Friday, October 27, 2006

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 11 - 19)



(11) ตัวบทของพระราชดำรัสนี้ ซึ่งพระราชทานหลังการระเบิดไม่กี่นาทีและสำนักราชเลขาธิการ “เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้” ตีพิมพ์อยู่ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ปีพุทธศักราช 2520, หน้า 224-225 เปรียบเทียบกับที่รายงานใน เดลินิวส์ (เพียงฉบับเดียว) แล้ว ไม่แตกต่างกันนัก

(12) อันที่จริง ควรกล่าวว่า เหตุการณ์ร้ายต่อพระราชวงศ์เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนการระเบิดหน้าที่ประทับ คือประมาณ 20 นาฬิกาของวันที่ 21 กันยายน 2520 ระหว่างที่ขบวนรถพระที่นั่งของในหลวง พระราชินี และพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ กำลังแล่นกลับจากการเสด็จเยี่ยมราษฎรที่ปัตตานี เพื่อไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ นราธิวาส มาตามทางสายปัตตานี-นราธิวาส เมื่อถึงทางแยกหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ได้มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับโดยพลตำรวจสังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษผู้หนึ่ง มีคนนั่งซ้อนท้าย 2 คน เป็นพลตชด. 1 คนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 1 คน ได้วิ่งฝ่าตำรวจจราจรที่ปิดกั้นทางแยกไว้แล้ว ด้วยความเร็วสูง พุ่งเข้าชนรถพระที่นั่งบริเวณไฟหน้าด้านซ้าย มอเตอร์ไซค์ดังกล่าวล้มลง และเกิดไฟลุก คนขับและคนนั่งมอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บ ขบวนรถพระที่นั่งได้หยุดเพื่อช่วยเหลือนำส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล แล้วเคลื่อนต่อไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ดู เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2520 ซึ่งนอกจากรายงานข้อมูลของเหตุการณ์ข้างต้นตามแถลงการณ์รัฐบาลแล้ว ยังรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดเหตุ ขบวนรถพระที่นั่งได้หยุดลง พระราชินีและเจ้าฟ้าสิรินธรซึ่งประทับในรถอีกคันหนึ่ง และเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ซึ่งประทับในรถคันเดียวกับในหลวง “ได้เสด็จฯลงจากรถเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทันที ทรงให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯให้น้ำเกลือกับผู้บาดเจ็บ เจ้าฟ้าหญิงสิรินธรฯทรงถือขวดน้ำเกลือด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ได้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล รถพระที่นั่งจึงได้เสด็จฯกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์” ถ้ารายงานของ เดลินิวส์ นี้ถูกต้อง แสดงว่าขณะนั้น ทั้ง 3 พระองค์ที่เสด็จลงจากรถมาดูเหตุการณ์ไม่ได้ทรงรู้สึกว่าอยู่ในอันตราย อาจจะทรงเข้าพระทัยในขณะนั้นว่าเป็นอุบัติเหตุ น่าคิดว่า เมื่อเกิดระเบิดในวันต่อมา ขณะทรงนำร้องเพลง “เราสู้” นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ได้ทรงระลึกย้อนมองเหตุการณ์รถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งต่างออกไปหรือไม่ ต้นเดือนต่อมา (ตุลาคม) กรมตำรวจสรุปผลการสอบสวนกรณีนี้ว่า เป็นอุบัติเหตุ เนื่องจากคนขับเมาและประมาท ไม่ได้เจตนาทำร้ายในหลวง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลำพังการเกิด “อุบัติเหตุ” เช่นนี้ ก็นับว่าผิดปกติอย่างยิ่งแล้ว การมาเกิดขึ้นภายใน 20 ชั่วโมงก่อนเหตุการณ์ที่ยิ่งกว่าผิดปกติอย่างการระเบิดหน้าที่ประทับ ก็ต้องนับเป็นเรื่อง “ความบังเอิญ” ที่เกือบจะเหลือเชื่อ จนทุกวันนี้ ทั้ง 2 เหตุการณ์ (ทั้งในแง่แยกกัน และในแง่ที่มาเกิดพร้อมกัน) ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดกับสถาบันกษัตริย์ไทยสมัยใหม่ในเวลาอื่นใดเลย (และดู ความทรงจำของวสิษฐ เดชกุญชร, รอยพระยุคลบาท, หน้า 347-349 ซึ่งเปิดเผยว่า ขณะรถมอเตอร์ไซค์ชนนั้น ในหลวงทรงกำลังขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง)

(13) ดูเชิงอรรถที่ 12 ข้างต้น [หมายถึงเชิงอรรถที่ 12 ของบทความฉบับเต็ม ไม่ใช่ของ "ภาคผนวก" นี้ ในฉบับที่ตีพิมพ์ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นเชิงอรรถที่ 11 หน้า 145 ]

(14) ดูตัวบทพระราชดำรัสใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆปีพุทธศักราช 2520, หน้า 273-280 สำหรับเวลาที่ทรงใช้ ดูจากที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ลงมาประมาณ 17 น. บัดนี้ ก็ 17.55 น. แล้ว ก็ได้พูดมาเกือบตลอด”

(15) แถลงการณ์รัฐบาลวันที่ 23 กันยายน 2520 กล่าวว่า ขณะเกิดระเบิด ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังอ่านรายงานถวาย

(16) หนังสือที่ระลึกปีสุดท้ายที่มีการพิมพ์บทเพลง “เราสู้” ที่ผมหาได้คือปี 2527 ผมไม่แน่ใจว่ามีพระราชพิธีและหนังสือที่ระลึกในปี 2528 หรือไม่ ในปี 2529 ชื่อหนังสือได้เปลี่ยนเล็กน้อยเป็น อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ราชการพิเศษในการรักษาความมั่นคงภายใน และเข้าใจว่า เหลือเพียงเล่มเดียว ไม่ได้แบ่งเป็น 2 เล่มอีก ในเล่มมีเพียง “ความฝันอันสูงสุด” (ไม่ได้อยู่ในหน้าแรก) หนังสือปี 2530 ก็มีเฉพาะเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ขณะที่ในปี 2532 (หาฉบับปี 2531 ไม่ได้ อาจจะไม่มีพิธี) หนังสือเปลี่ยนชื่ออีกเป็น อนุสรณ์พิธีพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในและรักษาอธิปไตยของชาติ พ.ศ. 2532 และไม่มีทั้ง 2 เพลงเลย

(17) ข้อมูลนี้ได้จาก The Nation, 17 November 2004, 4A: “Yesterday’s audience with Her Majesty the Queen was unprecedented in the history of Royal engagement with the public. Her Majesty also hosted a tea party for the audience on the Dusit Palace lawns. Every audience member was given a card with a poem written by His Majesty entitled ‘The Ultimate Dream’. The poem declares Thai people’s willingness to die for their compatriots.” ไม่มีหนังสือพิมพ์ไทยฉบับใด (รวมทั้ง Bangkok Post) รายงานเรื่องการ์ดนี้ แม้ว่าบางฉบับจะพูดถึงการพระราชทานเลี้ยงน้ำชา

(18) เราสู้ อนุสรณ์คำนึงถึงเกียรติประวัติและสดุดีวีรกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และบรรดาที่ได้เข้าร่วมการต่อสู้ในการสร้างทางสายละหานทราย-ตาพระยา, หน้า 18.

(19) ดูจากข้อมูลในเว็ปไซ้ต์ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.thaiveterans.mod.go.th

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 5 - 10)



(6) ในหนังสือ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 – กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ (หน้า 7) ได้สรุปพระราชกรณียกิจเดียวกันนี้ของ 2 พระเจ้าลูกเธอ ไว้ดังนี้:
วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2519

เวลา 14.50 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จโดยรถยนต์ที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบรรจุศพ นายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 6 ค่ายวังสราญรมย์ 206/3 กทม. 70 ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ ศาลาทักษิณาประดิษฐ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร

เวลา 16.05 น. เสด็จถึงหน้าศาลาทักษิณาประดิษฐ วัดพระศรีมหาธาตุ เสด็จขึ้นศาลาทักษิณาประดิษฐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์สวดมาติกา จบแล้ว เสด็จไปทอดผ้า พระสงฆ์บังสกุล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงหลั่งทักษิโณทก พระเสงฆ์ถวายอนุโมทนา จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงอ่านประกาศสดุดีเกียรติคุณนายเสมอ อ้นจรูญ เสร็จแล้ว เสด็จไปที่หน้าหีบศพ ทรงหยิบดินห่อผ้าขาว-ดำ วางบนพานที่ตั้งอยู่หน้าหีบศพ และทรงวางพวงมาลา เมื่อเสร็จพิธีบรรจุศพแล้ว ทรงพระดำเนิน ทรงเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านและราษฎรที่เฝ้าอยู่เป็นจำนวนมากภายในบริเวณวัด ทรงพระปฏิสันถารอย่างทั่วถึงกับลูกเสือชาวบ้าน และราษฎรเหล่านั้น สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์ที่นั่งเสด็จกลับถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเวลา 17.40 น.
ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เล่ม 1 ปีพุทธศักราช 2519-2525 (2538) ไม่มีพระราชดำรัสสดุดีนายเสมอ อ้นเจริญ รวมอยู่ด้วย (พระราชดำรัสปี 2519 ที่รวมไว้ในเล่มมีเพียง 2 รายการ วันที่ 2 และ 22 เมษายน)

น่าสังเกตว่า ในกรณีระเบิดหน้าที่ประทับปี 2520 (ข้างล่าง) พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ก็ทรงเป็นผู้นำร้องเพลง “เราสู้”

(7) โดยมีเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่เคยพิมพ์อยู่ในหน้าแรกตั้งแต่ปี 2516 ย้ายไปพิมพ์บนปกหลัง (ยกเว้นปี 2527 ซึ่งสลับกัน และปี 2521 ซึ่งพิมพ์อยู่ติดกันใน 2 หน้าแรก) เฉพาะฉบับปี 2520 นี้ ไม่มี “ความฝันอันสูงสุด” อันที่จริง เนื้อเพลง “เราสู้” คงปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือที่ระลึกปี 2519 (มีพิธีวันที่ 6 พฤษภาคม) แต่ผมหาหนังสือที่ระลึกของปีนั้นได้เพียงเล่มเดียว คือเล่มรายชื่อและรูปถ่ายผู้เสียชีวิต ซึ่งมีเพลง “เราสู้” และ “ความฝันอันสูงสุด” พิมพ์อยู่ในหน้าติดกันก่อนรายชื่อและรูปถ่าย เล่มบทความซึ่งผมยังหาไม่ได้ อาจจะมี “เราสู้” ตีพิมพ์อยู่ด้วยก็ได้

(8) ผมถูกเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ โดยงานวิจัยของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง “ความรุนแรงกับการจัดการ ‘ความจริง’: ปัตตานีกึ่งศตวรรษ” (ฉบับร่าง สิงหาคม 2545 แต่ฉบับที่ผมใช้อ้างในเชิงอรรถที่ 19 ข้างล่างคือฉบับแก้ไขปรับปรุง พฤษภาคม 2547) บทที่ 6 เสียงระเบิดใกล้ที่ประทับ: แถลงการณ์, เสียงเพลง และรถมอเตอร์ไซค์, ยะลา 2520

ยกเว้นที่ระบุเป็นอย่างอื่น ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในย่อหน้าถัดไป ผมสรุปมาจากแถลงการณ์ที่รัฐบาลออกในขณะนั้น ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ (ผมใช้ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, บ้านเมือง, สยามรัฐ, ดาวสยาม และ ตะวันสยาม)

(9) วสิษฐ เดชกุญชร รอยพระยุคลบาท, หน้า 351-352 “ผมตัดสินใจก้าวจากพื้นพลับพลาขึ้นไปบนแท่นที่เขาจัดถวายให้เป็นที่ประทับทั้งสี่พระองค์โดยเฉพาะ ผมเข้าไปยืนจนชิดพระวรกายพระเจ้าอยู่หัว และหันหน้าออกเพื่อเผชิญภัยที่อาจตามมา พร้อมๆกันนั้น นายทหารราชองครักษ์ประจำและนายตำรวจราชสำนักประจำคนอื่นๆ ก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ผมเชื่อว่าคงเป็นครั้งแรกและยังเป็นครั้งเดียวที่พวกเราได้เข้าถวายความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดถึงเพียงนั้น ตามหลักการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพึงกระทำ ก็คือเอาตัวบุคคลสำคัญผู้นั้นออกจากที่เกิดเหตุไปทันที เพื่อมิให้ได้รับอันตรายจากเหตุร้ายที่ยังอาจจะตามมาอีก แต่ไม่มีใครกล้าถวายบังคมทูลให้เสด็จออกจากพลับพลาพิธีนั้น เพราะทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯทรงแสดงพระกิริยามั่นคง ทรงยืนนิ่งอยู่ สีพระพักตร์เป็นปกติ”

(10) เกี่ยวกับการรายงานข่าวหรือ “การจัดการความจริง” กรณีนี้ของหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ดูงานวิจัยของชัยวัฒน์ที่อ้างถึงในเชิงอรรถที่ 8 ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า โดยทั่วไป ชัยวัฒน์ให้ภาพที่ไขว้เขวด้วยการตีความมากเกินไป (over-interpretation) เขาเสนอว่ารูปแบบการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2520 เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับวันที่ 23 โดยในวันที่ 23 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเสนอข่าวเหมือนๆกัน ขณะที่วันต่อมา “เริ่มเลือกให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆในเหตุการณ์ต่างกันออกไป” (หน้า 200 ของงานวิจัย การขีดเส้นใต้เน้นคำของชัยวัฒน์เอง) ผมเห็นว่า ยกเว้นกรณี เดลินิวส์ ที่ผมจะอธิบายข้างล่าง (และ สยามรัฐ ในบางด้าน) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเสนอข่าวนี้ในลักษณะที่เหมือนๆกันทั้ง 2 วัน คือ ไม่รายงานข่าวเองว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อ้างจากแถลงการณ์ของรัฐบาล (หรือในภาษาหนังสือพิมพ์ว่า “ข่าวแจก”) ผมคิดว่า สาเหตุสำคัญที่ภาพรวมของชัยวัฒน์ไขว้เขว เพราะเขา “ตกหล่น” ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง และมองข้ามความจริงอีกอย่างหนึ่ง ข้อมูลสำคัญที่ “ตกหล่น” คือ มีการเปิดเผยว่า กองเอกสารกรมตำรวจได้ขอร้องหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเกี่ยวกับการเสนอข่าวเรื่องที่เกิดขึ้นกับในหลวงติดกัน 2 วัน คือ รถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งวันที่ 21 (ดูเชิงอรรถที่ 12 ข้างล่าง) และระเบิดหน้าที่ประทับวันที่ 22 ว่า “ให้เสนอเป็นข่าวธรรมดา อย่าให้ประชาชนตื่นเต้น” (ดูคอลัมภ์ “ฟันวันละหน” ของ “ไอศูรย์ รังษี” ใน ตะวันสยาม วันที่ 24 และ 25 กันยายน 2520 ซึ่งโจมตี เดลินิวส์ อย่างรุนแรงที่ไม่ยอมทำตามคำขอร้องเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ เพราะ “ฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง” และ “ดึงสถาบันกษัตริย์มาหากิน”) ถ้าเรามองการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ขณะนั้นผ่านข้อมูลนี้ จะทำให้เห็นลักษณะที่เหมือนๆกันแบบ “ข่าวแจก” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (และไม่ตีความมากเกินไปแบบชัยวัฒน์) ส่วนความจริงอย่างหนึ่งที่ชัยวัฒน์มองข้ามคือ (ดังกล่าวข้างต้น) เดลินิวส์ เป็นฉบับเดียวที่เสนอข่าวในลักษณะของการรายงานเองจากที่เกิดเหตุเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่รายงาน “ข่าวแจก” เท่านั้นเหมือนฉบับอื่นๆทุกฉบับ เดลินิวส์ แทบจะเป็นฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายเหตุการณ์จริงหลังการระเบิดไม่กี่วินาที ในฉบับวันที่ 24 และ 25 ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้น (ไทยรัฐ ตีพิมพ์ภาพเหตุการณ์ 1 ภาพ แต่เป็นหลังการชุลมุนแล้ว แสดงว่ามีนักข่าวอยู่ในที่เกิดเหตุเหมือนกัน แต่กลับอาศัยแถลงการณ์รัฐบาลในการรายงานข่าว) เดลินิวส์ เป็นฉบับเดียวเช่นกัน ที่รายงานข่าวมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งที่นราธิวาสตอนค่ำวันที่ 21 กันยายน เพิ่มเติมจากที่เกิดเหตุ (ความจริง ผมเห็นว่า มีเรื่องที่ชัยวัฒน์มองข้ามหรือไม่เอ่ยถึงอื่นๆอีก ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพรวมออกมาไขว้เขว เช่นการที่เขากล่าวถึง “พาดหัว” ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ โดยไม่อธิบายว่า ลักษณะของการ “พาดหัว” เป็นอย่างไร ใหญ่เล็กแค่ไหน หรือการมองข้ามการวิจารณ์รัฐบาลของ คึกฤทธิ์ (สยามรัฐ วันที่ 27 กันยายน 2520 คอลัมภ์ “คลื่นใต้น้ำ” หน้า 5) กรณี สยามรัฐ นับว่ามีลักษณะเสนอข่าวต่างกับฉบับอื่นในบางด้าน คือเป็นฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ ข่าวหน้า 1 ในลักษณะวิจารณ์รัฐบาลโดยตรง: “ส.ส.ปฏิรูปตำหนิรัฐบาลทำหละหลวม ในการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องรับผิดชอบเต็มประตู” (แต่ก็ยังเหมือนฉบับอื่น – และต่างกับ เดลินิวส์ – ในแง่ที่ใช้ “ข่าวแจก” ของเหตุการณ์ล้วนๆเช่นกัน)

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 1 - 5)



(1) เป็นการบุกรุกเข้าไป ด้วยการตัดโซ่ที่ล่ามประตูรั้วทำเนียบ ดูการบอกเล่าของ พัลลภ โรจนวิสุทธ์, ยังเตอร์กของไทย, 2521, หน้า 209-211 ดูเหมือนพัลลภจะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

(2) ดาวสยาม 9 ตุลาคม 2519 รายงานข่าวอยู่ในหน้า 16 พระราชดำรัสอยู่ในหน้า 4 มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (ในฉลองพระองค์ชุดนายทหาร) ขณะทรงมีพระราชดำรัสกับลูกเสือชาวบ้าน พร้อมคำบรรยายในหน้า 1 และ 4 วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ ได้บันทึกเกี่ยวกับพระราชดำรัสครั้งนี้ที่มีส่วนนอกเหนือไปจาก ดาวสยาม ว่า “ได้มีรับสั่งขอบใจที่ทุกคนรู้สึกเจ็บร้อนแทนพระองค์” (ยังเตอร์กของไทย, หน้า 219) ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นรายงานข่าวนี้เลย ยกเว้น เดลินิวส์ วันที่ 9 ตุลาคม 2519 ซึ่งตีพิมพ์เฉพาะพระบรมฉายาลักษณ์ในหน้า 1 พร้อมคำบรรยายว่า “เสด็จฯทำเนียบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯไปทำเนียบรัฐบาลเมื่อเย็นวันที่ 6 ต.ค. ทรงมีรับสั่งกับลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งไปชุมนุมอย่างแน่นขนัดประมาณ 6 หมื่นคน”

(3) ตัวอย่างของพาดหัวหนังสือพิมพ์บางฉบับในบ่ายวันนั้น: “นองเลือด ตายเจ็บนับร้อย จับนศ.แขวนคอ-ประกาศฉุกเฉิน” (ไทยรัฐ), “จลาจลแล้ว แขวนคอ นศ. เผาสด 5 ศพ จับเลขาศูนย์นิสิต-ให้ปลด 3 รมต.ด่วน” (เดลินิวส์), “นองเลือด! ประชาชนขยี้ศูนย์-จับแขวนคอ ตายนับร้อย” (ตะวันสยาม) ภาพถ่ายนักศึกษาถูกแขวนคอและถูกเผาได้รับการตีพิมพ์ทุกฉบับ

(4) วสิษฐ เดชกุญชร, รอยพระยุคลบาท, มติชน 2545, หน้า 307 ผมถูกทำให้ตระหนักถึงข้อมูลนี้จากบทความ “กลุ่มพลังฝ่ายขวาและสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ของ พุทธพล มงคลวรรณ ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (บก.), 25 ปี 6 ตุลา ในบริบทสังคมไทย. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2546, หน้า 200

(5) เสียงปวงชน 9 ตุลาคม 2519, หน้า 12 ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมผู้บาดเจ็บของพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ครั้งนี้และการเสด็จไปพบลูกเสือชาวบ้านที่ทำเนียบในเย็นวันที่ 6 ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชข้างต้น ไม่ได้รับการบันทึกในหนังสือทางการ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 – กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ (ดูหน้า 2 ของหนังสือ ซึ่งสรุปพระราชกรณียกิจวันที่ 5 ตุลาคม แล้วข้ามไปวันที่ 8 ตุลาคมเลย) ที่น่าสนใจคือ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2519 ได้ตีพิมพ์ภาพในหลวงและสมเด็จพระบรมฯ กำลังทรงเสด็จทอดพระบาท โดยมีลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งนั่งถวายบังคมกับพื้น พร้อมคำบรรยายว่า “เมื่อลมฝนบนฟ้ามาแล้ว ล่มโพธิแก้วจะพาพฤกษาสดใส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พสกนิกรชาวไทยผู้มั่นคงในองค์พระมหากษัตราธิราช เฝ้าถวายความจงรักภักดีโดยคับคั่ง” ถ้าคำบรรยายนี้ถูกต้อง ก็แสดงว่า ในวันนั้น ในหลวงทรงเสด็จไปยังบริเวณใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ (ธรรมศาสตร์-สนามหลวง) มาก น่าเสียดายว่า คำบรรยายไม่ได้ระบุว่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอะไรและเวลาใด (ทั้ง 2 พระองค์อยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล) ติดกันยังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมฯทรงกำลังนมัสการพระญาณสังวร โดยมีคำบรรยายว่า “พุทธมามก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จฯ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามก ปฏิบัติพระองค์โดยเบญจศีล ยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นี้” (ทรงอยู่ในฉลองพระองค์สูทสากล จึงอาจเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่เสด็จวัดพระแก้วในอีกภาพหนึ่ง)


เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของในหลวงและพระราชวงศ์ในวันที่ 6 ตุลา และวันต่อๆมา นับเป็นเรื่อง irony ที่ ในหนังสือซึ่งเต็มไปด้วยการสรรเสริญพระบารมีของ กอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร (Kobkua Suwannathat-Pian, Kings, Contry and Constitutions: Thailand Political Development 1932-2000. RoutledgeCurzon, 2003, pp. 173-174) มีข้อความที่ผิดความจริง ต่อไปนี้ :
Two days after the massacre, the King broke his silence. His Majesty made a radio broadcast calling for national unity in the face of the crisis. The message was clear: King Bhumibol had issued 'a strong endorsement' of the new military junta..... Perhaps to emphasize further the unmistakable stand of the Throne, Queen Sirikit and the royal Princesses went to visit and provide food for the Village Scouts who encamped in the campus of Thammasat University. The death of democracy appeared a small prize to pay for the return of political stability and social status quo.
ความจริง คือ ในคืนวันที่ 8 ตุลาคม มีคำปราศรัยของสงัด ชลออยู่ และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร แจ้งให้ประชาชนทราบถึงพระบรมราชโองการแต่งตั้งธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีพระราชดำรัสของในหลวง (ดูรายงานข่าวโดยละเอียดใน ไทยรัฐ 10 ตุลาคม 2519) และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ไม่ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมและพระราชทานอาหารแก่ลูกเสือชาวบ้านที่ตั้งแคมป์ในธรรมศาสตร์ (หลังเหตุการณ์ ไม่มีลูกเสือชาวบ้านตั้งแคมป์อยู่ที่นั่นด้วยซ้ำ มีแต่ตำรวจทหาร!) มีแต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จเยี่ยมตำรวจที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาลตำรวจดังกล่าวข้างต้น กอบเกื้อไม่ได้อ้างอิงแหล่งข้อมูลใดๆสำหรับเรื่องสำคัญนี้ และขอให้สังเกตประโยคสุดท้ายที่ผมยกมาข้างต้นว่า กอบเกื้อเลือกใช้คำ (นามธรรม) ว่า "The death of democracy" แทนที่จะเป็นคำ (รูปธรรมและจริงกว่า) ว่า students หรือ demonstrators ซึ่งจะทำให้ความหมายของประโยคนี้ ในบริบทของข้อความย่อหน้านี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล

ใน The King Never Smiles: A Biography of Thailand's King Bhumibol Adulyadej (Yale University Press, 2006, p.237), Paul M Handley กล่าวว่า "Some people claim to have seen Prince Vajiralongkorn on the scene at Thammasat on October 5 and 6 in the company of police and Village Scouts." แต่ข้ออ้างของ "some people" (Handley ไม่ได้ระบุว่าใคร) ไม่น่าจะเป็นความจริงเช่นกัน

Thursday, October 26, 2006

เมื่อ ถวัติ เข้าเฝ้าขอขมา พระปกเกล้า (เชิงอรรถ)



(๑) ผมใส่เครื่องหมายคำพูดในที่นี้ เพราะความเป็น “ผู้นำกรรมกร” ของถวัติ เช่นเดียวกับ กรณี “ฟ้องพระปกเกล้า” ที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรื่องที่ควรวิเคราะห์วิจารณ์ให้ดี (ซึ่งยังไม่มีใครทำ) ก่อนที่จะยอมรับเรื่องเล่าเชิง “ตำนาน” ที่ผ่านๆมาอย่างเบ็ดเสร็จง่ายๆ

(๒) วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรโณ, “พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”, วารสารกฎหมาย, ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2520), หน้า 160 (การเน้นคำของผม): “เหตุที่ต้องบัญญัติมาตรานี้ขึ้นในรัฐธรรมนูญเพราะเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2476 นายถวัติ ฤทธิเดช และ ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร ได้ร่วมกันทำคำฟ้องขึ้นฉบับหนึ่งเป็นโจทก์กล่าวหาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหมิ่นประมาทนายถวัติ ฤทธิเดช อันเป็นความผิดอาญา ให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ซึ่งศาลในขณะนั้นก็มิได้รับฟ้อง....”

(๓) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, “๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช: ผู้นำกรรมกรคนแรก”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๗, หน้า ๑๔๒-๑๔๙ และ แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย. มติชน, ๒๕๔๗.

(๔) ดูรายละเอียดใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “กรณี ถวัติ ฤทธิเดช ฟ้อง พระปกเกล้า”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๘, หน้า ๑๐๐-๑๒๐ หลังจากบทความนี้ถูกตีพิมพ์แล้ว ผมได้พบข้อมูลเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง จึงได้เขียนบางตอนของบทความใหม่ โปรดดูฉบับแก้ไขได้ที่นี่

(๕) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ร.๗ สละราชย์: ราชสำนัก, การแอนตี้คอมมิวนิสม์ และ ๑๔ ตุลา”, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (๒๕๔๔), หน้า ๑๒.

Monday, October 16, 2006

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๑๔ - ๒๑)



(๑๔) โทรเลขนี้อ้างจาก ปรีดา วัชรางกูร, พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย (๒๕๒๐), หน้า ๓๐๑-๓๐๒ ศิโรตม์อ้างโทรเลขฉบับนี้ (“๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช”, หน้า ๑๔๘ และ แรงงานวิจารณ์เจ้า, หน้า ๙๙ และ ๑๐๕) แต่กลับกล่าวว่าเป็นโทรเลขที่พระยาพหลทำขึ้นหลังจากสั่งให้อัยการฟ้องถวัติ “เพื่อแจ้งให้ราชสำนักรับทราบเรื่องนี้ [ฟ้องถวัติ] ในทันที” นับว่าเป็นการอ้างผิดที่แปลกอีกครั้งหนึ่ง (ดูเชิงอรรถที่ ๑๒ ประกอบ) เพราะความจริงเนื้อหาโทรเลขก็บอกอยู่ในตัวว่าเป็นโทรเลขแจ้งข่าวเรื่องกบฏบวรเดช (มิหนำซ้ำ ถวัติถูกอัยการฟ้องวันที่ ๓๐ กันยายน โทรเลขวันที่ ๑๒ ตุลาคม ไม่อาจเรียกว่า “ในทันที” อยู่นั่นเอง!)

(๑๕) ต้นฉบับร่างญัตติและโทรเลขฉบับนี้อยู่ในแฟ้ม “คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ สลค. ในโทรเลขมีผู้ใช้ดินสอขีดเส้น ๒ เส้น ใต้คำว่า “โปรด”

(๑๖) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๖/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

(๑๗) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๓/๒๔๗๖ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ ที่บันทึกไว้ว่า “เนื่องจากรายงานประชุมที่ ๔๙/๒๔๗๖” นั้น ผมได้คำนวนจากจำนวนครั้งของการประชุมครม.ในแต่ละเดือน (ประมาณสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง) น่าจะตกอยู่ในช่วงปลายพฤศจิกายนหรือต้นธันวาคม ๒๔๗๖ ครั้งสุดท้ายที่ทราบตัวเลขคือการประชุมวันที่ ๑ กันยายน ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๖ ดังที่กล่าวในตอนต้นบทความนี้ รายงานการประชุมครม.ระหว่างต้นเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ถึงปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ ได้หายไปจาก สลค. มีการเริ่มนับครั้งที่ของการประชุมใหม่หลังการเปลี่ยนรัฐบาลในปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ การประชุมวันที่ ๓๐ ธันวาคม จึงเป็นเพียง ครั้งที่ ๓ (แต่ของ “สมัยที่ ๒”)

(๑๘) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๕/๒๔๗๖ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๗๖

(๑๙) เจ้าหน้าที่กรมเลขาธิการ ครม. เขียนด้วยลายมือที่จดหมายว่า “เสนอคณะรัฐมนตรี [ลงชื่อ] ประมวล ๔/๑๐/๗๖” แต่ผมคิดว่า จดหมายคงยังไม่ถึงที่ประชุมครม.ในวันที่ ๕ มกราคม เมื่อมีการพิจารณาวาระเรื่องถวัติข้างต้น

(๒๐) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๖/๒๔๗๖ วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๖

(๒๑) อันที่จริง ผมคิดว่า ปัญหาเชิงกฎหมายและหลักการเรื่องการฟ้องร้องกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ นี้ ยังมีกรณีสำคัญอีกกรณีหนึ่ง คือถ้าเป็นการกระทำในเชิงส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ต้องมีผู้รับสนอง แต่บังเอิญการกระทำนั้นไปกระทบทางคดีได้ (เช่น ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างกษัตริย์กับราชินีหรือโอรสธิดาหรือพระญาติ พูดง่ายๆคือเรื่องภายในครอบครัว) เราจะเห็นปัญหาได้ชัดขึ้นถ้าลองเปรียบเทียบกับกรณีทรัพย์สิน ซึ่งมีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกมา แต่ในกรณีทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น เพื่อป้องกันการฟ้องร้องกษัตริย์ กฎหมายก็กำหนดว่าการกระทำอะไรเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งแม้จะเป็นส่วนพระองค์นี้ ก็ห้ามไม่ให้กระทำในนามพระองค์ แต่ให้ทำในนามผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๕ ทวิ วรรค ๒ “ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดๆอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า ‘ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์’ เท่านั้น”) ดังนั้น ถ้าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็ยังต้องฟ้องผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์แทน แต่กรณีส่วนพระองค์ที่ผมเพิ่งกล่าวถึง (“เรื่องภายในครอบครัว”) นอกจากจะไม่สามารถมีผู้รับสนองได้แล้ว ยังไม่สามารถมีผู้จัดการแบบทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่จะมารับแทนได้ด้วย ผมคิดว่าในกรณีนี้ ก็ต้องให้สภาวินิจฉัยเช่นกัน

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๘ - ๑๓)



(๗) ในแฟ้มเดียวกัน มีจดหมายลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๗๖ ของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ตอนรับจดหมายของพระยาอุดมพงศ์ฉบับนี้ โดยเพียงแต่เขียนว่า “ได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว” เท่านั้น (คือเขียนตามข้อความที่พระยาพหลเขียนในท้ายจดหมายพระยาอุดมพงศ์นั่นเอง ตามแบบฉบับของจดหมายตอบรับทางราชการ) ไม่มีการพูดถึงการให้เข้าพบในบ่ายวันที่ ๑๘ ขอให้สังเกตวันที่ตอบรับด้วยว่า ล่าช้าจากวันที่ได้รับจดหมายกว่า ๑ สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในจดหมายของพระยาอุดมพงศ์ถึงพระยาพหลเกี่ยวกับเรื่องนี้ฉบับต่อมา ลงวันที่ ๒๖ กันยายน (ดูข้างล่าง) มีตอนหนึ่งที่เขียนว่า “ซึ่งข้าพเจ้าได้มาเรียนชี้แจงแล้วนั้น” ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงการ “เรียนชี้แจง” ในจดหมายฉบับวันที่ ๑๘ นี้ หรือหมายถึงการได้เข้าพบขี้แจงจริงๆ

(๘) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๗๖.

(๙) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕.

(๑๐) น่าแปลกที่วิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยตรง David E. Streckfuss, “The Poetics of Subversion: Civil Liberty and Lese-Majeste in the Modern Thai State” ตกหล่นไม่กล่าวถึงกรณีฟ้องถวัตินี้ ซึ่งต้องนับเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกหลัง ๒๔๗๕ ผมเดาว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถวัติถูกฟ้องคือ มาตรา ๙๘ ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ “ผู้ใดทะนงองอาจแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระราชินีก็ดี มกุฏราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของการมันจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง” ส่วนข้อหากบฏนั้น ผมไม่แน่ใจว่าถวัติถูกฟ้องตามมาตราไหน เพราะมีหลายมาตราในหมวด “ความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร” แต่เป็นไปได้ว่าหมายถึง มาตรา ๑๐๔ ซึ่งถูกแก้ไขในปี ๒๔๗๐ “๑) ผู้ใดกระทำการอย่างใดใดก็ตาม สนับสนุนหรือสั่งสอนลัทธิหรือวิธีการเมือง หรือเศรษฐกิจ ด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์หรือด้วยอุบายใดใดก็ตาม ด้วยเจตนา หรือคำนวณว่าจะให้เกิดผลอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้คือ ก) เพื่อจะให้บังเกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือรัฐบาล หรือราชการแผ่นดินก็ดี....ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่าสิบปี และให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

(๑๑) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๑/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ “นายกรัฐมนตรีกล่าวเสนอให้หยุดพัก ๑๐ นาที ตกลงเป็นอันหยุดพักในเวลา ๑๘.๓๕ น. ครั้นถึงเวลา ๑๘.๕๐ น. เปิดประชุมจากเวลาหยุดพัก ประธานสภาฯกล่าวว่า เรื่องตีความในมาตรา ๓ จะว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอเลื่อนไป พระยาประวญวิชาพูลรับรอง ประธานสภาฯกล่าวว่า ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็จะได้เลื่อนไป และยังไม่มีกำหนดในเวลานี้”

(๑๒) ในทัศนะของผม การเล่าการประชุมสภาตอนนี้ของศิโรตม์ ในแรงงานวิจารณ์เจ้า เป็นตัวอย่างของการอ่านหรือตีความ “เกินหลักฐาน” และของการมีข้อสรุปที่ใหญ่โตล่วงหน้าเกี่ยวกับถวัติ (heroic tale) ที่ผมวิจารณ์ตอนต้น การอภิปรายเรื่องนี้เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องในเชิงระเบียบการประชุม แน่นอน เป็นความจริงที่ว่า ในที่สุด ไม่มีใครอยากจะเป็นสปอนเซอร์รับคำฟ้องของถวัติมานำเสนอเข้าสภา ซึ่งอาจจะเพราะเหตุผลทางการเมืองบางอย่าง แต่เหตุผลอะไร? บันทึกการอภิปรายที่มีอยู่ไม่เพียงพอให้สรุปลงไปทางใดทางหนึ่งได้ว่า ความไม่อยากเป็นสปอนเซอร์ของสมาชิกมาจากทัศนะอะไร เพราะเกือบไม่มีใครพูดแสดงเหตุผลที่ไม่เสนอตัวรับเป็นสปอนเซอร์ออกมา แต่ศิโรตม์กลับยืนยันหนักแน่น (โดยไม่ยกตัวอย่างเลย) ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายรายก็ยังคงวิตกว่าคำแถลงของถวัติอาจทำให้เกิด ‘วิกฤติ’ ทางการเมือง [!?] ถึงขั้นที่ไม่มีใครกล้ายื่นมือเข้ามารับผิดชอบคำแถลงนี้ แม้ในชั้นของการได้ชื่อว่าเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา....เป็นอันว่าหลังจากแจกจ่ายแถลงการณ์ของถวัติสู่ที่ประชุม [?] ตัวประธานสภาฯเองกลับออกตัวว่าท่านไม่ได้รับรองญัตติให้พิจารณาคำแถลงการณ์ของถวัติในเรื่องนี้ ผลก็คือ คำแถลงของถวัติถูก ‘แจก’ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน แต่ไมได้ถูก ‘เสนอ’ ให้เข้าสู่การพิจารณา” (หน้า ๑๐๒-๑๐๓) ข้อสรุปตอนท้ายของศิโรตม์นี้ผิดข้อเท็จจริงอันเนื่องจากการอ่านรายงานการประชุมผิดอย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงคือ “คำแถลงการณ์เปิดคดี” (คำของถวัติเอง) ที่สมาชิกสภาเถียงกันว่าจะรับหรือไม่รับหรือมีใครจะเป็นคนเสนอหรือไม่นั้น หมายถึงเอกสารที่ถวัติเตรียมไว้ฟ้องพระปกเกล้าตั้งแต่แรก แต่มังกร สามเสนไม่รับ ไม่ใช่ตัวจดหมายที่ประธานสภาอ่านข้างต้น (ดูย่อหน้าที่ ๓ ของจดหมาย) “คำแถลงการณ์เปิดคดี” นี้ ไม่ได้ “ถูกแจก แต่ไม่ถูกเสนอ” อย่างที่ศิโรตม์เขียนเลย! ประธานสภาเพียงแต่อ่านจดหมายข้างต้น (“จดหมายปะหน้า” ในภาษาสมัยใหม่) ให้ฟังเท่านั้น (ไม่ได้ “แจก” เช่นกัน) แต่ที่เถียงกัน ไม่ใช่เถียงเรื่องจดหมายฉบับนี้แต่อย่างใด (เพราะอ่านให้ฟังไปแล้ว)

(๑๓) ผมเขียนเช่นนี้ในลักษณะที่ถือว่า จดหมายฉบับนี้ และการที่ทรงอ้างความล่าช้าเรื่องการตีความมาตรา ๓ เป็นเหตุให้ไม่ทรงเสด็จกลับกรุงเทพตามหมายกำหนดเดิม ตลอดจนการที่เรื่องนี้เกิดขึ้นใน ๒๔ ชั่วโมงก่อนกบฏบวรเดชในเย็นวันที่ ๑๑ ตุลาคม ล้วนไม่มีเบื้องหลังและเป็นความบังเอิญทั้งสิ้น แต่ถ้าเชื่อตามคำพิพากษาของศาลพิเศษปี ๒๔๘๒ ที่กล่าวหาว่า พระปกเกล้าทรงรู้เห็นเป็นใจกับการกบฏ ในลักษณะที่ทรงให้ความช่วยเหลือพวกกบฏล่วงหน้า (ดู กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ, หน้า ๒๙-๓๐) จดหมายฉบับนี้และการอ้างเรื่องการตีความมาตรา ๓ ล่าช้าเป็นเหตุไม่ยอมเสด็จกลับ ก็อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีเบื้องหลังสำคัญ คือเป็นจดหมายและข้ออ้างบังหน้า ที่ไม่ทรงเสด็จกลับเพราะทรงรู้ว่ากำลังจะมีกบฏ ไม่ใช่เพราะความล่าช้าในการตีความมาตรา ๓ เท่าที่ผมทราบ ยังไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๑ - ๖)



(๑) ชื่อบทความจริงๆคือ “๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช: ผู้นำกรรมกรคนแรก”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๗, หน้า ๑๔๒-๑๔๙.

(๒) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, แรงงานวิจารณ์เจ้า: ประวัติศาสตร์ราษฎรผู้หาญกล้าท้าทายสมบูรณาญาสิทธิ์ไทย (มติชน, สิงหาคม ๒๕๔๗).

(๓) ที่ว่าถวัติฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาข้อหา “หมิ่นประมาทราษฎร” นั้น ศิโรตม์อ้างหนังสือชีวประวัติพระปกเกล้าของ “นายหนหวย” (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) ที่รู้จักกันดี (เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ) “นายหนหวย” เขียนโดยไม่มีการอ้างอิงที่เหมาะสม ตามแบบฉบับนักเขียนสารคดีรุ่นเก่าโดยทั่วไป ความจริงในคำร้องเรียนของถวัติต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ศิโรตม์เองยกมาทั้งฉบับนั้น ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาพยายาม “ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ไม่ใช่ฟ้องศาล (ดูรายละเอียดข้างล่าง) นอกจากนี้ งานของศิโรตม์ยังละเลยไม่ใช้ประโยชน์จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้อีก ๒ ครั้ง เขาอ้างเฉพาะครั้งการประชุมวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๗๖ โดยอ้างผิดเป็นวันที่ ๔ เขาเข้าใจผิดเรื่องที่อภิปรายกัน และยังเข้าใจผิดเรื่องโทรเลขพระยาพหลถึงพระปกเกล้ากรณีกบฏบวรเดช (ดูเชิงอรรถที่ ๑๒ และ ๑๔ ข้างล่าง)

(๔) สังศิต พิริยะรังสรรค์, ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย (๒๕๒๙) ตัวอย่างสำคัญหนึ่งที่ “โครงเรื่อง” (plot) ของการบรรยายแบบนี้ทำให้มองภาพไขว้เขวไม่สมจริง คือกรณีสิ่งที่เรียกว่า “สถานแทนทวยราษฎร์” ที่ศิโรตม์บรรยายว่าเป็น “องค์กรที่ถวัติจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง” แต่ถ้าลองอ่าน “ระเบียบการ” ของ “องค์กร” นี้ให้ดีๆ โดยไม่สรุปล่วงหน้าว่านี่เป็นเรื่องของ “ชนชั้นกรรมกร”, “สามัญชน”, “หาญกล้า”, “ท้าทายระบอบเก่า” ของ plot แบบ heroic tale นี้ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “สถานแทนทวยราษฎร์” นั้น แท้จริงแล้ว คือวิธีหารายได้ หางานทำ หรือเป็นอาชีพอย่างหนึ่งของถวัตินั่นเอง! (และของคนสมัยนั้นอีกจำนวนมาก ศิโรตม์กล่าวว่า “การรวมกลุ่มแบบนี้เป็นปรากฏาการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทยในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕”) พูดแบบภาษาสมัยใหม่คือเป็น marketing ploy (กลยุทธการตลาด) อย่างหนึ่ง ศิโรตม์เขียนว่าสมาชิก (หรือ “นายจ้าง”) ของสถานแทนทวยราษฎร์ ประเภทที่ ๓ “จ่ายค่าสมาชิกในอัตราเดือนละ ๑ บาท เพื่อแลกกับบริการที่มีราคาแพงกว่านั้นในทุกๆด้าน” ความจริง “ระเบียบการ” ระบุว่า “เรื่องค่าใช้สรอย เป็นต้นว่า พาหนะหมอความหมอยา ค่ายา...ค่าใช้สรอยเหล่านี้...นายจ้างประเภทที่ ๓ เสียค่าใช้สรอยทุกอย่าง” จริงที่ว่า “ค่าจ้างหมอความหมอยา” นั้น “ไม่ต้องเสีย” แต่ก่อนจะรีบสรุป ควรต้องสืบให้ได้ก่อนว่า “ค่าจ้างหมอความหมอยา” นั้น ปรกติเสียเท่าไรเมื่อเทียบกับ “ค่าใช้สรอย” ต่างๆเช่น “ค่ายา” ที่สมาชิกต้องเสียเอง ที่สำคัญ โดยทั่วไป คงไม่มีใครหาหมอความหมอยาทุกวันหรือกระทั่งทุกเดือน ซึ่งถ้าเช่นนั้น “ค่าสมาชิก” ที่เสียเป็นรายเดือน ก็เป็นรายได้หรือกำไรสะสมที่ถวัติหรือคนที่ตั้งองค์กรแบบนี้ได้แบบกินเปล่าไป คล้ายบริษัทประกันภัยสมัยใหม่ สรุปแล้ว “สถานแทนทวยราษฎร์” ก็คือการที่ถวัติเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการติดต่อหมอและทนายความให้ โดยขอค่าตอบแทนเป็นรายเดือน หรือทำตัวเป็นนายหน้าหางานให้ “สมาชิก” ไม่เกี่ยวกับ plot สูงส่งอะไรที่ศิโรตม์เขียน (“องค์กรที่ถวัติจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานโดยตรง”)

(๕) จดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับกรณีถวัติฟ้องพระปกเกล้าที่นำมาอ้างในบทความนี้ทั้งหมด มาจากแฟ้มชื่อ “คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๘ กันยายน ๒๔๗๖ – ๒๒ มกราคม ๒๔๗๖)” ในเอกสารชุด “กรณีสละราชสมบัติ” ซึ่งเก็บอยู่ที่ สลค.

(๖) ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ภาษาไทยช่วงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ไม่มีเหลืออยู่เลยในหอสมุดแห่งชาติ แม้แต่ในรูปไมโครฟิลม์ เมื่อประมาณปีที่แล้ว (๒๕๔๖-๔๗) ระหว่างที่ผมค้นคว้าข้อมูลเพื่อเขียนบทความเรื่องอื่น ยังมีประชาชาติของเดือนนี้ในรูปไมโครฟิลม์ให้บริการ แต่ก็อยู่ในสภาพที่อ่านเกือบไม่ได้ เพราะถ่ายจากต้นฉบับที่ทรุดโทรมมาก ปัจจุบันแม้แต่ฉบับไมโครฟิล์มนี้ก็งดให้บริการแล้วเนื่องจากฟิล์มเสื่อมสภาพ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีการถ่ายไมโครฟิล์มใหม่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ายังมีต้นฉบับ (ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือฟิล์มต้นฉบับ) เหลืออยู่หรือไม่ ในบทความศิลปวัฒนธรรม ศิโรตม์กล่าวว่า ถวัติยื่นฟ้องพระปกเกล้าต่อศาลอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทราษฎรเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๗๖ โดยอ้างประชาชาติฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน และเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศของ “นายหนหวย” แต่น่าแปลกว่าในหนังสือเล่มแรงงานวิจารณ์เจ้า เขาอ้างเฉพาะราชันผู้นิราศเท่านั้น ที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าศิโรตม์ได้อ่านประชาชาติจริง เหตุใดจึงคลาดเคลื่อนเรื่องถวัติฟ้องศาลทั้งที่ไม่ได้ฟ้อง (ประชาชาติเองไม่น่าจะรายงานผิด?) ในราชันผู้นิราศ “นายหนหวย” อ้างบทบรรณาธิการกรุงเทพเดลิเมล์โดยหลุย คีรีวัตร ซึ่งกล่าวว่าถวัติฟ้องศาลอาญาเช่นกัน แต่ผมไม่แน่ใจว่า “นายหนหวย” อาจจะอ้างมาผิดๆก็ได้ ดังที่จะแสดงให้เห็นต่อไป ถวัติไม่ได้ฟ้องศาลแน่นอน อันที่จริง เมื่อปีก่อน ผมเองได้อ่านประชาชาติฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๗๖ โดยไม่เห็นข่าวถวัติ แต่เป็นไปได้ว่าผมอาจจะตกหล่นก็ได้ เพราะไม่ได้ตั้งใจค้นหาเรื่องนี้ในตอนนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ผมยังได้ตรวจดู Bangkok Times ช่วงเดือนกันยายน ๒๔๗๖ แต่ก็ไม่มีข่าวถวัติ อย่างไรก็ตาม มีการรายงานข่าวนี้ในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นอย่างแน่นอน เพราะดูจากจดหมายรัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งผมกำลังจะนำเสนอ (หัวข้อถัดไป) ที่ผมกล่าวข้างบนว่าการรายงานข่าวนี้อยู่ในระหว่างวันที่ ๑๖ ถึง ๑๘ กันยายนนั้น เอามาจากวันที่ที่ “นายหนหวย” ระบุว่ามีการฟ้องกับวันที่ของจดหมายรัฐมนตรีมหาดไทย