ตัว นพ.สุดเอง เปลี่ยนใจไม่นานหลังจากนั้น จากที่ลงความเห็นว่า “ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่าๆกัน” กลายเป็น “ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากยิ่งกว่าปลงพระชนม์เอง”

(7) แน่นอน สรรใจและวิมลพรรณ ได้อ้าง “หลักฐาน” อื่น นอกเหนือจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปอย่างเจาะจงว่า “ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ” (ลอบปลงพระชนม์) มากกว่า “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น คือ อ้างทฤษฎีที่ว่าปืนของกลางซึ่งเป็นปืนของในหลวงอานันท์ที่พบข้างพระบรมศพไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิงจริงๆ, ปลอกกระสุนที่นายชิตเก็บได้ก็ไม่ใช่ปลอกของกระสุนที่ปลงพระชนม์ และแม้แต่หัวกระสุนที่ฝังอยู่ในฟูกใต้พระบรมศพ ก็ไม่ใช่หัวกระสุนที่ผ่านพระเศียรจริง แสดงว่า ต้องมีคนร้ายวางแผนสร้างฉากให้ดูเหมือนว่าในหลวงอานันท์ฆ่าตัวตาย โดยคนร้ายใช้ปืนที่เอามาเองยิงในหลวงอานันท์ แต่หยิบเอาปืนของในหลวงอานันท์ขึ้นมาวางไว้ และเตรียมทั้งปลอกกระสุนและหัวกระสุนเก่าที่เคยยิงจากปืนของในหลวงอานันท์กระบอกนั้นมาเปลี่ยนแทนปลอกและหัวกระสุนสังหารจริง (กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๒๖-๑๓๐ “หลักฐาน” เรื่องปืน-ปลอกกระสุน-หัวกระสุน ถูกนำมาเปลี่ยนนี้ อัยการและศาลใช้ในการฟ้องและตัดสินเอาโทษจำเลยคดีสวรรคต)

แต่ทฤษฎีเรื่องปืนของในหลวงอานันท์ที่พบข้างพระบรมศพไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิง ด้วยการอ้างการทดลองทางเคมีว่าปืนนั้นใช้ยิงครั้งสุดท้ายหลายวันก่อนการสวรรคต รวมทั้งเรื่องหัวกระสุนที่ขุดเอามาจากฟูก บู้บี้ไม่พอ จึงต้องไม่ใช่หัวกระสุนที่ผ่านพระเศียรนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีที่หนักแน่นปฏิเสธไม่ได้แต่อย่างใด ผมคิดว่า ในส่วนที่เป็นปัญหาทางเทคนิคเคมี-ฟิสิกส์ (ปฏิกิริยาไนไตร๊ท์, สนิม, ระดับความบู้บี้ ฯลฯ) ใครที่รู้จักใช้เหตุใช้ผลเพียงเล็กน้อย และไม่หมกมุ่นกับความเชื่อว่าการสวรรคตเป็นส่วนหนี่งของแผนการสร้างระบอบสาธารณรัฐ (ดูตัวอย่าง สรรใจและวิมลพรรณ, หน้า ๑๘๙) ควรต้องยอมรับการอภิปรายของหลวงปริพนธ์พจนพิสูทธิ์ ใน “ความเห็นแย้ง” คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสวรรคต ที่โต้แย้งให้เห็นอย่างเฉียบขาดว่า ผลการทดลองทางเคมีไม่สามารถนำมาอ้างว่าปืนของในหลวงไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิงในวันสวรรคต (ดูตัวบท “ความเห็นแย้ง” ที่รู้จักกันดี ได้ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์), ๒๕๔๔ โดยเฉพาะที่หน้า ๓๖๖-๓๗๖, ๓๘๑-๓๘๓) ในส่วนที่ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคโดยตรง ทฤษฎีเรื่องสับเปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุนของพวกนิยมเจ้าจะเป็นจริงได้ หมายความว่า “คนร้าย” จะต้องมีทั้งเวลา โอกาส และความบ้าบิ่น ที่จะหาปลอกกระสุนจริงพบและเก็บไป และขุดเอาหัวกระสุนจริงที่ฝังลึก 3 นิ้วในฟูก แล้วยัดหัวกระสุนเก่าเข้าไปแทน ต่อให้มีนายชิตหรือบุศย์ร่วมมือด้วย ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ซึ่งชวนให้ถามว่า ถ้าจะต้องทำอะไรยุ่งยากถึงขนาดนั้น เพื่อสร้างฉากว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ทำไมไม่ใช้ปืนของในหลวงอานันท์ที่หยิบมาวางหลอกนั้น ยิงเสียเลย จะได้เหมือนการฆ่าตัวตายจริงๆ และไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเปลี่ยนปลอกกระสุนและหัวกระสุนด้วย? ในเมื่อได้รับความร่วมมือจากชิตและบุศย์ จะไปยากอะไรถ้าจะใช้ปืนในหลวงอานันท์ยิง? (ดูเพิ่มเติม การโต้แย้ง “ทฤษฎี” เปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุน ใน Rayne Kruger, The Devil’s Discus, p.202-4 ครูเกอร์ตั้งคำถามว่า คนร้ายจะวางแผนล่วงหน้าได้อย่างไรว่า จะหาปลอกกระสุนจริงที่กระเด็นไปได้ทันที หรือหัวกระสุนจริงต้องทะลุพระเศียร ไปรอให้เปลี่ยนข้างนอก หากยิงแล้วหัวกระสุนจริงเกิดฝังในพระเศียรล่ะ?)

สรุปแล้ว ทฤษฎีเรื่องสับเปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุน ที่สรรใจและวิมลพรรณอ้างเพื่อเสนอว่าการสวรรคตต้องเกิดจากคนอื่นยิงโดยตั้งใจ คือ ลอบปลงพระชนม์ เท่านั้น เป็นทฤษฎีที่ฟังไม่ขึ้น “หลักฐาน” ที่พวกเขาพอจะอ้างอย่างมีน้ำหนักได้จริงๆ ก็คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นการถูกผู้อื่นยิงเท่านั้น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งบาดแผล วิถีกระสุน คาดาเวอริคสปัสซั่ม

ใครที่อ่านหนังสือของสรรใจและวิมลพรรณอย่างใช้ความคิด ไม่หลงติดอยู่กับการอ้างเชิงอรรถเต็มไปหมดแบบหลอกตา ก็ควรจะเห็นได้ว่า พวกเขาให้ภาพที่ขัดกันเองอย่างเหลือเชื่อเพียงใด (แต่ดูความเห็นของกอบเกื้อที่ผมอ้างใน ตอนที่ 1 ที่เห็นว่าหนังสือสรรใจและวิมลพรรณมีลักษณะ balanced view หรือดู ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 98-99 ที่ผมชี้ให้เห็นว่า เมื่อหนังสือนี้ออกใหม่ๆในปี 2517 มีนักวิชาการรุ่นใหม่ 2 คนเห็นว่า “ทำได้น่าเชื่อถือกว่า [หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล] ด้วยการเสนอหลักฐานตามแนววิชาการ”) ด้านหนึ่ง พวกเขาอ้างว่า คนร้ายได้ “วางแผนแยบยลมาก” (ลงแรงทำอะไรยุ่งยากซับซ้อนเพื่อสร้างฉากฆ่าตัวตาย) “คงจะวางแผนไว้อย่างรอบคอบ” แต่อีกด้านหนี่ง คนร้ายที่ว่า กลับทำความผิดพลาดแบบง่ายๆคือ “ไม่ได้เฉลียวใจว่า...ทรงถนัดขวา” และ “ไม่ได้นึกว่าการยิงจากหัวพระแท่นนั้นวิถีกระสุนย่อมเฉียงลงล่าง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ในคนที่ยิงตัวตาย” โธ่! ไหนๆวางแผนและเตรียมการยุ่งยากซับซ้อนขนาดนั้น ทำไมแค่การยิงให้เหมือนการฆ่าตัวตายกว่านั้น ก็คิดไม่ออก? เรื่องถนัดขวา ต่อให้ “ไม่ได้เฉลียวใจ” (ซึ่งเกือบเป็นไปไม่ได้สำหรับคนร้ายที่คิดจะสร้างฉากเรื่องใหญ่โตระดับให้กษัตริย์ฆ่าตัวตาย) แต่ทำไมไม่ยิงให้เหมือนการฆ่าตัวตายกว่านั้น เช่น ยิงใส่กลางหน้าผาก หรือขมับ (ต่อให้เป็นขมับซ้าย ก็ยังเหมือนกว่า) หรือหน้าอกตรงหัวใจ? (ขอให้สังเกตว่า ตัวอย่าง “ความผิดพลาดของคนร้าย” ที่สรรใจและวิมลพรรณกล่าวนี้ – ไม่เฉลียวใจเรื่องถนัดขวาและเรื่องวิถีกระสน – แท้จริง เพียงยืนยันว่าการสวรรตไม่ใช่เกิดจากยิงตัวเอง แต่เกิดจาก “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าต้องเป็นการ “ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ” หรือลอบปลงพระชนม์ นั่นคือ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น” ก็สามารถปรากฏบาดแผลออกมาเหมือนกัน คือ “ยิงจากหัวพระแท่น [ด้านซ้าย]….วิถีกระสุน...เฉียงลงล่าง”)