Thursday, September 14, 2006

ความเป็นมาของคำว่า "นาถ" ใน "พระบรมราชินีนาถ" (เชิงอรรถ ๑-๕)



(*) บทความเรื่องแรกใน ๓ เรื่อง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม กับสถาบันกษัตริย์ ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ ๒๔๙๐ บทความเรื่องที่ ๒ จะอยู่ภายใต้ชื่อ “กรณีหยุด แสงอุทัย ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ๒๔๙๙” และบทความเรื่องที่ ๓ ภายใต้ชื่อ “พิบูล-เผ่า กับ ราชสำนัก ๒๔๙๖-๒๕๐๐”

(๑) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๒/๒๔๙๙ วันพุธที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๙๙ นี่เป็นหลักฐานการแสดงพระราชประสงค์จะทรงผนวชอย่างเป็นทางการครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้มีข่าวจะทรงผนวชแพร่ออกมาโดยรัฐบาลไม่รู้ตัวล่วงหน้า หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๗/๒๔๙๙ วันที่ ๔ เมษายน ๒๔๙๙ ได้บันทึกไว้ดังนี้
๑๑. เรื่องข่าวรับฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทย ท่านนายกรัฐมนตรีได้เสนอข่าวรับฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทย ๑) เรื่องกษัตริย์แห่งประเทศไทยจะทรงผนวช ๒) เรื่องเครื่องบินกองทัพอากาศไทยประสบอุบัติเหตุ ...........

มติ – รับทราบ สำหรับเรื่องกษัตริย์แห่งประเทศไทยจะทรงผนวชนั้น คณะรัฐมนตรียังมิได้รับทราบเรื่องนี้แต่ประการใด ให้สอบถามทางราชเลขาธิการต่อไป
ผมค้นไม่พบว่า “สถานทีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศ” ในที่นี้หมายถึงสถานีอะไร และไม่ปรากฏว่ามีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก ผมเชื่อว่าคงเป็นสถานีวิทยุบีบีซีหรือเสียงอเมริกา คือของฝ่ายตะวันตก มากกว่าของฝ่ายคอมมิวนิสต์ (จีนหรือรัสเซีย) ซึ่งรัฐบาลคอยรับฟังอยู่และบางครั้งมีการนำประเด็นที่สถานีเหล่านั้นกระจายเสียงมารายงานในที่ประชุมครม. เพราะถ้าเป็นสถานีวิทยุของฝ่ายคอมมิวนิสต์ น่าจะมีการระบุไว้ในบันทึกการประชุม

ข่าวลือเรื่องในหลวงจะออกผนวช คงมีอยู่ก่อนที่จะทรงแจ้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการนี้ เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศข่าวออกไปในวันนั้น หนังสือพิมพ์สยามนิกรรายวันได้รายงานว่า “ในหลวงแจ้งรัฐบาลทรงผนวช รัฐบาลเห็นชอบตั้งผู้สำเร็จฯ – ข่าวการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันตลอดมาว่า จะทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศนั้น บัดนี้ ได้มีการยืนยันการผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่แน่นอนแล้ว” (สยามนิกร วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙ ขีดเส้นใต้ของผม) อย่างไรก็ตาม ผมไม่พบข่าวเรื่องนี้ในสยามนิกรฉบับก่อนหน้านี้ ในช่วงปีนั้น

(๒) จดหมายฉบับนี้และฉบับอื่นเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ๒๔๙๙ อยู่ในแฟ้มชื่อ “แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตุลาคม ๒๔๙๙)” ในกลุ่มเอกสารเรื่อง “พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์” ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จดหมายถึงประธานสภาฉบับนี้และอีกฉบับหนึ่งที่อ้างถึงข้างล่าง ลงวันที่ ๑๘ กันยายน มีอยู่ในรายงานการประชุมสภาในวันนั้นๆด้วย

(๓) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๖/๒๔๙๙ (สามัญ) ชุดที่ ๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๙๙ แม้จะเป็นการประชุม “ลับ” ตามที่ครม.ขอ แต่วาระนี้ นอกจากประธานสภาอ่านจดหมายของจอมพลข้างต้นแล้ว ก็มีเพียงส.ส.คนหนึ่งถามว่า ระยะเวลาการเป็นผู้สำเร็จราชการที่ขอให้รับรองนี้ ระหว่างเมื่อไรถึงเมื่อไร ซึ่งจอมพลตอบว่า “ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่สามารถจะแจ้งให้ได้ เพราะเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้กำหนดวันที่จะทรงผนวช เมื่อกำหนดวันแน่นอนประการใดแล้วก็จะได้แจ้งมาให้ทราบเพื่อขออนุมัติอีกครั้งหนึ่ง”

(๔) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๓/๒๔๙๙ วันจันทร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๙๙

(๕) ข้อความทั้งหมดเป็นลายมือบนกระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ ใต้คำว่า “นารถ” คำที่ ๒ มีขีดเส้นใต้ ๒ เส้น