Friday, October 27, 2006

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 1 - 5)



(1) เป็นการบุกรุกเข้าไป ด้วยการตัดโซ่ที่ล่ามประตูรั้วทำเนียบ ดูการบอกเล่าของ พัลลภ โรจนวิสุทธ์, ยังเตอร์กของไทย, 2521, หน้า 209-211 ดูเหมือนพัลลภจะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

(2) ดาวสยาม 9 ตุลาคม 2519 รายงานข่าวอยู่ในหน้า 16 พระราชดำรัสอยู่ในหน้า 4 มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (ในฉลองพระองค์ชุดนายทหาร) ขณะทรงมีพระราชดำรัสกับลูกเสือชาวบ้าน พร้อมคำบรรยายในหน้า 1 และ 4 วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับพระราชดำรัสครั้งนี้ที่มีส่วนนอกเหนือไปจาก ดาวสยาม ว่า “ได้มีรับสั่งขอบใจที่ทุกคนรู้สึกเจ็บร้อนแทนพระองค์” (ยังเตอร์กของไทย, หน้า 219) ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นรายงานข่าวนี้เลย ยกเว้น เดลินิวส์ วันที่ 9 ตุลาคม 2519 ซึ่งตีพิมพ์เฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ในหน้า 1 พร้อมคำบรรยายว่า “เสด็จฯทำเนียบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อเย็นวันที่ 6 ต.ค. ทรงมีรับสั่งกับลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งไปชุมนุมอย่างแน่นขนัดประมาณ 6 หมื่นคน”

(3) ตัวอย่างของพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับในบ่ายวันนั้น: “นองเลือด ตายเจ็บนับร้อย จับนศ.แขวนคอ-ประกาศฉุกเฉิน” (ไทยรัฐ), “จลาจลแล้ว แขวนคอ นศ. เผาสด 5 ศพ จับเลขาศูนย์นิสิต-ให้ปลด 3 รมต.ด่วน” (เดลินิวส์), “นองเลือด! ประชาชนขยี้ศูนย์-จับแขวนคอ ตายนับร้อย” (ตะวันสยาม) ภาพถ่ายนักศึกษาถูกแขวนคอและถูกเผาได้รับการตีพิมพ์ทุกฉบับ

(4) วสิษฐ เดชกุญชร, รอยพระยุคลบาท, มติชน 2545, หน้า 307 ผมถูกทำให้ตระหนักถึงข้อมูลนี้จากบทความ “กลุ่มพลังฝ่ายขวาและสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ของ พุทธพล มงคลวรรณ ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บก.), 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2546, หน้า 200

(5) เสียงปวงชน 9 ตุลาคม 2519, หน้า 12 ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้บาดเจ็บของพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ครั้งนี้และการเสด็จไปพบลูกเสือชาวบ้านที่ทำเนียบในเย็นวันที่ 6 ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชข้างต้น ไม่ได้รับการบันทึกในหนังสือทางการ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 – กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ (ดูหน้า 2 ของหนังสือ ซึ่งสรุปพระราชกรณียกิจวันที่ 5 ตุลาคม แล้วข้ามไปวันที่ 8 ตุลาคมเลย) ที่น่าสนใจคือ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพในหลวงและสมเด็จพระบรมฯ กำลังทรงเสด็จทอดพระบาท โดยมีลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งนั่งถวายบังคมกับพื้น พร้อมคำบรรยายว่า “เมื่อลมฝนบนฟ้ามาแล้ว ล่มโพธิแก้วจะพาพฤกษาสดใส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พสกนิกรชาวไทยผู้มั่นคงในองค์พระมหากษัตราธิราช เฝ้าถวายความจงรักภักดีโดยคับคั่ง” ถ้าคำบรรยายนี้ถูกต้อง ก็แสดงว่า ในวันนั้น ในหลวงทรงเสด็จไปยังบริเวณใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ (ธรรมศาสตร์-สนามหลวง) มาก น่าเสียดายว่า คำบรรยายไม่ได้ระบุว่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอะไรและเวลาใด (ทั้ง 2 พระองค์อยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล) ติดกันยังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมฯทรงกำลังนมัสการพระญาณสังวร โดยมีคำบรรยายว่า “พุทธมามก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามก ปฏิบัติพระองค์โดยเบญจศีล ยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นี้” (ทรงอยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล จึงอาจเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่เสด็จวัดพระแก้วในอีกภาพหนึ่ง)


เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงและพระราชวงศ์ในวันที่ 6 ตุลา และวันต่อๆมา นับเป็นเรื่อง irony ที่ ในหนังสือซึ่งเต็มไปด้วยการสรรเสริญพระบารมีของ กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร (Kobkua Suwannathat-Pian, Kings, Contry and Constitutions: Thailand Political Development 1932-2000. RoutledgeCurzon, 2003, pp. 173-174) มีข้อความที่ผิดความจริง ต่อไปนี้ :
Two days after the massacre, the King broke his silence. His Majesty made a radio broadcast calling for national unity in the face of the crisis. The message was clear: King Bhumibol had issued 'a strong endorsement' of the new military junta..... Perhaps to emphasize further the unmistakable stand of the Throne, Queen Sirikit and the royal Princesses went to visit and provide food for the Village Scouts who encamped in the campus of Thammasat University. The death of democracy appeared a small prize to pay for the return of political stability and social status quo.
ความจริง คือ ในคืนวันที่ 8 ตุลาคม มีคำปราศรัยของสงัด ชลออยู่ และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร แจ้งให้ประชาชนทราบถึงพระบรมราชโองการแต่งตั้งธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีพระราชดำรัสของในหลวง (ดูรายงานข่าวโดยละเอียดใน ไทยรัฐ 10 ตุลาคม 2519) และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ไม่ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานอาหารแก่ลูกเสือชาวบ้านที่ตั้งแคมป์ในธรรมศาสตร์ (หลังเหตุการณ์ ไม่มีลูกเสือชาวบ้านตั้งแคมป์อยู่ที่นั่นด้วยซ้ำ มีแต่ตำรวจทหาร!) มีแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จเยี่ยมตำรวจที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาลตำรวจดังกล่าวข้างต้น กอบเกื้อไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลใดๆสำหรับเรื่องสำคัญนี้ และขอให้สังเกตประโยคสุดท้ายที่ผมยกมาข้างต้นว่า กอบเกื้อเลือกใช้คำ (นามธรรม) ว่า "The death of democracy" แทนที่จะเป็นคำ (รูปธรรมและจริงกว่า) ว่า students หรือ demonstrators ซึ่งจะทำให้ความหมายของประโยคนี้ ในบริบทของข้อความย่อหน้านี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

ใน The King Never Smiles: A Biography of Thailand's King Bhumibol Adulyadej (Yale University Press, 2006, p.237), Paul M Handley กล่าวว่า "Some people claim to have seen Prince Vajiralongkorn on the scene at Thammasat on October 5 and 6 in the company of police and Village Scouts." แต่ข้ออ้างของ "some people" (Handley ไม่ได้ระบุว่าใคร) ไม่น่าจะเป็นความจริงเช่นกัน