Friday, October 27, 2006

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 11 - 19)



(11) ตัวบทของพระราชดำรัสนี้ ซึ่งพระราชทานหลังการระเบิดไม่กี่นาทีและสำนักราชเลขาธิการ “เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้” ตีพิมพ์อยู่ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ปีพุทธศักราช 2520, หน้า 224-225 เปรียบเทียบกับที่รายงานใน เดลินิวส์ (เพียงฉบับเดียว) แล้ว ไม่แตกต่างกันนัก

(12) อันที่จริง ควรกล่าวว่า เหตุการณ์ร้ายต่อพระราชวงศ์เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนการระเบิดหน้าที่ประทับ คือประมาณ 20 นาฬิกาของวันที่ 21 กันยายน 2520 ระหว่างที่ขบวนรถพระที่นั่งของในหลวง พระราชินี และพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ กำลังแล่นกลับจากการเสด็จเยี่ยมราษฎรที่ปัตตานี เพื่อไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นราธิวาส มาตามทางสายปัตตานี-นราธิวาส เมื่อถึงทางแยกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ได้มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับโดยพลตำรวจสังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษผู้หนึ่ง มีคนนั่งซ้อนท้าย 2 คน เป็นพลตชด. 1 คนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 1 คน ได้วิ่งฝ่าตำรวจจราจรที่ปิดกั้นทางแยกไว้แล้ว ด้วยความเร็วสูง พุ่งเข้าชนรถพระที่นั่งบริเวณไฟหน้าด้านซ้าย มอเตอร์ไซค์ดังกล่าวล้มลง และเกิดไฟลุก คนขับและคนนั่งมอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บ ขบวนรถพระที่นั่งได้หยุดเพื่อช่วยเหลือนำส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล แล้วเคลื่อนต่อไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ดู เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2520 ซึ่งนอกจากรายงานข้อมูลของเหตุการณ์ข้างต้นตามแถลงการณ์รัฐบาลแล้ว ยังรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดเหตุ ขบวนรถพระที่นั่งได้หยุดลง พระราชินีและเจ้าฟ้าสิรินธรซึ่งประทับในรถอีกคันหนึ่ง และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ซึ่งประทับในรถคันเดียวกับในหลวง “ได้เสด็จฯลงจากรถเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันที ทรงให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯให้น้ำเกลือกับผู้บาดเจ็บ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรฯทรงถือขวดน้ำเกลือด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล รถพระที่นั่งจึงได้เสด็จฯกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์” ถ้ารายงานของ เดลินิวส์ นี้ถูกต้อง แสดงว่าขณะนั้น ทั้ง 3 พระองค์ที่เสด็จลงจากรถมาดูเหตุการณ์ไม่ได้ทรงรู้สึกว่าอยู่ในอันตราย อาจจะทรงเข้าพระทัยในขณะนั้นว่าเป็นอุบัติเหตุ น่าคิดว่า เมื่อเกิดระเบิดในวันต่อมา ขณะทรงนำร้องเพลง “เราสู้” นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ได้ทรงระลึกย้อนมองเหตุการณ์รถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งต่างออกไปหรือไม่ ต้นเดือนต่อมา (ตุลาคม) กรมตำรวจสรุปผลการสอบสวนกรณีนี้ว่า เป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากคนขับเมาและประมาท ไม่ได้เจตนาทำร้ายในหลวง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลำพังการเกิด “อุบัติเหตุ” เช่นนี้ ก็นับว่าผิดปกติอย่างยิ่งแล้ว การมาเกิดขึ้นภายใน 20 ชั่วโมงก่อนเหตุการณ์ที่ยิ่งกว่าผิดปกติอย่างการระเบิดหน้าที่ประทับ ก็ต้องนับเป็นเรื่อง “ความบังเอิญ” ที่เกือบจะเหลือเชื่อ จนทุกวันนี้ ทั้ง 2 เหตุการณ์ (ทั้งในแง่แยกกัน และในแง่ที่มาเกิดพร้อมกัน) ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดกับสถาบันกษัตริย์ไทยสมัยใหม่ในเวลาอื่นใดเลย (และดู ความทรงจำของวสิษฐ เดชกุญชร, รอยพระยุคลบาท, หน้า 347-349 ซึ่งเปิดเผยว่า ขณะรถมอเตอร์ไซค์ชนนั้น ในหลวงทรงกำลังขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง)

(13) ดูเชิงอรรถที่ 12 ข้างต้น [หมายถึงเชิงอรรถที่ 12 ของบทความฉบับเต็ม ไม่ใช่ของ "ภาคผนวก" นี้ ในฉบับที่ตีพิมพ์ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นเชิงอรรถที่ 11 หน้า 145 ]

(14) ดูตัวบทพระราชดำรัสใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆปีพุทธศักราช 2520, หน้า 273-280 สำหรับเวลาที่ทรงใช้ ดูจากที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ลงมาประมาณ 17 น. บัดนี้ ก็ 17.55 น. แล้ว ก็ได้พูดมาเกือบตลอด”

(15) แถลงการณ์รัฐบาลวันที่ 23 กันยายน 2520 กล่าวว่า ขณะเกิดระเบิด ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังอ่านรายงานถวาย

(16) หนังสือที่ระลึกปีสุดท้ายที่มีการพิมพ์บทเพลง “เราสู้” ที่ผมหาได้คือปี 2527 ผมไม่แน่ใจว่ามีพระราชพิธีและหนังสือที่ระลึกในปี 2528 หรือไม่ ในปี 2529 ชื่อหนังสือได้เปลี่ยนเล็กน้อยเป็น อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการพิเศษในการรักษาความมั่นคงภายใน และเข้าใจว่า เหลือเพียงเล่มเดียว ไม่ได้แบ่งเป็น 2 เล่มอีก ในเล่มมีเพียง “ความฝันอันสูงสุด” (ไม่ได้อยู่ในหน้าแรก) หนังสือปี 2530 ก็มีเฉพาะเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ขณะที่ในปี 2532 (หาฉบับปี 2531 ไม่ได้ อาจจะไม่มีพิธี) หนังสือเปลี่ยนชื่ออีกเป็น อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในและรักษาอธิปไตยของชาติ พ.ศ. 2532 และไม่มีทั้ง 2 เพลงเลย

(17) ข้อมูลนี้ได้จาก The Nation, 17 November 2004, 4A: “Yesterday’s audience with Her Majesty the Queen was unprecedented in the history of Royal engagement with the public. Her Majesty also hosted a tea party for the audience on the Dusit Palace lawns. Every audience member was given a card with a poem written by His Majesty entitled ‘The Ultimate Dream’. The poem declares Thai people’s willingness to die for their compatriots.” ไม่มีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับใด (รวมทั้ง Bangkok Post) รายงานเรื่องการ์ดนี้ แม้ว่าบางฉบับจะพูดถึงการพระราชทานเลี้ยงน้ำชา

(18) เราสู้ อนุสรณ์คำนึงถึงเกียรติประวัติและสดุดีวีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และบรรดาที่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในการสร้างทางสายละหานทราย-ตาพระยา, หน้า 18.

(19) ดูจากข้อมูลในเว็ปไซ้ต์ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.thaiveterans.mod.go.th