Tuesday, June 27, 2006

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑ - ๕)



(๑) กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ, หน้า ๒๖, ๓๐-๓๑, ๓๕๓-๓๕๔ ประเด็นของผมในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อกล่าวหารัชกาลที่ ๗ (หรือเจ้าระดับสูงอย่างกรมขุนชัยนาท) ของศาลพิเศษถูกต้องหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าคณะราษฎรมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะดำเนินการแบบนี้ เป็นความจริงด้วยว่า คำพิพากษานี้ทำขึ้นหลังรัชกาลที่ ๗ สละราชย์แล้วกว่า ๔ ปี ไม่ใช่ขณะยังครองราชย์อยู่

(๒) ดู สันติสุข โสภณศิริ (บก.), คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ ฉบับพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ๒๕๔๓, หน้า ๑๐๖-๑๒๕ การทำผิดกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายของศาลที่ปรีดีเสนอ ได้แก่ ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้จำเลยตามไปสืบพยานซักค้านในหลวงและพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์, ไม่มีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยคดี, วินิจฉัยกล่าวหาปรีดีลับหลังอย่างผิดความจริง และตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้งๆที่ไม่สามารถระบุว่าใครคือผู้ยิงรัชกาลที่ ๘ อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเด็นแรกนั้น ปรีดีพลาดอย่างสำคัญ เขากล่าวถึง ๒ ครั้งว่า “ในการที่ศาลอาญาเดินเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชชนนี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมี่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นั้น ศาลอาญาไม่อนุญาตให้จำเลยในคดีสวรรคตได้ไปเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลถาม ๒ พระองค์นั้น” (หน้า ๑๐๘) และ “พระราชกระแสในหลวงองค์ปัจจุบันที่ได้ทรงให้การเป็นพยานโจทย์ในคดีสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ . . . การเดินเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามวันดังกล่าวนั้น ศาลอาญาได้ให้ผู้พิพากษาและอัยการโจทย์ไปเดินเผชิญสืบโดยไม่อนุญาตให้จำเลยในคดีสวรรคตไปขอพระราชทานพระราชกระแส” (หน้า ๑๒๑) ความจริง การสืบพยานในหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นั้น กระทำในเมืองไทย เพราะระหว่างนั้นทรงเสด็จกลับมาเพื่อประกอบพระราชพิธีต่างๆที่รู้จักกันดี คือ ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์ (๒๙ มีนาคม), อภิเษกสมรส (๒๘ เมษายน) และฉัตรมงคล (๕ พฤษภาคม) ตัวบทคำให้การของในหลวงในหนังสือ ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์ ของชาลี เอี่ยมกระสินธ์ ที่ถูกปรีดีฟ้องและใช้อ้างอิงนั้น พิมพ์ตกหล่นอย่างสำคัญ คือตกคำว่า “ทรงตอบทนายจำเลย” ทำให้ดูราวกับว่ามีเพียงโจทก์ซักถามเท่านั้น ไม่มีฝ่ายจำเลยอยู่ด้วย แต่ความจริงจำเลยอยู่ด้วยและทนายจำเลยได้ซักค้านด้วย ดูตัวบทที่ตีพิมพ์ในสยามนิกร ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ส่วนที่ทรงตอบการซักค้านของทนายจำเลย เริ่มตั้งแต่ประโยคที่ว่า “คนที่ฉันเห็นวิ่งผ่านประตูห้องบันไดไปนั้น เขาผ่านโดยเร็ว ฉันไม่รู้ว่าเป็นใคร” และดูรายงานข่าวการสืบพยานในหลวงครั้งแรกในสยามนิกรฉบับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ซึ่งพาดหัวว่า “บรรทึกเสียงเผชิญสืบ ในหลวงทรงให้การอย่างช้าๆ องค์มนตรีนั่งฟังในหลวงครบชุด” และบรรยายว่าจำเลยทั้ง ๓ คนพร้อมด้วยทนายคือ ฟัก ณ สงขลา และเครือพันธ์ ปทุมรส ได้เข้าร่วมการสืบพยานด้วย คุณเครือพันธ์ (ปทุมรส) บำรุงพงศ์ ลูกเฉลียว ปทุมรส ได้ยืนยันกับผม (สนทนาทางโทรศัพท์ ๓ มีนาคม ๒๕๔๘) ว่า เธอจำได้ว่าได้ไปร่วมสืบพยานในหลวงที่วังสวนจิตรลดาด้วย สรุปแล้ว มีเพียงพระราชชนนีที่สืบพยานในสวิตเซอร์แลนด์ โดยทำกันในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๙๓ และฝ่ายจำเลยไม่ได้ไปด้วยจริง ในคำแถลงปิดคดี ฟัก ณ สงขลา ทนายจำเลยได้ยกประเด็นการสืบพยานโดยจำเลยไม่อยู่ด้วยเฉพาะกรณีพระราชชนนี ไม่ได้พูดถึงกรณีในหลวง “การที่ศาลให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาในต่างประเทศ ซึ่งจำเลยไม่สามารถที่จะติดตามไปฟังการพิจารณาได้ ศาลก็ย่อมจะถือเอาพยานหลักฐานในการดำเนินการพิจารณานอกประเทศนั้นประกอบเป็นหลักฐานลงโทษจำเลยไม่ได้” ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์โต้แย้งว่า “การไปเฝ้าเผชิญสืบสมเด็จพระราชชนนี ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นับตามกฎหมายศาลจะทำการสืบพยานนอกศาล ณ ที่ใดก็ได้” (ดู คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๓, หน้า ๒๐๑ และ ๓๗๙-๓๘๐)

(๓) สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (๒๕๑๗), หน้า ๑๓๗ และ ๑๔๒.

(๔) ความเห็นของครูเกอร์ Rayne Kruger, The Devil Discus (1964), p.200. และดูคำวิจารณ์ของปรีดีต่อคำพิพากษาเฉลียวของศาลฎีกาใน คำตัดสินใหม่, หน้า ๑๑๓-๑๒๓

คดีสวรรคตขึ้นศาลครั้งแรกวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๙๑ ศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๔ ให้ชิตมีความผิด ต้องประหารชีวิต ปล่อยเฉลียวและบุศย์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ให้ชิตและบุศย์มีความผิด ต้องประหารชีวิต ปล่อยเฉลียว ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ ให้ เฉลียว, ชิต และบุศย์ มีความผิด ต้องประหารชีวิตทั้ง ๓ คน

(๕) อนันต์ พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, เล่ม ๔ (๒๕๑๙), หน้า ๖๘๗-๖๘๘. การเน้นคำเป็นไปตามต้นฉบับ