Wednesday, September 13, 2006

สมัชชาแห่งชาติ ๒๕๑๖ (เชิงอรรถ ๑-๕)



(๑) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๖๑ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๖, ฉบับพิเศษ หน้า ๑-๑๑๐ รายชื่อที่ตีพิมพ์ต่อจากตัวบทคำประกาศใน ราชกิจจาบุเบกษา ฉบับนี้ มีทั้งหมด ๒๓๔๙ รายชื่อ ซึ่งไม่ตรงกับรายชื่อที่ถูกประกาศในคืนวันที่ ๑๐ ธันวาคม ซึ่งมี ๒๓๔๖ รายชื่อ และในจำนวนนั้นมีรายชื่อบางคนที่เสียชีวิตแล้วรวมอยู่ด้วย ดังจะอธิบายข้างล่าง

(๒) ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๓๒ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖

(๓) ข้อมูลที่ว่าศิริกำลังไปต่างประเทศ มาจากการบอกเล่าของสัญญา ใน วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, สัญญา ธรรมศักดิ์ คนของแผ่นดิน, หน้า ๒๑๙ : “เข้าใจว่าพระองค์ท่านทรงเลือกผมด้วยพระองค์เอง ไม่ทราบเลยว่าทรงปรึกษาใครบ้างหรือเปล่า และไม่ได้ตรัสบอกผมก่อนแม้แต่คำเดียว ผมมารู้เอาพร้อมๆกับคนอื่น เมื่อท่านประกาศทางโทรทัศน์นั่นเอง....ผมไม่ได้เฉลียวใจอะไรที่คุณทวี แรงขำ ซึ่งเป็นรองประธานสภาอยู่ ถูกเรียกตัวเข้าวังในวันนั้น เพื่อรับสนองพระบรมราชโองการ ตอนนั้น ประธานสภาคือ พล.ต.ศิริ ศิริโยธิน แต่อยู่เมืองนอก” ผมไม่แน่ใจว่า ทรงมีปัญหาไม่แน่พระทัยในความร่วมมือของศิริด้วยหรือไม่ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของถนอม ดูเหมือนจะเป็นการตัดสินเองโดยไม่ได้รับการขอร้องหรือบีบบังคับจากใคร ซึ่งถ้าเช่นนั้น ก็ไม่น่าที่ศิริ ซึ่งเป็นลูกน้องถนอม ถ้ากลับจากต่างประเทศ จะไม่ยอมลงนามรับสนองฯการตั้งคนอื่นเป็นนายกแทน (ดูคำให้สัมภาษณ์ของถนอมเรื่องการลาออกจากตำแหน่งนายกต่อยศ สันตสมบัติ ใน อำนาจ บุคคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย, ๒๕๓๓, หน้า ๙๘-๙๙ และการบอกเล่าผ่าน ทรงสุดา ยอดมณี ลูกสาวของเขา ใน กังหันต้องลม, ๒๕๔๒, หน้า ๓๖๖-๓๖๙ – ดูเหมือนว่า เฉพาะการลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและการเดินทางไปต่างประเทศจึงเป็นพระราชประสงค์ของในหลวง) การที่ไม่ทรงรอศิริ จึงอาจเป็นเพียงพระราชประสงค์ที่ให้ได้นายกคนใหม่ทันทีเท่านั้น ไม่ใช่ไม่ไว้วางพระทัยในความร่วมมือของศิริ

(๔) สมัยหนึ่ง ฝ่ายซ้ายไทยมีการถกเถียงกันว่า ๒๔๗๕ มีความสำคัญเพียงใด ความเห็นที่ครอบงำขบวนการฝ่ายซ้ายจากทศวรรษ ๒๔๙๐ ถึงต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ คือ ๒๔๗๕ ไม่ประสบความสำเร็จ ในแง่การล้มล้างระบอบเก่าลงอย่างสิ้นเชิง (สังคม-การเมืองไทย ยังเป็น “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา”) หลังทศวรรษ ๒๕๒๐ ปัญญาชนที่ได้ชื่อว่า “ทวนกระแส” (ปัญญาชน “ซ้าย”?) หันมาให้ความสำคัญกับ ๒๔๗๕ ในแง่ที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ของ “ประชาธิปไตย” คือแม้จะไม่ได้ทำให้เกิดประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ควรเอามาเป็นประเด็นวิจารณ์ เพราะประชาธิปไตย “ไม่ใช่การต่อสู้ฉากเดียวจบ” (ดู เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, “ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหว ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕”, วารสารธรรมศาสตร์, มิถุนายน ๒๕๒๕, หน้า ๖๒-๖๘) แต่ถ้าเรามองในแง่ของเป้าหมายรูปธรรมของ ๒๔๗๕ ที่ต้องการยกเลิกระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย – คือระบอบที่ทรงทำอะไรได้เอง เพราะเป็น “กฎหมาย” เอง หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช” – ถ้ามองในแง่นี้ ความล้มเหลว (หรือการ “ยังไม่สิ้นสุด” unfinished) ของ ๒๔๗๕ ก็มีมากกว่าที่ปัญญาชนหลังทศวรรษ ๒๕๒๐ จะยอมรับกัน ดูการอภิปรายเรื่องนี้อีกครั้งในตอนท้ายบทความนี้

(๕)
มาตรา ๖ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยเก้าสิบเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีวาระคราวละสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

ถ้าตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกแทนก็ได้ ในกรณีที่ได้ทรงแต่งตั้ง สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงครบตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน