Thursday, September 14, 2006

ความเป็นมาของคำว่า "นาถ" ใน "พระบรมราชินีนาถ" (เชิงอรรถ ๖-๑๐)



(๖) ตัวบทของ “ประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ” อยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔ วันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖, น่า ๑๐.

(๗) “Return to Chulalongkorn” เป็นคำที่ทูตอังกฤษประจำกรุงเทพ (ซึ่งมีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ ๖ อย่างมาก) ใช้บรรยายนโยบายของรัชกาลที่ ๗ ในปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ (ซึ่งเขาแสดงความชื่นชม) “an all round change in policy – it may best be described as a ‘return to Chulalongkorn’”, “[Prajadhipok’s] intention is to return as far as possible to the golden age of his father, King Chulalongkorn” ดูการบรรยายเรื่องนี้ใน Benjamin A Batson, The End of the Absolute Monarchy in Siam (OUP, 1984), p.36.

(๘) จากแฟ้ม “เงินปีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ (๒๙ ตุลาคม ๒๔๕๓ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๐)” ในกรณีพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์นี้ ครม.ได้ตกลงตั้งเงินปีถวายเป็นจำนวน ๔,๐๕๘ บาท เงินเพิ่มอีกปีละ ๑๐๐ บาท รวมเป็น ๔,๑๕๘ บาท แต่ในปีต่อมา เมื่อมีการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ครม.ได้ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาว่าควรจะตั้งเงินปีถวายเท่าไร โดยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบเทียบเคียงกับประเทศอื่น กระทรวงต่างประเทศจึงสั่งให้ทูตประจำอังกฤษและฝรั่งเศสสืบค้นข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งทูตประจำอังกฤษได้รายงานเงินปีของพระราชวงศ์อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ส่งมา ส่วนทูตประจำฝรั่งเศสรายงานเงินปีของพระราชวงศ์เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมส่งมา กระทรวงการคลังได้สรุปเสนอว่า ควรตั้งเงินปีถวายปีละ ๓๐๐,๐๐ บาท เท่ากับที่รัชกาลที่ ๖ เคยได้รับเมื่อยังทรงเป็นพระยุพราช ในที่สุด ครม.ได้ตกลง (๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖) ให้ตั้งเงินปีถวายเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ที่เคยตกลงตั้งไว้ปีละ ๔,๑๕๘ บาท ให้เพิ่มเป็นปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมา เมื่อพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ทรงประสูติ (๒๔๙๘ และ ๒๕๐๐) ก็ทรงได้รับการตั้งเงินปีถวายปีละ ๕๐,๐๐๐ บาท

(๙) จดหมายจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง เงินปีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๔๙๔ จากแฟ้ม “เงินปีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (๑ สิงหาคม ๒๔๙๔ – ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๕)” ครั้งนี้ ครม.ได้ตกลง (๕ กันยายน ๒๔๙๔) ตั้งเงินปีถวายตามกระทรวงการคลังเสนอ จำนวน ๖๐,๐๐๐ บาท เท่ากับพระนางเจ้ารำไพพรรณี

(๑๐) จดหมายจากนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง ถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นสักขีในการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ในแฟ้มชื่อ “สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินี ทรงครรภ์ ประสูติราชกุมารีและราชกุมาร (พ.ศ. ๒๔๙๘ และ ๒๕๐๐)”

ในปี ๒๔๙๔ รัฐบาลพยายามจะกราบบังคมทูลให้ทรงเสด็จกลับมาประสูติในประเทศไทย แต่ไม่สำเร็จ หนังสือโต้ตอบระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในแฟ้มชื่อ “สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทรงพระครรภ์ ประสูติราชกุมารีและราชกุมาร (พ.ศ. ๒๔๙๔)” ในหนังสือลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔ ถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ขณะนั้นยังเป็นกรมพระชัยนาทนเรนทร จะทรงสิ้นพระชนม์วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๙๔) จอมพล ป.เขียนว่า (การเน้นคำของผม)
บัดนี้ สำนักพระราชวังได้เสนอโครงการและวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการประสูติ ซึ่งได้เฝ้าเรียนพระปฏิบัติใต้ฝ่าพระบาททรงเห็นชอบด้วยแล้ว ไปเพื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณา ข้าพระพุทธเจ้าได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบตามโครงการที่สำนักพระราชวังได้เสนอไปนั้นแล้ว

อนึ่ง ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาหารือเกี่ยวกับการพระราชพิธีนี้ ข้าพระพุทธเจ้าและคณะรัฐมนตรีได้รู้สึกปริวิตกกังวลเกี่ยวกับราชประเพณีต่างๆในการประสูติ จะปฏิบัติได้มิครบถ้วนสมพระเกียรติดังที่เคยมีมาแต่โบราณกาล เนื่องจากทรงประทับอยู่นอกราชอาณาจักร อันเป็นดินแดนห่างไกลประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง นอกจากความรู้สึกของข้าพระพุทธเจ้าและรัฐบาลของพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังปรากฏเสียงร่ำร้องของหมู่สมาชิกรัฐสภา ทั้งเสียงจากประชาชนโดยทั่วๆไป ได้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ใคร่ขออัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาประสูติในราชอาณาจักร....

หนังสือฉบับนี้ตอนแรกถูกร่างขึ้นในลักษณะหนังสือจากนายกรัฐมนตรีถึงในหลวง “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม....ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลพระกรุณาถึงความปริวิตกกังวลเกี่ยวกับราชประเพณีต่างๆในการประสูติ จะปฏิบัติได้มิครบถ้วนสมพระเกียรติดังที่เคยมีมาแต่กาลก่อน....”