Monday, October 16, 2006

ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ ๑๔ - ๒๑)



(๑๔) โทรเลขนี้อ้างจาก ปรีดา วัชรางกูร, พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย (๒๕๒๐), หน้า ๓๐๑-๓๐๒ ศิโรตม์อ้างโทรเลขฉบับนี้ (“๑๑๐ ปี ถวัติ ฤทธิเดช”, หน้า ๑๔๘ และ แรงงานวิจารณ์เจ้า, หน้า ๙๙ และ ๑๐๕) แต่กลับกล่าวว่าเป็นโทรเลขที่พระยาพหลทำขึ้นหลังจากสั่งให้อัยการฟ้องถวัติ “เพื่อแจ้งให้ราชสำนักรับทราบเรื่องนี้ [ฟ้องถวัติ] ในทันที” นับว่าเป็นการอ้างผิดที่แปลกอีกครั้งหนึ่ง (ดูเชิงอรรถที่ ๑๒ ประกอบ) เพราะความจริงเนื้อหาโทรเลขก็บอกอยู่ในตัวว่าเป็นโทรเลขแจ้งข่าวเรื่องกบฏบวรเดช (มิหนำซ้ำ ถวัติถูกอัยการฟ้องวันที่ ๓๐ กันยายน โทรเลขวันที่ ๑๒ ตุลาคม ไม่อาจเรียกว่า “ในทันที” อยู่นั่นเอง!)

(๑๕) ต้นฉบับร่างญัตติและโทรเลขฉบับนี้อยู่ในแฟ้ม “คดีนายถวัติ ฤทธิเดช กับพวก ฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่ สลค. ในโทรเลขมีผู้ใช้ดินสอขีดเส้น ๒ เส้น ใต้คำว่า “โปรด”

(๑๖) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๒๖/๒๔๗๖ (สามัญ) วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

(๑๗) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๓/๒๔๗๖ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๖ ที่บันทึกไว้ว่า “เนื่องจากรายงานประชุมที่ ๔๙/๒๔๗๖” นั้น ผมได้คำนวนจากจำนวนครั้งของการประชุมครม.ในแต่ละเดือน (ประมาณสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง) น่าจะตกอยู่ในช่วงปลายพฤศจิกายนหรือต้นธันวาคม ๒๔๗๖ ครั้งสุดท้ายที่ทราบตัวเลขคือการประชุมวันที่ ๑ กันยายน ซึ่งเป็นครั้งที่ ๒๐/๒๔๗๖ ดังที่กล่าวในตอนต้นบทความนี้ รายงานการประชุมครม.ระหว่างต้นเดือนกันยายน ๒๔๗๖ ถึงปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ ได้หายไปจาก สลค. มีการเริ่มนับครั้งที่ของการประชุมใหม่หลังการเปลี่ยนรัฐบาลในปลายเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ การประชุมวันที่ ๓๐ ธันวาคม จึงเป็นเพียง ครั้งที่ ๓ (แต่ของ “สมัยที่ ๒”)

(๑๘) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๕/๒๔๗๖ วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๗๖

(๑๙) เจ้าหน้าที่กรมเลขาธิการ ครม. เขียนด้วยลายมือที่จดหมายว่า “เสนอคณะรัฐมนตรี [ลงชื่อ] ประมวล ๔/๑๐/๗๖” แต่ผมคิดว่า จดหมายคงยังไม่ถึงที่ประชุมครม.ในวันที่ ๕ มกราคม เมื่อมีการพิจารณาวาระเรื่องถวัติข้างต้น

(๒๐) รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี (สมัยที่ ๒) ครั้งที่ ๖/๒๔๗๖ วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๖

(๒๑) อันที่จริง ผมคิดว่า ปัญหาเชิงกฎหมายและหลักการเรื่องการฟ้องร้องกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ นี้ ยังมีกรณีสำคัญอีกกรณีหนึ่ง คือถ้าเป็นการกระทำในเชิงส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ต้องมีผู้รับสนอง แต่บังเอิญการกระทำนั้นไปกระทบทางคดีได้ (เช่น ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างกษัตริย์กับราชินีหรือโอรสธิดาหรือพระญาติ พูดง่ายๆคือเรื่องภายในครอบครัว) เราจะเห็นปัญหาได้ชัดขึ้นถ้าลองเปรียบเทียบกับกรณีทรัพย์สิน ซึ่งมีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกมา แต่ในกรณีทรัพย์สินส่วนพระองค์นั้น เพื่อป้องกันการฟ้องร้องกษัตริย์ กฎหมายก็กำหนดว่าการกระทำอะไรเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งแม้จะเป็นส่วนพระองค์นี้ ก็ห้ามไม่ให้กระทำในนามพระองค์ แต่ให้ทำในนามผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๕ ทวิ วรรค ๒ “ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดๆอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า ‘ผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์’ เท่านั้น”) ดังนั้น ถ้าจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก็ยังต้องฟ้องผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์แทน แต่กรณีส่วนพระองค์ที่ผมเพิ่งกล่าวถึง (“เรื่องภายในครอบครัว”) นอกจากจะไม่สามารถมีผู้รับสนองได้แล้ว ยังไม่สามารถมีผู้จัดการแบบทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่จะมารับแทนได้ด้วย ผมคิดว่าในกรณีนี้ ก็ต้องให้สภาวินิจฉัยเช่นกัน