Monday, October 16, 2006

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๑ - ๖)



(๑) ชื่อบทความจริงๆคือ “๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช: ผู้นำกรรมกรคนแรก”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๗, หน้า ๑๔๒-๑๔๙.

(๒) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย (มติชน, สิงหาคม ๒๕๔๗).

(๓) ที่ว่าถวัติฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาข้อหา “หมิ่นประมาทราษฎร” นั้น ศิโรตม์อ้างหนังสือชีวประวัติพระปกเกล้าของ “นายหนหวย” (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) ที่รู้จักกันดี (เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ) “นายหนหวย” เขียนโดยไม่มีการอ้างอิงที่เหมาะสม ตามแบบฉบับนักเขียนสารคดีรุ่นเก่าโดยทั่วไป ความจริงในคำร้องเรียนของถวัติต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ศิโรตม์เองยกมาทั้งฉบับนั้น ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาพยายาม “ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ไม่ใช่ฟ้องศาล (ดูรายละเอียดข้างล่าง) นอกจากนี้ งานของศิโรตม์ยังละเลยไม่ใช้ประโยชน์จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้อีก ๒ ครั้ง เขาอ้างเฉพาะครั้งการประชุมวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ โดยอ้างผิดเป็นวันที่ ๔ เขาเข้าใจผิดเรื่องที่อภิปรายกัน และยังเข้าใจผิดเรื่องโทรเลขพระยาพหลถึงพระปกเกล้ากรณีกบฏบวรเดช (ดูเชิงอรรถที่ ๑๒ และ ๑๔ ข้างล่าง)

(๔) สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย (๒๕๒๙) ตัวอย่างสำคัญหนึ่งที่ “โครงเรื่อง” (plot) ของการบรรยายแบบนี้ทำให้มองภาพไขว้เขวไม่สมจริง คือกรณีสิ่งที่เรียกว่า “สถานแทนทวยราษฎร์” ที่ศิโรตม์บรรยายว่าเป็น “องค์กรที่ถวัติจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง” แต่ถ้าลองอ่าน “ระเบียบการ” ของ “องค์กร” นี้ให้ดีๆ โดยไม่สรุปล่วงหน้าว่านี่เป็นเรื่องของ “ชนชั้นกรรมกร”, “สามัญชน”, “หาญกล้า”, “ท้าทายระบอบเก่า” ของ plot แบบ heroic tale นี้ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “สถานแทนทวยราษฎร์” นั้น แท้จริงแล้ว คือวิธีหารายได้ หางานทำ หรือเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของถวัตินั่นเอง! (และของคนสมัยนั้นอีกจำนวนมาก ศิโรตม์กล่าวว่า “การรวมกลุ่มแบบนี้เป็นปรากฏาการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕”) พูดแบบภาษาสมัยใหม่คือเป็น marketing ploy (กลยุทธการตลาด) อย่างหนึ่ง ศิโรตม์เขียนว่าสมาชิก (หรือ “นายจ้าง”) ของสถานแทนทวยราษฎร์ ประเภทที่ ๓ “จ่ายค่าสมาชิกในอัตราเดือนละ ๑ บาท เพื่อแลกกับบริการที่มีราคาแพงกว่านั้นในทุกๆด้าน” ความจริง “ระเบียบการ” ระบุว่า “เรื่องค่าใช้สรอย เป็นต้นว่า พาหนะหมอความหมอยา ค่ายา...ค่าใช้สรอยเหล่านี้...นายจ้างประเภทที่ ๓ เสียค่าใช้สรอยทุกอย่าง” จริงที่ว่า “ค่าจ้างหมอความหมอยา” นั้น “ไม่ต้องเสีย” แต่ก่อนจะรีบสรุป ควรต้องสืบให้ได้ก่อนว่า “ค่าจ้างหมอความหมอยา” นั้น ปรกติเสียเท่าไรเมื่อเทียบกับ “ค่าใช้สรอย” ต่างๆเช่น “ค่ายา” ที่สมาชิกต้องเสียเอง ที่สำคัญ โดยทั่วไป คงไม่มีใครหาหมอความหมอยาทุกวันหรือกระทั่งทุกเดือน ซึ่งถ้าเช่นนั้น “ค่าสมาชิก” ที่เสียเป็นรายเดือน ก็เป็นรายได้หรือกำไรสะสมที่ถวัติหรือคนที่ตั้งองค์กรแบบนี้ได้แบบกินเปล่าไป คล้ายบริษัทประกันภัยสมัยใหม่ สรุปแล้ว “สถานแทนทวยราษฎร์” ก็คือการที่ถวัติเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการติดต่อหมอและทนายความให้ โดยขอค่าตอบแทนเป็นรายเดือน หรือทำตัวเป็นนายหน้าหางานให้ “สมาชิก” ไม่เกี่ยวกับ plot สูงส่งอะไรที่ศิโรตม์เขียน (“องค์กรที่ถวัติจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง”)

(๕) จดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าที่นำมาอ้างในบทความนี้ทั้งหมด มาจากแฟ้มชื่อ “คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๘ กันยายน ๒๔๗๖ – ๒๒ มกราคม ๒๔๗๖)” ในเอกสารชุด “กรณีสละราชสมบัติ” ซึ่งเก็บอยู่ที่ สลค.

(๖) ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ภาษาไทยช่วงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ไม่มีเหลืออยู่เลยในหอสมุดแห่งชาติ แม้แต่ในรูปไมโครฟิลม์ เมื่อประมาณปีที่แล้ว (๒๕๔๖-๔๗) ระหว่างที่ผมค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทความเรื่องอื่น ยังมีประชาชาติของเดือนนี้ในรูปไมโครฟิลม์ให้บริการ แต่ก็อยู่ในสภาพที่อ่านเกือบไม่ได้ เพราะถ่ายจากต้นฉบับที่ทรุดโทรมมาก ปัจจุบันแม้แต่ฉบับไมโครฟิล์มนี้ก็งดให้บริการแล้วเนื่องจากฟิล์มเสื่อมสภาพ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีการถ่ายไมโครฟิล์มใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ายังมีต้นฉบับ (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือฟิล์มต้นฉบับ) เหลืออยู่หรือไม่ ในบทความศิลปวัฒนธรรม ศิโรตม์กล่าวว่า ถวัติยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎรเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๖ โดยอ้างประชาชาติฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน และเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศของ “นายหนหวย” แต่น่าแปลกว่าในหนังสือเล่มแรงงานวิจารณ์เจ้า เขาอ้างเฉพาะราชันผู้นิราศเท่านั้น ที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าศิโรตม์ได้อ่านประชาชาติจริง เหตุใดจึงคลาดเคลื่อนเรื่องถวัติฟ้องศาลทั้งที่ไม่ได้ฟ้อง (ประชาชาติเองไม่น่าจะรายงานผิด?) ในราชันผู้นิราศ “นายหนหวย” อ้างบทบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์โดยหลุย คีรีวัตร ซึ่งกล่าวว่าถวัติฟ้องศาลอาญาเช่นกัน แต่ผมไม่แน่ใจว่า “นายหนหวย” อาจจะอ้างมาผิดๆก็ได้ ดังที่จะแสดงให้เห็นต่อไป ถวัติไม่ได้ฟ้องศาลแน่นอน อันที่จริง เมื่อปีก่อน ผมเองได้อ่านประชาชาติฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๗๖ โดยไม่เห็นข่าวถวัติ แต่เป็นไปได้ว่าผมอาจจะตกหล่นก็ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจค้นหาเรื่องนี้ในตอนนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ผมยังได้ตรวจดู Bangkok Times ช่วงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ แต่ก็ไม่มีข่าวถวัติ อย่างไรก็ตาม มีการรายงานข่าวนี้ในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นอย่างแน่นอน เพราะดูจากจดหมายรัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งผมกำลังจะนำเสนอ (หัวข้อถัดไป) ที่ผมกล่าวข้างบนว่าการรายงานข่าวนี้อยู่ในระหว่างวันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ กันยายนนั้น เอามาจากวันที่ที่ “นายหนหวย” ระบุว่ามีการฟ้องกับวันที่ของจดหมายรัฐมนตรีมหาดไทย