Sunday, November 04, 2007

ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 : เชิงอรรถ



(1) ดู บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ๒๕๔๖, หน้า ๑๒๘-๑๓๖ โดยเฉพาะหน้า ๑๓๑ : “ข้อที่ว่าอุปัทวเหตุ มีเหตุผลว่า ประกาแรก ผู้เล่นปืนอาจประมาท โดยขึ้นลำกล้องไว้ แล้วเอามาเล่น อาจลั่นถูกเอาได้ และตามหลักธรรมดาของคน อาจเอามาเล่นดูก็ได้ ส่วนการบรรจุลำกล้อง คนอื่นอาจบรรจุไว้ก่อนโดยเจตนาร้ายก็ได้ โดยอ่านพบตามตำราและเคยตรวจพบบ้างเหมือนกัน” (ผมเห็นว่าคำ “คนอื่นอาจบรรจุไว้ก่อน” ในตอนท้าย ไม่ได้หมายถึง “อุปัทวเหตุโดยผู้อื่น”)

(2) บันทึกคำให้การของ นพ.ฝน อยู่ใน ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ ๒๘ และ ๒๙ (สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๗๔ เชิงอรรถที่ ๓๐) ด้วยความบังเอิญอย่างประหลาด ข่าวโฆษณาการ ฉบับพิเศษ ๒๓-๓๐ หายไปจากหอสมุดแห่งชาติ (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๒๗๘-๒๗๙)

เนื่องจากสรรใจและวิมลพรรณอ้างผิดเรื่อง นพ.เต่อ (ดูเชิงอรรถที่แล้ว) จึงยากจะเชื่อได้เต็มที่ในกรณี นพ.ฝน แต่น่าสังเกตว่า สรรใจและวิมลพรรณโจมตี นพ.ฝนมากเป็นพิเศษ เป็นไปได้หรือไม่ว่า นพ.ฝน ได้พูดอะไรเป็นนัยๆ เรื่อง “อุปัทวเหตุโดยผู้อื่น” จริงๆ? หลังจากประโยค “นายแพทย์ทั้งสองได้ยกสาเหตุให้คิดกันได้อีกปัญหาหนึ่ง คือ อุปัทวเหตุเกิดจากผู้อื่น โดยมีใครเอาปืนมาเล่นข้างพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วปืนลั่นขึ้น” สรรใจและวิมลพรรณ ได้เขียนต่อทันทีว่า
นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว นั้น จะมีความจริงใจต่อเหตุผลที่ตนได้ยกขึ้นมาเพียงใดไม่อาจทราบได้ แต่หลังจากให้การที่ศาลกลางเมืองแล้ว นายแพทย์ฝนก็เลิกไปสอนวิชาจิตเวชศาสตร์แก่นักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช ต้องให้นักศึกษาไปเรียนที่โครงพยาบาลโรคจิตสมเด็จเจ้าพระยา และไม่ไปโรงพยาบาลศิริราชอยู่ระยะหนึ่ง แพทย์รุ่นเก่าเล่ากันต่อๆมาว่า วันหนึ่งกลังกรณีสวรรคต นายแพทย์ฝนไปที่โรงพยาบาลศิริราช ได้มีเสียงตะโกนบอกกันต่อๆไปว่า “หมออุบัติเหตุมาแล้ว”

(3) สรรใจและวิมลพรรณกล่าวหาว่า บันทึกคำให้การตอนนี้เป็นการทำขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาลปรีดี (กรมโฆษณาการ) เพื่อทำให้ฉลาดฟังดูไม่แน่ใจกว่าที่เป็นจริง ทั้งๆทีนายฉลาดกล่าวว่า “แลเห็นพระอนุชาเสด็จพระราชดำเนินไปทางเฉลียงหลัง พยานเข้าใจว่าคงเสด็จกลับห้องของพระองค์” คือ “แลเห็น” เสด็จไปจากหน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์จริงๆ ไม่ใช่เพียง “เข้าใจว่าท่านจะเสด็จไปทางเฉลียงด้านหลัง…” อย่างในข่าวโฆษณาการ สรรใจและวิมลพรรณอ้างว่าฉลาดใช้คำ “แลเห็น” จากรายงานข่าวของศรีกรุง ที่ประหลาดคือ ทำไมสรรใจและวิมลพรรณจะอ้างได้ว่า ศรีกรุง รายงานได้ถูกต้องกว่าข่าวโฆษณาการเล่า? ยิ่งถ้าเราดูประโยคก่อนหน้านั้น ที่มีคำอย่าง “พยานมองไม่เห็น”, “ดูเหมือน” และ “แต่เท่าที่พยานจำได้ไม่แน่นัก” (ที่ผมขีดเส้นใต้ไว้) คำพวกนี้ ไม่มีทางที่กรมโฆษณาการจะคิดขึ้นมาเองทั้งหมดกระมัง? ในความเป็นจริง บันทึกคำให้การทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในข่าวโฆษณาการ น่าจะมาจากคณะกรรมการศาลกลางเมืองเอง ซึ่งมีเจ้านายเป็นกรรมการหลายคน และมีสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ

(4) เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของตำแหน่งที่อยู่ของพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบัน ขณะเกิดการสวรรคต ดูการแสดงให้เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคำให้การของบุคคลต่างๆในเรื่องนี้ โดยสุพจน์ ด่านตระกูล ใน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต, ๒๕๑๗, หน้า ๑๒๗-๑๓๒ และ ๑๔๘-๑๕๔

(5) ขอเตือนความจำว่า แม้ในกรณีนักวิชาการอย่างกอบเกื้อ ดังที่ผมได้อ้างไว้ใน ตอนที่ 1 ก็ยังเขียนว่ากรณีสวรรคตมี 3 สาเหตุนี้ นับเป็นตัวอย่างอันน่าเศร้าของการพูด “ตามกระแส” อย่างไม่คิด ของคนระดับนักวิชาการที่อ้างว่าศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์: “Since the King’s death, there have been three main hypotheses as to its cause: the first is regicide, i.e. King Ananda Mahidol was murdered by unknown person(s), most probably Pridi’s supporters, either with or without his actual knowledge; the second is suicide….; and the third is accident, i.e. as explained in the early official version.”

(6) ผมสรุปจากรายงานของคณะแพทย์ตามที่ปรากฏอย่างเป็นทางการใน “แถลงการณ์กรมตำรวจเรื่องรายงานของแพทย์เกี่ยวกับพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ตีพิมพ์ใน สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๔๔-๔๙ และ บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า ๕๗-๖๕

นพ.สุด แสงวิเชียร หนึ่งในคณะแพทย์ชันสูตรพระบรมศพ (บิดาของสรรใจ แสงวิเขียร) ได้ตีพิมพ์บันทึกส่วนตัวที่เขาทำขึ้นเองเกี่ยวกับประสบการณ์การเข้าร่วมงานกับคณะแพทย์ในครั้งนั้น เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต (บี.พี.พี.เอส, 2529) ส่วนที่เล่าการลงความเห็นสาเหตุการสวรรคตของแพทย์แต่ละคน อยู่ที่หน้า 20-29 มีความเห็นแพทย์บางคนที่ นพ.สุดบันทึกไว้ต่างจากบันทึกทางการ แต่ก็ไม่มีผลต่อภาพรวม (เช่น นพ.นิตย์ ตามบันทึกทางการกล่าวว่า “เป็นการถูกปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง ซึ่งอาจเป็นได้เท่ากันทั้งสองประการ” แต่ นพ.สุดบันทึกไว้ว่า “ให้ตามลำดับ ปลงพระชนม์เอง ถูกปลงพระชนม์” โดยส่วนตัวผมคิดว่าบันทึกทางการน่าจะถูกต้องกว่า เพราะมีการอ่านทวนให้แพทย์แต่ละคนฟังก่อนลงชื่อรับรอง) ตามการเปิดเผยของนพ.สุด แพทย์บริติช 3 คนที่ขอถอนความเห็นไป คนหนึ่งเห็นว่า “อุบัติเหตุหรือถูกลอบปลงพระชนม์” อีก 2 คนเห็นว่า “ถูกลอบปลงพระชนม์ ปลงพระชนม์เอง อุบัติเหตุ” ตามลำดับ ตัว นพ.สุดเอง เปลี่ยนใจไม่นานหลังจากนั้น จากที่ลงความเห็นว่า “ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ทั้งสองประการเท่าๆกัน” กลายเป็น “ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากยิ่งกว่าปลงพระชนม์เอง”

(7) แน่นอน สรรใจและวิมลพรรณ ได้อ้าง “หลักฐาน” อื่น นอกเหนือจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปอย่างเจาะจงว่า “ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ” (ลอบปลงพระชนม์) มากกว่า “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น คือ อ้างทฤษฎีที่ว่าปืนของกลางซึ่งเป็นปืนของในหลวงอานันท์ที่พบข้างพระบรมศพไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิงจริงๆ, ปลอกกระสุนที่นายชิตเก็บได้ก็ไม่ใช่ปลอกของกระสุนที่ปลงพระชนม์ และแม้แต่หัวกระสุนที่ฝังอยู่ในฟูกใต้พระบรมศพ ก็ไม่ใช่หัวกระสุนที่ผ่านพระเศียรจริง แสดงว่า ต้องมีคนร้ายวางแผนสร้างฉากให้ดูเหมือนว่าในหลวงอานันท์ฆ่าตัวตาย โดยคนร้ายใช้ปืนที่เอามาเองยิงในหลวงอานันท์ แต่หยิบเอาปืนของในหลวงอานันท์ขึ้นมาวางไว้ และเตรียมทั้งปลอกกระสุนและหัวกระสุนเก่าที่เคยยิงจากปืนของในหลวงอานันท์กระบอกนั้นมาเปลี่ยนแทนปลอกและหัวกระสุนสังหารจริง (กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๒๖-๑๓๐ “หลักฐาน” เรื่องปืน-ปลอกกระสุน-หัวกระสุน ถูกนำมาเปลี่ยนนี้ อัยการและศาลใช้ในการฟ้องและตัดสินเอาโทษจำเลยคดีสวรรคต)

แต่ทฤษฎีเรื่องปืนของในหลวงอานันท์ที่พบข้างพระบรมศพไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิง ด้วยการอ้างการทดลองทางเคมีว่าปืนนั้นใช้ยิงครั้งสุดท้ายหลายวันก่อนการสวรรคต รวมทั้งเรื่องหัวกระสุนที่ขุดเอามาจากฟูก บู้บี้ไม่พอ จึงต้องไม่ใช่หัวกระสุนที่ผ่านพระเศียรนี้ ไม่ใช่ทฤษฎีที่หนักแน่นปฏิเสธไม่ได้แต่อย่างใด ผมคิดว่า ในส่วนที่เป็นปัญหาทางเทคนิคเคมี-ฟิสิกส์ (ปฏิกิริยาไนไตร๊ท์, สนิม, ระดับความบู้บี้ ฯลฯ) ใครที่รู้จักใช้เหตุใช้ผลเพียงเล็กน้อย และไม่หมกมุ่นกับความเชื่อว่าการสวรรคตเป็นส่วนหนี่งของแผนการสร้างระบอบสาธารณรัฐ (ดูตัวอย่าง สรรใจและวิมลพรรณ, หน้า ๑๘๙) ควรต้องยอมรับการอภิปรายของหลวงปริพนธ์พจนพิสูทธิ์ ใน “ความเห็นแย้ง” คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสวรรคต ที่โต้แย้งให้เห็นอย่างเฉียบขาดว่า ผลการทดลองทางเคมีไม่สามารถนำมาอ้างว่าปืนของในหลวงไม่ใช่ปืนที่ใช้ยิงในวันสวรรคต (ดูตัวบท “ความเห็นแย้ง” ที่รู้จักกันดี ได้ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์), ๒๕๔๔ โดยเฉพาะที่หน้า ๓๖๖-๓๗๖, ๓๘๑-๓๘๓) ในส่วนที่ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคโดยตรง ทฤษฎีเรื่องสับเปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุนของพวกนิยมเจ้าจะเป็นจริงได้ หมายความว่า “คนร้าย” จะต้องมีทั้งเวลา โอกาส และความบ้าบิ่น ที่จะหาปลอกกระสุนจริงพบและเก็บไป และขุดเอาหัวกระสุนจริงที่ฝังลึก 3 นิ้วในฟูก แล้วยัดหัวกระสุนเก่าเข้าไปแทน ต่อให้มีนายชิตหรือบุศย์ร่วมมือด้วย ก็ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ซึ่งชวนให้ถามว่า ถ้าจะต้องทำอะไรยุ่งยากถึงขนาดนั้น เพื่อสร้างฉากว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ทำไมไม่ใช้ปืนของในหลวงอานันท์ที่หยิบมาวางหลอกนั้น ยิงเสียเลย จะได้เหมือนการฆ่าตัวตายจริงๆ และไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเปลี่ยนปลอกกระสุนและหัวกระสุนด้วย? ในเมื่อได้รับความร่วมมือจากชิตและบุศย์ จะไปยากอะไรถ้าจะใช้ปืนในหลวงอานันท์ยิง? (ดูเพิ่มเติม การโต้แย้ง “ทฤษฎี” เปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุน ใน Rayne Kruger, The Devil’s Discus, p.202-4 ครูเกอร์ตั้งคำถามว่า คนร้ายจะวางแผนล่วงหน้าได้อย่างไรว่า จะหาปลอกกระสุนจริงที่กระเด็นไปได้ทันที หรือหัวกระสุนจริงต้องทะลุพระเศียร ไปรอให้เปลี่ยนข้างนอก หากยิงแล้วหัวกระสุนจริงเกิดฝังในพระเศียรล่ะ?)

สรุปแล้ว ทฤษฎีเรื่องสับเปลี่ยนปืนปลอกกระสุนหัวกระสุน ที่สรรใจและวิมลพรรณอ้างเพื่อเสนอว่าการสวรรคตต้องเกิดจากคนอื่นยิงโดยตั้งใจ คือ ลอบปลงพระชนม์ เท่านั้น เป็นทฤษฎีที่ฟังไม่ขึ้น “หลักฐาน” ที่พวกเขาพอจะอ้างอย่างมีน้ำหนักได้จริงๆ ก็คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นการถูกผู้อื่นยิงเท่านั้น โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งบาดแผล วิถีกระสุน คาดาเวอริคสปัสซั่ม

ใครที่อ่านหนังสือของสรรใจและวิมลพรรณอย่างใช้ความคิด ไม่หลงติดอยู่กับการอ้างเชิงอรรถเต็มไปหมดแบบหลอกตา ก็ควรจะเห็นได้ว่า พวกเขาให้ภาพที่ขัดกันเองอย่างเหลือเชื่อเพียงใด (แต่ดูความเห็นของกอบเกื้อที่ผมอ้างใน ตอนที่ 1 ที่เห็นว่าหนังสือสรรใจและวิมลพรรณมีลักษณะ balanced view หรือดู ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 98-99 ที่ผมชี้ให้เห็นว่า เมื่อหนังสือนี้ออกใหม่ๆในปี 2517 มีนักวิชาการรุ่นใหม่ 2 คนเห็นว่า “ทำได้น่าเชื่อถือกว่า [หนังสือของสุพจน์ ด่านตระกูล] ด้วยการเสนอหลักฐานตามแนววิชาการ”) ด้านหนึ่ง พวกเขาอ้างว่า คนร้ายได้ “วางแผนแยบยลมาก” (ลงแรงทำอะไรยุ่งยากซับซ้อนเพื่อสร้างฉากฆ่าตัวตาย) “คงจะวางแผนไว้อย่างรอบคอบ” แต่อีกด้านหนี่ง คนร้ายที่ว่า กลับทำความผิดพลาดแบบง่ายๆคือ “ไม่ได้เฉลียวใจว่า...ทรงถนัดขวา” และ “ไม่ได้นึกว่าการยิงจากหัวพระแท่นนั้นวิถีกระสุนย่อมเฉียงลงล่าง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ในคนที่ยิงตัวตาย” โธ่! ไหนๆวางแผนและเตรียมการยุ่งยากซับซ้อนขนาดนั้น ทำไมแค่การยิงให้เหมือนการฆ่าตัวตายกว่านั้น ก็คิดไม่ออก? เรื่องถนัดขวา ต่อให้ “ไม่ได้เฉลียวใจ” (ซึ่งเกือบเป็นไปไม่ได้สำหรับคนร้ายที่คิดจะสร้างฉากเรื่องใหญ่โตระดับให้กษัตริย์ฆ่าตัวตาย) แต่ทำไมไม่ยิงให้เหมือนการฆ่าตัวตายกว่านั้น เช่น ยิงใส่กลางหน้าผาก หรือขมับ (ต่อให้เป็นขมับซ้าย ก็ยังเหมือนกว่า) หรือหน้าอกตรงหัวใจ? (ขอให้สังเกตว่า ตัวอย่าง “ความผิดพลาดของคนร้าย” ที่สรรใจและวิมลพรรณกล่าวนี้ – ไม่เฉลียวใจเรื่องถนัดขวาและเรื่องวิถีกระสน – แท้จริง เพียงยืนยันว่าการสวรรตไม่ใช่เกิดจากยิงตัวเอง แต่เกิดจาก “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าต้องเป็นการ “ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ” หรือลอบปลงพระชนม์ นั่นคือ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น” ก็สามารถปรากฏบาดแผลออกมาเหมือนกัน คือ “ยิงจากหัวพระแท่น [ด้านซ้าย]….วิถีกระสุน...เฉียงลงล่าง”)