Monday, October 16, 2006

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๘ - ๑๓)



(๗) ในแฟ้มเดียวกัน มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๗๖ ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ตอนรับจดหมายของพระยาอุดมพงศ์ฉบับนี้ โดยเพียงแต่เขียนว่า “ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว” เท่านั้น (คือเขียนตามข้อความที่พระยาพหลเขียนในท้ายจดหมายพระยาอุดมพงศ์นั่นเอง ตามแบบฉบับของจดหมายตอบรับทางราชการ) ไม่มีการพูดถึงการให้เข้าพบในบ่ายวันที่ ๑๘ ขอให้สังเกตวันที่ตอบรับด้วยว่า ล่าช้าจากวันที่ได้รับจดหมายกว่า ๑ สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในจดหมายของพระยาอุดมพงศ์ถึงพระยาพหลเกี่ยวกับเรื่องนี้ฉบับต่อมา ลงวันที่ ๒๖ กันยายน (ดูข้างล่าง) มีตอนหนึ่งที่เขียนว่า “ซึ่งข้าพเจ้าได้มาเรียนชี้แจงแล้วนั้น” ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงการ “เรียนชี้แจง” ในจดหมายฉบับวันที่ ๑๘ นี้ หรือหมายถึงการได้เข้าพบขี้แจงจริงๆ

(๘) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๗๖.

(๙) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕.

(๑๐) น่าแปลกที่วิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยตรง David E. Streckfuss, “The Poetics of Subversion: Civil Liberty and Lese-Majeste in the Modern Thai State” ตกหล่นไม่กล่าวถึงกรณีฟ้องถวัตินี้ ซึ่งต้องนับเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกหลัง ๒๔๗๕ ผมเดาว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถวัติถูกฟ้องคือ มาตรา ๙๘ ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ “ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระราชินีก็ดี มกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของการมันจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง” ส่วนข้อหากบฏนั้น ผมไม่แน่ใจว่าถวัติถูกฟ้องตามมาตราไหน เพราะมีหลายมาตราในหมวด “ความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร” แต่เป็นไปได้ว่าหมายถึง มาตรา ๑๐๔ ซึ่งถูกแก้ไขในปี ๒๔๗๐ “๑) ผู้ใดกระทำการอย่างใดใดก็ตาม สนับสนุนหรือสั่งสอนลัทธิหรือวิธีการเมือง หรือเศรษฐกิจ ด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์หรือด้วยอุบายใดใดก็ตาม ด้วยเจตนา หรือคำนวณว่าจะให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้คือ ก) เพื่อจะให้บังเกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือรัฐบาล หรือราชการแผ่นดินก็ดี....ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสิบปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

(๑๑) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๑/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ “นายกรัฐมนตรีกล่าวเสนอให้หยุดพัก ๑๐ นาที ตกลงเป็นอันหยุดพักในเวลา ๑๘.๓๕ น. ครั้นถึงเวลา ๑๘.๕๐ น. เปิดประชุมจากเวลาหยุดพัก ประธานสภาฯกล่าวว่า เรื่องตีความในมาตรา ๓ จะว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอเลื่อนไป พระยาประวญวิชาพูลรับรอง ประธานสภาฯกล่าวว่า ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็จะได้เลื่อนไป และยังไม่มีกำหนดในเวลานี้”

(๑๒) ในทัศนะของผม การเล่าการประชุมสภาตอนนี้ของศิโรตม์ ในแรงงานวิจารณ์เจ้า เป็นตัวอย่างของการอ่านหรือตีความ “เกินหลักฐาน” และของการมีข้อสรุปที่ใหญ่โตล่วงหน้าเกี่ยวกับถวัติ (heroic tale) ที่ผมวิจารณ์ตอนต้น การอภิปรายเรื่องนี้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องในเชิงระเบียบการประชุม แน่นอน เป็นความจริงที่ว่า ในที่สุด ไม่มีใครอยากจะเป็นสปอนเซอร์รับคำฟ้องของถวัติมานำเสนอเข้าสภา ซึ่งอาจจะเพราะเหตุผลทางการเมืองบางอย่าง แต่เหตุผลอะไร? บันทึกการอภิปรายที่มีอยู่ไม่เพียงพอให้สรุปลงไปทางใดทางหนึ่งได้ว่า ความไม่อยากเป็นสปอนเซอร์ของสมาชิกมาจากทัศนะอะไร เพราะเกือบไม่มีใครพูดแสดงเหตุผลที่ไม่เสนอตัวรับเป็นสปอนเซอร์ออกมา แต่ศิโรตม์กลับยืนยันหนักแน่น (โดยไม่ยกตัวอย่างเลย) ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายรายก็ยังคงวิตกว่าคำแถลงของถวัติอาจทำให้เกิด ‘วิกฤติ’ ทางการเมือง [!?] ถึงขั้นที่ไม่มีใครกล้ายื่นมือเข้ามารับผิดชอบคำแถลงนี้ แม้ในชั้นของการได้ชื่อว่าเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา....เป็นอันว่าหลังจากแจกจ่ายแถลงการณ์ของถวัติสู่ที่ประชุม [?] ตัวประธานสภาฯเองกลับออกตัวว่าท่านไม่ได้รับรองญัตติให้พิจารณาคำแถลงการณ์ของถวัติในเรื่องนี้ ผลก็คือ คำแถลงของถวัติถูก ‘แจก’ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน แต่ไมได้ถูก ‘เสนอ’ ให้เข้าสู่การพิจารณา” (หน้า ๑๐๒-๑๐๓) ข้อสรุปตอนท้ายของศิโรตม์นี้ผิดข้อเท็จจริงอันเนื่องจากการอ่านรายงานการประชุมผิดอย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงคือ “คำแถลงการณ์เปิดคดี” (คำของถวัติเอง) ที่สมาชิกสภาเถียงกันว่าจะรับหรือไม่รับหรือมีใครจะเป็นคนเสนอหรือไม่นั้น หมายถึงเอกสารที่ถวัติเตรียมไว้ฟ้องพระปกเกล้าตั้งแต่แรก แต่มังกร สามเสนไม่รับ ไม่ใช่ตัวจดหมายที่ประธานสภาอ่านข้างต้น (ดูย่อหน้าที่ ๓ ของจดหมาย) “คำแถลงการณ์เปิดคดี” นี้ ไม่ได้ “ถูกแจก แต่ไม่ถูกเสนอ” อย่างที่ศิโรตม์เขียนเลย! ประธานสภาเพียงแต่อ่านจดหมายข้างต้น (“จดหมายปะหน้า” ในภาษาสมัยใหม่) ให้ฟังเท่านั้น (ไม่ได้ “แจก” เช่นกัน) แต่ที่เถียงกัน ไม่ใช่เถียงเรื่องจดหมายฉบับนี้แต่อย่างใด (เพราะอ่านให้ฟังไปแล้ว)

(๑๓) ผมเขียนเช่นนี้ในลักษณะที่ถือว่า จดหมายฉบับนี้ และการที่ทรงอ้างความล่าช้าเรื่องการตีความมาตรา ๓ เป็นเหตุให้ไม่ทรงเสด็จกลับกรุงเทพตามหมายกำหนดเดิม ตลอดจนการที่เรื่องนี้เกิดขึ้นใน ๒๔ ชั่วโมงก่อนกบฏบวรเดชในเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม ล้วนไม่มีเบื้องหลังและเป็นความบังเอิญทั้งสิ้น แต่ถ้าเชื่อตามคำพิพากษาของศาลพิเศษปี ๒๔๘๒ ที่กล่าวหาว่า พระปกเกล้าทรงรู้เห็นเป็นใจกับการกบฏ ในลักษณะที่ทรงให้ความช่วยเหลือพวกกบฏล่วงหน้า (ดู กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ, หน้า ๒๙-๓๐) จดหมายฉบับนี้และการอ้างเรื่องการตีความมาตรา ๓ ล่าช้าเป็นเหตุไม่ยอมเสด็จกลับ ก็อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีเบื้องหลังสำคัญ คือเป็นจดหมายและข้ออ้างบังหน้า ที่ไม่ทรงเสด็จกลับเพราะทรงรู้ว่ากำลังจะมีกบฏ ไม่ใช่เพราะความล่าช้าในการตีความมาตรา ๓ เท่าที่ผมทราบ ยังไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน