Tuesday, June 27, 2006

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๖ - ๘)



(๖) อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีหลักฐานโดยตรง เราก็อาจอภิปรายได้ว่า ท่าทีต่อสาธารณะของจอมพล ป ในขณะนั้น ชวนให้คิดว่า ความจำหรือข้ออ้างภายหลังของเขาน่าจะเป็นเรื่องไม่จริงเสียมากกว่า เพราะในเดือนธันวาคม ๒๔๙๘ หรือ ๑๐ เดือนหลังการประหารชีวิต เมื่อนางสุนี เตลาน ส.ส.นครสวรรค์ เสนอร่าง “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจลาจล” ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเขียนแบบครอบคลุมหมดทั้งผู้ที่ “ได้ถูกฟ้องและรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว หรือยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือในระหว่างสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้นๆทั้งสิ้น” จอมพล ป ยังอุตส่าห์หยิบเอาคดีสวรรคตมาเป็นข้ออ้างว่าไม่ควรรับรองร่าง พรบ.นั้น เพราะคดียังไม่สิ้นสุด ดังนี้:
สำหรับในระยะหลังนี้ เกี่ยวกับนักโทษที่ท่านกล่าวว่าเป็นนักโทษจลาจลนั้นอาจจะแยกได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ก็คือเป็นนักโทษเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่ได้มีการปลงพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ซึ่งคดีส่วนหนึ่งก็ได้ตัดสินเสร็จไปแล้ว แต่คดียังอยู่อีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้ตัดสิน เพราะยังจับตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ก็เป็นคดีเกี่ยวแก่ฐานกบฏและจลาจลอยู่เหมือนกัน อีกประเภทหนึ่งคือคดีต่างๆเกี่ยวกับวันที่ ๑ ตุลาคม ปี ๒๔๙๑ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๙ มิถุนายน ๑๐ พฤศจิกายน เหล่านี้เป็นคดีในจำพวกเกิดขึ้นจากทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น คือหมายความว่าเป็นการสนับสนุนมาจากทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาดูโดยส่วนใหญ่ของคดีทั้งสองประเภทนี้แล้ว หากว่าเราจะปล่อยออกไปทั้งหมดตามที่ท่านผู้เสนอในพระราชบัญญัตินี้แล้ว กระผมคิดว่าพวกนี้ออกไปนั้นอาจที่จะยังไม่รู้สึกตัว เพราะยังไม่ได้รับโทษเพียงพอ ดังเช่นผู้ที่อยู่ในกรณีสวรรคตแล้วก็เราไปล้มในกรณีสวรรคตเสีย โดยพระราชทานอภัยโทษนิรโทษกรรมไปหมดดังนี้ ผมคิดว่าเราต้องระลึกถึงประชาชนส่วนใหญ่จะคิดว่าอย่างไร จะไม่ระลึกถึงหรือว่ารัฐบาลนี้ก็ดีหรือสภาผู้แทนนี้ก็ดี เป็นการสนับสนุนแก่ผู้ที่ได้กระทำการล่วงกฎหมายในการกบฏและจลาจล ในการปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ ไป และนอกจากนั้นรัชกาลที่ ๘ เองก็เป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชของรัชกาลปัจจุบันนี้ ตามรัฐธรรมนูญก็บอกว่าการพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้าเราจะกราบบังคมทูลขึ้นไป ทางรัฐบาลนี้ก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังว่าจะเป็นการสมควรเหมาะสมหรือไม่ สำหรับอีกอันหนึ่งก็คือกรณีเกี่ยวกับอีก ๔ กรณีซึ่งอยู่ในข่ายที่จะต้องได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมายที่ท่านผู้เสนอได้เสนอนั้น โดยมากก็เกี่ยวกับกรณีเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น แต่ท่านที่เคารพทั้งหลายเกี่ยวกับกรณีคอมมิวนิสต์นี้ ประเทศของเรานั้นได้มีกฎหมายเกี่ยวแก่คอมมิวนิสต์ เราไม่ต้องการที่จะให้การปกครองของเราเป็นในระบอบคอมมิวนิสต์ และถ้าหากว่าการปกครองของเราเป็นในระบอบคอมมิวนิสต์ ท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่แล้วว่า ก็จะเข้าเท่ากับกรณีที่เราขับไล่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขออกไปจากประเทศนั่นเอง เพราะฉะนั้นคดีที่ ๑ กับที่ ๒ ประเภท ๑ ประเภท ๒ ในความรู้สึกของผมจึงรู้สึกว่าอยู่ในฐานละม้ายคล้ายคลึงกัน เพราะประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้นมีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ คดีแรกนั้นปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนเกือบจะทั้งประเทศนั้นไม่เห็นชอบและไม่สนับสนุน กรณีที่ ๒ เป็นทั้งคอมมิวนิสต์และผลพลอยได้ตามไปก็คือขับไล่พระมหากษัตริย์ออกไปด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในปัจจุบันนี้ประชาชนจะไม่ให้ความสนับสนุน ถ้าหากว่าเราได้ประกาศนิรโทษกรรมพวกเหล่านี้ไป
(รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๘/๒๔๙๘ (วิสามัญ ๒) ชุดที่ ๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๘) เห็นได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่ท่าทีของผู้ที่เมื่อตอนต้นปี “ได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนที่สุดแล้ว” เลยแม้แต่น้อย

(๗) William Stevenson, The Revolutionary King: The True-Life Sequel to The King and I (2001), pp.119-120.

(๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๗๔/๒๔๙๗ วันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๙๗ นี่ไม่ใช่ “รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี” คือมีลักษณะเป็นการสรุปมากกว่ารายงานการประชุม (ความจริงในบางสมัย “รายงานการประชุม” ก็มีลักษณะสรุปย่อแบบนี้) ไม่แน่ใจว่าในสมัยที่กำลังพูดถึงนี้มีการจัดทำ “รายงานการประชุม” แยกต่างหากจาก “หัวข้อการประชุม” นี้หรือไม่ แต่ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีเหลือเก็บเพียง “ห้วข้อการประชุม” เท่านั้น