"ท่านชิ้น" (เชิงอรรถ)
(๑) ฉากเหตุการณ์ทรงต้องพระแสงปืนอย่างไรในลักษณะคล้ายๆกับที่ “ท่านชิ้น” เสนอ (แต่ไม่ละเอียดเท่านี้) ได้เคยถูกเสนอมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยชิต สิงหเสนี ซึ่งภายหลังตกเป็นจำเลยในคดีสวรรคตและถูกประหารชีวิต ในระหว่างให้การเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ต่อ “คณะกรรมการสอบสวนพฤฒิการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ที่รัฐบาลปรีดีตั้งขึ้นในปีนั้น ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลกลางเมือง” ชิตได้วาดเหตุการณ์สวรรคต ดังปรากฏในบันทึกการสอบสวนดังนี้ “ประธานกรรมการฯได้ขอให้พยาน [ชิต] ลองวาดภาพการแอ็กซิเดนท์ตามคำให้การของพยานว่า พยานคาดว่าจะเกิดแอ็กซิเดนท์ขึ้นในประการใด พยานได้ทำท่าให้ดูตามที่พยานนึกเอา แล้วบอกว่า บางทีขณะที่พระองค์ถือส่องดูพระแสงปืนนั้น เนื่องจากทรงอิดโรยเพราะกำลังประชวร ปืนอาจจะหล่นจากพระหัตถ์แล้วพระองค์ทรงตะปบคว้าปืนด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ปืนจึงอาจะลั่นออกมาได้ และโดนพระองค์เข้า ภาพที่พยานวาดให้กรรมการฟังนี้ พยานว่า พยานคิดดังนี้ แต่อย่างอื่นไม่เคยคิด” (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, ๒๕๔๖, หน้า ๙๑) เป็นไปได้ว่า “ท่านชิ้น” อาจจะทรงได้ความคิดอธิบายแบบนี้ครั้งแรกจากคำให้การของชิตก็ได้ ความจริงคือในสมัยนั้น มีการพูดคุยคาดเดาไปต่างๆนานาอย่างกว้างขวางว่า ทรงสวรรคตอย่างไร คนที่คิดว่าการสวรรคตอาจเกิดขึ้นได้โดยอุบัติเหตุในทำนองนี้จึงคงไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ “ท่านชิ้น” (หรือชิต สิงหเสนี) เพียงคนเดียว
(๒) เกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับไทยอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคต ดู William Stevenson, The Revolutionary King (2001) pp. 63-64, 95, 144-147, 155 สตีเวนสันกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยภาษาที่รุนแรงยิ่งกว่าข้อเขียนของลูกสาว “ท่านชิ้น” ที่ผมยกมาข้างต้นเสียอีก (โดยเฉพาะประโยคที่อ้างว่าเป็นของกษัตริย์อังกฤษในการให้เหตุผลปฏิเสธการพบกับในหลวง ซึ่งสตีเวนสันยกมาถึง ๒ ครั้ง) สตีเวนสันเล่าการเสด็จเยือนไทยของเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเค้นท์ในฐานะราชอาคันตุกะของในหลวง ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการคืนดี (reconciliation) จากความบาดหมางนี้ (pp. 146-147) ทำให้ผมคิดขึ้นมาว่า การที่ทรงเจาะจงเลือกบ้านไร่ของ “ท่านชิ้น” ในการนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราเสด็จไปพักผ่อน อาจจะไม่ใช่เรื่องไม่มีการเมืองเสียเลยก็ได้ (แต่สตีเวนสันไม่ได้พูดถึง “ท่านชิ้น” ในการเล่าการเสด็จเยือนของอเล็กซานดรา และทายาท “ท่านชิ้น” เองก็ไม่ได้เชื่อมโยงการเยือนนี้กับความเข้าใจผิดก่อนหน้านั้นระหว่างราชวงศ์อังกฤษ-ในหลวง-“ท่านชิ้น” ในกรณีสวรรคต)
การสนทนาระหว่างลอร์ดหลุยส์เมานท์แบทเทนกับพระองค์เจ้าธานี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ราชสำนักไทยทราบข่าวลือในแวดวงราชสำนักอังกฤษ ซึ่งลูกสาว “ท่านชิ้น” เล่าข้างต้น คือกรณีเดียวกับที่ปรีดีเอ่ยพาดพิงถึง (แต่ไม่เล่ารายละเอียด) ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕) พิมพ์ครั้งที่ ๒ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ๒๕๓๕, หน้า ๘๕.
<< Home