Sunday, September 03, 2006

พระราชดำรัสให้การ ๒๔๙๓ (เชิงอรรถ)



(๑) ดูบทความของผมเรื่อง “ความพยายามเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อสืบพยานคดีสวรรคต ๒๔๙๓

(๒) บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ (คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์, ๒๕๔๖) ตัวบทพระราชดำรัสให้การของในหลวงองค์ปัจจุบันและพระราชชนนีอยู่ที่หน้า ๓๑๙-๓๕๓. ระยะเวลาที่ ๒ พระองค์ทรงให้การเป็นโดยประมาณเท่านั้น เช่น ไม่สามารถนับเวลาที่ใช้ระหว่างย้ายการไต่สวนจากห้องบรรทมมาที่ห้องรับแขกชั้นล่าง (ดูข้างหน้า) หรือ จาก ๑๕.๒๐ ถึง ๑๕.๔๐ นาฬิกา ซึ่งบันทึกว่าเป็นช่วงสมเด็จพระราชชนนีทรงให้การนั้น ความจริง ในตอนท้าย กรรมการได้กลับไปถามในหลวงองค์ปัจจุบันและในหลวงทรงตอบอีกหลายประโยค เป็นต้น ตัวอย่างการตีพิมพ์ซ้ำที่สำคัญ ได้แก่ สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ (๒๕๑๗), หน้า ๘๒-๑๑๓.

(๓) ผมไม่สามารถหาต้นฉบับในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ได้ ในที่นี้ใช้ฉบับที่ตีพิมพ์ซ้ำใน ดำริห์ ปัทมะศิริ, ในหลวงอานันท์ฯกับปรีดี (สำนักพิมพ์รัชดารมภ์, ๒๔๙๓), หน้า ๓๐๕-๓๑๕.

(๔) ดูการอภิปรายเหตุการณ์นี้ได้ใน “เราสู้ หลัง ๖ ตุลา” ซึ่งเป็น “ภาคผนวก” ของบทความเรื่อง “เราสู้ เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองไทยปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙” ของผม ฉบับปรับปรุงใหม่ (ยังไม่ตีพิมพ์)

(๕) แน่นอนว่า บริบทของการทรงให้การ ๒ ครั้ง ต่างกันอย่างมาก ในกรณี “ศาลกางเมือง” เป็นการสอบสวนเพื่อหาคำตอบว่า “เกิดอะไรขึ้น” มากกว่าเพื่อเอาผิดใคร และแม้กรรมการที่ตั้งขึ้นจะมีความ “เป็นกลาง” หรือ “เป็นอิสระ” แต่ก็เป็นกรรมการที่รัฐบาลปรีดี ตั้งขึ้น ขณะที่คดีสวรรคตเป็นการฟ้องร้องและสืบพยานของฝ่ายรัฐบาลคณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ และพวกนิยมเจ้า เพื่อกล่าวโทษเอาผิดต่อผู้ต้องหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล่าวโทษเอาผิดต่อปรีดี ในกรณีแรก ทรงให้การในฐานะพยานผู้มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์ กรณีหลังในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ผมคิดว่า ปัจจัยต่างๆเหล่านี้สามารถอธิบายความแตกต่างเปลี่ยนแปลงของคำถามของผู้ถาม ซึ่งมีส่วนต่อการกระตุ้น (soliciting) ให้ได้มาซึ่งคำตอบในลักษณะ “กลางๆ” กับลักษณะ “กล่าวหา” (accusatory) ที่ต่างกันของ ๒ กรณี แต่ไม่ถึงกับอธิบายความแตกต่างเปลี่ยนแปลงของคำตอบได้ทั้งหมด ปัจจัยด้านความแตกต่างในวิธีการบันทึกคำให้การของ ๒ กรณี (“ศาลกลางเมือง” ใช้การจดแบบ “คำต่อคำ” ทั้งคำถามและคำตอบ ศาลอาญาใช้การจดเฉพาะคำตอบ แล้วเรียบเรียงใหม่) ที่ผมอภิปรายข้างล่างก็เช่นเดียวกัน

(๖) คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ (กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๓), หน้า ๗๓.

(๗) ปรีดีเสนอความเห็นนี้ในหนังสือ คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ (คือในคำฟ้องศาลของเขาในคดีหมิ่นประมาท ต่อหนังสือของชาลี เอี่ยมกระสินธ์) ผมได้อภิปรายเรื่องนี้ในบทความ “๕๐ ปี การประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒ (เมษษยน-มิถุนายน ๒๕๔๘), หน้า ๖๖-๖๗ เชิงอรรถที่ ๒

(๘) สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (โรงพิมพ์สุวรรณภูมิ, ๒๕๑๗), หน้า ๑๒๑ สุพจน์ตีพิมพ์ย่อหน้า [2] ของพระราชดำรัสให้การ ในหน้า ๑๒๗ โดยเน้นข้อความในพระราชดำรัสที่ว่า “ต่อจากนั้น ฉันได้เดินไปห้องของฉัน เดินไปตามเฉลียงด้านหลัง ตรงเข้าไปในห้องนอนของฉัน แล้วก็เข้าไปในห้องเครื่องเล่น เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้” และดูการอภิปรายเพิ่มเติมของเขาที่หน้า ๑๔๙ และ ๑๕๐-๑๕๑