Friday, November 16, 2007

"เราสู้" (เชิงอรรถ 8 - 15)



(8) หลังจากพระราชทานพระราชดำรัสนี้แล้ว, วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งมีสาระไม่แตกต่างกัน เพียงแต่สั้นกว่ามาก (ตามพระราชประเพณี): “คนไทยมีชาติมีประเทศอันตั้งมั่นโดยอิสระและเสรีมาช้านาน…แต่ในปัจจุบันนี้ มีสภาวการณ์หลายอย่างทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นเหตุบีบคั้นคุกคามความมั่นคงปลอดภัยและอิสรภาพของเรามากขึ้นทุกวัน จำเป็นที่ทุกคนจะต้องต่อสู้ป้องกัน เพื่อรักษาชาติประเทศและความเป็นไทยไว้มิให้เสื่อมสลาย ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ทุกฝ่ายยืนหยัดขึ้นต้านทานวิกฤตการณ์ทั้งนั้น”

(9) ด้วยการพาดหัวตัวโต 3 บรรทัด: เทิดพระเกียรติ ร.9 'จอมราชัน' ทุกสารทิศถวายพระพร, ตามด้วยหัวรองว่า “เผยพระราชกรณียกิจสำคัญ เสด็จทุกแห่งที่ประชาชนมีภัย” ที่เหลือของหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์. ประชาธิปไตย วันที่ 5 ธันวาคม 2518 เป็นอีกฉบับที่ชวนให้แปลกใจ เพราะไม่มีข่าวพระราชดำรัสวันที่ 4 เลย ทั้งๆที่โดยปกติเป็นหนังสือพิมพ์ประเภท broadsheet เน้นข่าวการเมืองแบบซีเรียสจริงจัง ส่วน สยามรัฐ งดตีพิมพ์ในวันนั้น

(10) ในหนังสือ ธ สถิต, หน้า 333 มีการเล่า “เกร็ด” การพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “เราสู้” ว่าทรง “เกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัย…หยิบซองจดหมายใกล้พระหัตถ์มาตีบรรทัด 5 เส้น” เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดขึ้นในวันปีใหม่ 2517 พอดี โดยกล่าวว่า “เกร็ด” นี้มาจากคำบอกเล่าของ แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขณะเดียวกัน ก็กล่าวว่า “ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเสร็จใหม่ๆ ได้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียงและโปรดเกล้าให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงก่อน ภายหลังจากที่วง อ.ส.วันศุกร์บรรเลงแล้ว ได้ทรงนำกลับไปแก้ไขและเรียบเรียงขึ้นใหม่ก่อนจะพระราชทานออกมาใหม่ เพลงรุ่นหลังๆนี้มีพระราชประสงค์ให้นักดนตรีทุกคนมีส่วนเข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขทำนอง มีพระราชดำรัสว่า การแต่งแบบนี้เรียกว่า ‘การแต่งแบบสหกรณ์’…” ความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างหนังสือ 2 เล่ม อาจสรุปได้ดังนี้

ธ สถิต: พระราชนิพนธ์บนซองจดหมายแบบฉับพลัน, พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี เรียบเรียง, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์บรรเลงก่อน, ทรงนำกลับไปแก้ไขโดยนำความเห็นของนักดนตรีมาประกอบ แล้วพระราชทานฉบับสมบูรณ์ออกมา

ดนตรี: พระราชนิพนธ์บนซองจดหมายแบบฉับพลันในวันปีใหม่ 2517, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์ที่กำลังบรรเลงอยู่ในวันนั้นที่บางปะอิน บรรเลงก่อน, ทรงนำกลับไปแก้ไข, พระราชทานให้ อ.ส.วันศุกร์ บรรเลง, ทรงแก้ไขอีกจนพอพระราชหฤทัย

(11) เนื้อหาของการ์ดฉบับนี้ คือ กลอนภาษาไทย “นักรบใด ใจมั่น พลันเริงร่า” ซึ่งการ์ดระบุในบรรทัดสุดท้าย ต่อจาก “ก.ส. 9 ปรุ/ส่ง” ว่า “(จากหนังสือ “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ”)” อาจจะสงสัยว่าหนังสือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เพิ่งตีพิมพ์ในปี 2536 การ์ด ส.ค.ส. ที่มีกลอนนี้จะเป็นการ์ด ส.ค.ส. ปี 2521 ได้อย่างไร? ความจริง ทรงเริ่มแปล A Man Called Intrepid ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2520 (เฉลิมพระเกียรติ, หน้า 119; ทรงแปลเสร็จวันที่ 25 มีนาคม 2523) เนื่องจากกลอนของ William Wordsworth นี้อยู่ในหน้าแรกของหนังสือ จึงเป็นไปได้ว่าจะทรงเริ่มแปลเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้น การที่กลอนแปลนี้ปรากฏอยู่ใน ส.ค.ส. ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นในเดือนธันวาคมปีนั้น นับว่าสอดคล้องในเรื่องเวลาอย่างยิ่ง

(12) ดูพระราชดำรัสนี้ได้ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท…ปีพุทธศักราช 2518, หน้า 365-366. ทรงรับสั่งตอนหนึ่งว่า “ประเทศของเราต้องประสบความวิกฤตด้านต่างๆติดต่อกันมาเป็นเวลานานพอสมควร ทำให้เกิดหวั่นวิตกกันไปว่าจะต้องประสบเคราะห์กรรมและอันตรายต่างๆอย่างร้ายแรง ความจริง…สถานการณ์ในบ้านเมืองของเรานั้นนับว่ายังดีอยู่…ไม่ควรที่เราจะตื่นตกใจจนเกินไป” บ้านเมือง 1 มกราคม 2519 พาดหัวตัวโตว่า: ในหลวงพระราชทานพรปีใหม่ วิกฤตต่างๆยังดีอยู่ เชื่อชาติไทยไปรอด; ไทยรัฐ: พระราชดำรัสทรงอำนวยพรปวงชน ทรงเตือน ‘อย่าตื่นตระหนก’; เดลินิวส์: พระพรวันปีใหม่ ‘บ้านเมืองเรายังดีอยู่ ไม่ควรตื่นตกใจ’; ดาวสยาม: พระราชดำรัสวันปีใหม่ ‘อย่าตกใจ’ บ้านเมืองเรายังดีอยู่; ประชาธิปไตย: พระราชดำรัสในโอกาสขึ้นปีใหม่ ทรงให้ชาวไทยหนักแน่น-สามัคคี; Bangkok Post: King calls for unity; The Nation: The King’s Message PANIC WILL ONLY LEAD TO CHAOS.

(13) เมื่อผมตีพิมพ์บทความนี้ครั้งแรกในปี 2544 ผมไม่ทราบว่าทรงใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขทำนองนานเพียงใด ทราบแต่ว่า มีการนำเพลง “เราสู้” ออกเผยแพร่ในหมู่กลุ่มพลังการเมืองฝ่ายขวาในขณะนั้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2519 หลักฐานแรกสุดที่ผมมีในตอนนั้น คือการอ้างถึงบางตอนของเพลงนี้ โดยหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม เพื่อตอบโต้นักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ในต้นเดือนกรกฎาคม “แม้ว่าโดยส่วนตัว ผมคิดว่า ‘เราสู้’ น่าจะเป็นที่รู้จักกันแล้วก่อนหน้านั้นเล็กน้อย” (ผมเขียนเช่นนี้ในปี 2544 – กรณีดาวสยามกับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ ดูหัวข้อถัดไปข้างล่าง) หลังจากบทความของผมตีพิมพ์ได้ไม่นาน ผมจึงทราบว่าตัวเองเลินเล่อตกหล่นด้านหลักฐานข้อมูลอย่างชนิดน่าอับอายมาก (ในฐานะนักประวัติศาสตร์อาชีพ) ในงานวิจัยเรื่อง “พิทักษ์โลกเสรี: คำอธิบายและการจัดการความจริงในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีสงครามเวียดนาม” ของ พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ซึ่งผมอ้างถึงก่อนหน้านี้ (เชิงอรรถที่ 7 ข้างต้น) มีการอ้างอิงรายงานข่าวเรื่องเพลง “เราสู้” ใน ดาวสยาม ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2519 ที่เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าในหลวงใช้เวลาในการปรับปรุงทำนองนานเท่าใดและมีการเผยแพร่เพลงนี้ต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อไร (อยู่ในหน้า 116-117 ของงานวิจัยฉบับร่าง) ด้วยอานิสงค์ของงานวิจัยของพวงทองดังกล่าว ผมจึงได้ตามไปอ่าน ดาวสยาม ฉบับนี้ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเพลง “เราสู้” เพิ่มเติม ดังที่บรรยายข้างล่าง

(14) กรณี รต. สิรินธร กีรติบุตร รน., “เพลงปลุกใจไทย (พ.ศ. 2475-2525): การวิเคราะห์ทางการเมือง.” วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2528, หน้า 117 ที่ระบุว่า เพลงนี้เผยแพร่ในช่วงปี 2520-2525 นั้น ผิดอย่างแน่นอน

(15) ดาวสยาม 11 กรกฎาคม 2519, หน้า 4 คอลัมน์ “บุคคลในข่าว” ของ “กะแช่”: “เราสู้! ถึงใครจะขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น! สู้มันที่นี่!! สู้มันตรงนี้!!!…” และหน้า 5 คำบรรยายใต้ภาพการชุมนุมหน้าสำนักงาน ดาวสยาม: “สู้ที่นี่ สู้ตรงนี้ ฯลฯ”