Friday, November 16, 2007

"เราสู้" (เชิงอรรถ 1 - 7)



(1) สิบปีต่อมา ในวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ทรงมีพระราชดำรัสถึงความเป็นมาของงานนี้อีกครั้งดังนี้: “แต่ก่อนนี้ในงานวันเกิดก็มีการออกมหาสมาคมอย่างเดียว คือเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่ในราชการได้มาให้พรที่พระที่นั่งอมรินทร์ ต่อมาก็มีการมาให้พรที่สวนจิตรลดานี้ในวันที่ 5 หลังจากมหาสมาคม ซึ่งมีผู้แทนของเอกชน ของโรงเรียน ของสมาคม และกลุ่มต่างๆได้มาให้พรอีกคำรบหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีคนมากขึ้น ก็ได้มีการให้พรนอกจากที่มหาสมาคมและหลังจากมหาสมาคม ก็มีการให้พรของกลุ่มศาสนาต่างๆที่มีอยู่ในประเทศ และกลุ่มเกี่ยวข้องกับการศึกษา คือของผู้ที่กำลังเรียนตั้งแต่ชั้นโรงเรียน ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนกระทั่งถึงขั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย แยกออกมาเป็นอีกส่วนหนึ่งในวันที่ 4 เช่นในวันนี้ ต่อมาเห็นว่าการที่ได้พบในรายการที่เรียกว่าอนุสมาคม 2 รายการก็ทำให้ต้องใช้เวลามาก เพราะว่าในวันที่ 5 ธันวาคมหลังจากมหาสมาคมก็ทำให้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง และจะต้องไปงานในตอนบ่ายอีก จึงรวมหมดมาวันที่ 4 เช่นวันนี้ มีทั้งข้าราชการ ทั้งสมาชิกสโมสร สมาคม โรงเรียน สมาชิก คณะศาสนาต่างๆและอื่นๆมาในวันที่ 4 นี้ แต่ก็ยังมีคณะต่างๆที่ได้พบกันที่บนตำหนักสวนจิตรลดานี้ มาทีหลังก็เลยรวมหมด เพราะว่าใครก็ตามที่มาให้พรก็พร้อมกันมา จนกระทั่งมาเป็นการให้พรเช่นที่เห็นกันวันนี้”

(2) ในสมัยสฤษดิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสที่มีลักษณะการเมือง สนับสนุนรัฐบาล และที่สำคัญคือแอนตี้คอมมิวนิสม์หลายครั้ง เช่น ในโอกาสปีใหม่ 2505:
สถานการณ์ภายในของชาติบ้านเมืองนั้นโดยทั่วไปก็กล่าวได้ว่าได้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆในขวบปีมาแล้ว แม้จะมีอุทกภัยอัคคีภัยในท้องที่บางแห่ง ก่อความเสียหายและความทุกข์ยากขึ้นบ้าง แต่ภัยเหล่านี้ก็ย่อมได้รับการควบคุมให้อยู่ในขอบเขตและบรรเทาลง ถ้าท่านทั้งหลายและเจ้าหน้าที่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันระมัดระวังป้องกันให้มาก อนึ่งรัฐบาลก็พยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความสมบูรณ์พูนสุขของประเทศชาติ และลงมือปฏิบัติตามโครงการต่างๆเพื่อการนี้อยู่แล้ว ถ้าท่านทั้งหลายให้ความร่วมมือในการนี้แก่ทางราชการด้วย ก็จะช่วยให้งานเหล่านี้สำเร็จเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ

แม้ว่าในขณะนี้ประเทศต่างๆกำลังพยายามที่จะทำความตกลงในข้อขัดแย้งระหว่างกัน ความตึงเครียดหาได้คลี่คลายลงไม่ กลับทวีขึ้นเป็นลำดับไป เฉพาะในด้านอาเซียอาคเนย์ เหตุการณ์ในอาณาเขตใกล้เคียงมีลักษณะทำให้น่าวิตก จะวางใจเสียไม่ได้ เราจำต้องใช้ความระมัดระวังสอดส่องอย่าให้เหตุการณ์ซึ่งเป็นภัยเช่นนั้น เข้ามาคุกคามประเทศเรา ภัยดังกล่าวนี้เป็นภัยที่ร้ายแรงน่ากลัว ถ้าปราศจากการตรวจตราเพ่งเล็งอย่างกวดขันแล้ว อาจแทรกซึมเข้ามาทีละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว คอยบั่นทอนความสามัคคีกลมเกลียว และความเป็นปึกแผ่นของชาติ ปลุกปั่นทำลายความศรัทธาเชื่อถือในสิ่งที่เราทั้งหลายยึดมั่น ที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษของเรา และในกรณีเช่นนี้ ทุกๆคนอาจตกเป็นเป้าหมายในการมุ่งทำลายจากภัยนั้นได้ง่าย ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือทำลายตัวเราเองและประเทศชาติที่รักของเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้
ดู พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานเนื่องในโอกาสต่างๆ ตั้งแต่พุทธศักราช 2498-2508, หน้า 126-127; และดูพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตชายแดนภาคอีสานวันที่ 12 สิงหาคม 2505 และพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก วปอ. วันที่ 19 ตุลาคม 2508 ใน เล่มเดียวกัน, หน้า 138-139 และ 212-213 ผมขอขอบคุณคุณประจักษ์ ก้องกีรติที่ดึงให้ผมสนใจการมีอยู่ของพระราชดำรัสเหล่านี้.

สฤษดิ์สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองด้วยการออกมารณรงค์ “ปราบอัคคีภัย” ถึงขั้นไปคุมการดับเพลิงเองทั้งกลางวันกลางคืน ทั้งที่กำลังเจ็บป่วย, สอบสวนหาผู้ลอบวางเพลิงเอง และที่ “ดัง” มากคือสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาซึ่งล้วนเป็นคนจีน บางครั้ง ณ จุดที่เกิดเพลิงไหม้. ดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 253-257.

(3) ข้อความนี้ไม่ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสที่ตีพิมพ์ใน ประมวลพระราชดำรัส..ปีพุทธศักราช 2518 แต่กลับปรากฏในพระราชดำรัสฉบับที่ “ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงขึ้น” ด้วยพระองค์เอง “ตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้” และโปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เมื่อปี 2541 (พร้อมคำแปลภาษาอังกฤษซึ่งทรงแปลเองเช่นกัน) ผมไม่คิดว่าข้อความ “หยอก” นี้ทรงเพิ่มเติมในปี 2541 โดยที่ในปี 2518 ไม่ได้ทรงรับสั่งไว้ เพราะโดยทั่วไปการเรียบเรียงใหม่เป็นการ “ตัด” มากกว่า “เพิ่ม” ส่วนใหญ่ตัดหรือเปลี่ยนคำที่เกิดจากภาษาพูด, ประโยคซ้ำ หรือไม่ครบรูปประโยค หรือไม่ชัดเจน (ดูเชิงอรรถถัดไปเป็นตัวอย่าง) แต่บางกรณีเข้าใจว่าเพื่อให้ดู “รุนแรง” น้อยลง (ดูเชิงอรรถที่ 5 และ 6 เป็นตัวอย่าง) ในกรณีนี้ผมอยากจะเดาว่า เพราะพระสุรเสียงที่บันทึกไว้มีข้อความนี้จริงๆ แต่ไม่มีใน ประมวลพระราชดำรัส จึงทรงเพิ่มเติมเข้าไป

(4) ในฉบับที่ทรงเรียบเรียงใหม่เมื่อปี 2541 ประโยคนี้อ่านว่า “เคยเห็นแผนที่ที่เขาเขียนไว้ว่าเมืองไทยนี้เป็น 'ตายแลนด์' เห็นมานานแล้ว”

(5) เมื่อทรงเรียบเรียงพระราชดำรัสนี้ใหม่ในปี 2541 ทรงตัด “ชนชั้นต่างๆแบ่งกัน” ออก

(6) เมื่อทรงเรียบเรียงพระราชดำรัสนี้ใหม่ในปี 2541 ทรงเปลี่ยนเป็น “ฟังแล้วก็รำคาญ”

(7) ในงานวิจัยที่เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ของพวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ เรื่อง “พิทักษ์โลกเสรี: คำอธิบายและการจัดการความจริงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีสงครามเวียดนาม” ซึ่งดร.พวงทองได้กรุณาให้ผมได้อ่านฉบับร่าง (กันยายน 2543) ดร.พวงทองได้ท้วงติงการตีความของผมตอนนี้ ดังนี้ “ผู้เขียนเห็นด้วยกับการตีความของสมศักดิ์เกือบทั้งหมด ยกเว้นตรงประโยคที่ว่า ‘ข้าวน่ะข้าวไทย ไปตอกตราฮานอยก็มีเหมือนกัน’ ซึ่งเมื่อดูตามรูปประโยคแล้ว ข้าวไทยที่ไปตอกตราฮานอยนั้น ควรจะหมายถึง ‘คนไทยที่ถูกทำให้เป็นเวียดนาม’ ....” โดยพื้นฐานผมไม่คิดว่า พวงทองกับผมขัดกันในเรื่องการตีความสาระ (message) ของในหลวง ซึ่งก็คือ หากประชาชนไทยปลดแอกจากชนชั้นนำเดิมของไทยตามคำชักชวนของฝ่ายซ้ายแล้ว ให้ระวังให้ดี คอมมิวนิสต์ญวนจะมาเป็นใหญ่แทน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า เฉพาะประเด็นเรื่อง “ข้าวไทยที่ไปตอกตราฮานอย” นั้น เราไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะจุดมากเกินไปนัก จนหลุดออกจากความของพระราชดำรัสในส่วนนี้ทั้งย่อหน้าไป (จากจุดเรื่อง “ข้าว” นี้ พวงทองกล่าวเลยไปถึงกรณีที่เขมรแดงโจมตีพวกที่ขัดแย้งกับตนที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศว่า “กายเป็นเขมร ใจเป็นญวน” และเพลง “หนักแผ่นดิน” ที่ว่า “คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน...” ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามาจากความคิดแบบเดียวกัน ถ้าเราพูดถึงเฉพาะอุปลักษณ์ [metaphor] ที่กำลังทรงใช้เรื่อง “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” แต่ประเด็นของผมคือ ไม่ควรไปเน้นเฉพาะจุดนี้มากเกินไป) นี่เป็นพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในลักษณะ “สด” คือไม่มีการร่างมาก่อน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทรงใช้อุปลักษณ์โดยตลอด เราต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ได้ทรงใช้คำและประโยคอย่างคงเส้นคงวา ชัดเจนครบถ้วน เป็นตรรกะ (นี่เป็นลักษณะของการ “พูดสด” ทั่วไป) ถ้าเรายอมรับข้อนี้แล้ว ผมคิดว่า เราสามารถพูดได้ว่า คำว่า “ฮานอย” นี้ ตั้งพระทัยจะให้หมายถึงทั้ง “ข้าว” และ “ฟันปลอม” และ – ภายใต้กรอบของ metaphor ที่ทรงใช้ – ทรงต้องการให้หมายถึง “ฟันปลอม” มากกว่าด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าจะให้ทรง “คงเส้นคงวาในอุปลักษณ์ที่ใช้” (metaphorically consistent) ในหลวงควรที่จะทรงใช้คำว่า “ฟันปลอมตอกตราฮานอย” มากกว่า “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า แม้จะไม่ทรง “คงเส้นคงวา” ในอุปลักษณ์ที่ใช้ในที่นี้ แต่ก็ทรงกล่าวไว้ชัดเจนเพียงพอ คือ “จะเอาหรือ ฟันปลอมที่มาจากที่อื่นน่ะ”, “ฟันปลอม จะเอามาจากไหน”, “จะเลือกฟันปลอมมาจากไหน ยี่ห้อใด จากประเทศใด มาใส่ ให้กระทบลิ้นเรา” ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า พูดในเชิงอุปลักษณ์แล้ว (metaphorically speaking) ประเด็นเรื่อง “ข้าวไทยไปตอกตราฮานอย” ในที่นี้ ไม่สำคัญเท่ากับ – หรือพูดให้ถูกคือ เป็นเรื่องเดียวกับ – “ฟันปลอม...จากประเทศใด”