Wednesday, September 13, 2006

องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ (เชิงอรรถ)



(๑) แน่นอน ยังเป็นปัญหาว่า จะมีกรณีอาญาอย่างไรที่กษัตริย์อยู่พ้นการฟ้องร้องยังโรงศาลแต่อาจถูกวินิจฉัยโดยสภาได้ เพราะตามมาตรา ๗ กำหนดว่า “การกระทำใดๆของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” หมายความว่า กษัตริย์ไม่สามารถทำอะไรด้วยพระองค์เอง ซึ่งถ้าเช่นนั้น การกระทำในนามกษัตริย์ ย่อมควรจะถูกฟ้องร้องยังโรงศาลได้ เพียงแต่ฟ้องผู้ร่วมลงนาม ไม่ใช่ฟ้องกษัตริย์ ถ้าเช่นนั้นก็น่าจะเหลือกรณีที่กษัตริย์ทำด้วยพระองค์เองได้โดยไม่ต้องมีผู้ลงนามร่วม คือเรื่องที่มีลักษณะ “ส่วนตัว” ซึ่งจะไม่มีผู้ถูกฟ้องแทน ผมได้อภิปรายประเด็นนี้ใน “กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม ๒๕๔๘, หน้า ๑๑๖-๑๑๘ และเชิงอรรถที่ ๑๙. ในบทความนั้นผมได้ยกกรณี “เรื่องภายในครอบครัว” ผมพบภายหลังว่าในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๒ มีสมาชิกสภาบางคนยกตัวอย่างเรื่องพระมหากษัตริย์ขับรถชนคนตาย (“ตัวอย่างถ้าเผื่อท่านขับรถยนต์ไปชนเขาตายอย่างนี้”) รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔ วันเสาร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๙๒, หน้า ๑๘๕.

(๒) ในกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ฉบับแรก “พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูด ฤาเขียน ถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๘” ไม่มีข้อกำหนดให้ “เคาพสักการะ” กษัตริย์ แต่มีข้อห้าม “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล” (มาตรา ๔) และ “ผู้ใด...ยุยงส่งเสริมให้อาณาประชาราษฎรทั้งหลายคิดเอาใจออกห่างจากความซื่อสัตย์สวามิภักดิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงค์สยามรัฐมณฑล” (มาตรา ๕ ข้อ ๑) ในทำนองเดียวกัน ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ที่ออกต่อมา มีข้อห้าม “ผู้ใดทะนงองอาจ แสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (มาตรา ๙๘) และ “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยประการใดๆ โดยเจตนา...เพื่อจะให้ขาดความจงรักภักดี หรือดูหมิ่นต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (มาตรา ๑๐๔) ซึ่งอาจตีความในทางกลับกันได้ว่า เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของพลเมืองที่จะต้องมี “ความซื่อสัตย์สวามิภักดิ์” (ร.ศ. ๑๑๘) และ “ความจงรักภักดี” (ร.ศ. ๑๒๗) ต่อกษัตริย์ แต่ในปี ๒๔๗๐ ข้อความตอนนี้ของกฎหมายอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “เพื่อให้บังเกิดความเกลียดชังหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” คือตัด “ความจงรักภักดี” ออกไป ผมเห็นว่า การห้ามหมิ่นประมาท (ซึ่งห้ามกระทำไม่เพียงต่อกษัตริย์ แต่ต่อคนธรรมดาทั่วไป) ไม่เหมือนกับการกำหนดบังคับว่าต้องจงรักภักดีหรือเคารพสักการะ เท่าที่ผมทราบ ในสมัยสมบูรณญาสิทธิราช ไม่มีกฏหมายที่ระบุอย่างชัดเจนถึงระดับที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

(๓) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๕, หน้า ๓๗๕-๓๗๗ (การเน้นคำเป็นไปตามต้นฉบับ) ตัวรายงานจริงพิมพ์ผิดข้อความของมาตรา ๓ ที่แก้ใหม่ ซึ่งประธานสภาอ่านให้สมาชิกฟังเพื่อลงคะแนน (ย่อหน้าสุดท้ายในรายงานที่อ้างข้างต้น) ว่า “พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” คือตกคำว่า “องค์” ตอนต้นประโยค ผมแก้ไขเติมให้ถูกต้อง

(๔) ดูบันทึกของปรีดี พนมยงค์ ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ใน ข่าวจัตุรัส ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๐ วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๒๕, หน้า ๑๖-๒๐ และใน ปรีดี พนมยงค์ มหาราชและรัตนโกสินทร์ (โครงการปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย, ๒๕๒๕, หน้า ๔๕-๕๒. ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นี่เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยการมีอยู่ของบันทึกฉบับนี้และของข้อเสนอ (ของพระยามโน) ที่จะประกาศยกย่องพระปกเกล้าเป็น “มหาราช” ในช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ปรีดีเปิดเผยเรื่องนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของการคัดค้านการที่มีผู้เสนอในช่วงปลายปี ๒๕๒๔ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในต้นปี ๒๕๒๕ ให้ประกาศยกย่องพระพุทธยอดฟ้าเป็น “มหาราช” ในบันทึกฉบับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ปรีดีเขียนว่า
ข้าพเจ้าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในหลักการที่จะถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯให้สูงยิ่งขึ้นเพราะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยให้ได้มีระบบการปกครอง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนหลักมูลที่ก้าวหน้า

แต่การที่จะถวายพระเกียรติยศทรงเป็นเพียง “มหาราช” นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ามิใช่เป็นการเพิ่มพระเกียรติที่ทรงมีอยู่แล้วเท่านั้น หากยังเป็นการลดพระเกียรติที่พระองค์ทรงมีอยู่ก่อนแล้ว
(๕) ดูตัวอย่างการอธิบายแบบแก้ต่างความจำเป็นของการต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของนิธิ เอียวศรีวงศ์, “หนวดฮิตเลอร์กับการปกป้องสถาบันฯ” ๗ มีนาคม ๒๕๔๕ (การเน้นคำของผม): “ส่วนหนึ่งของเจตนารมณ์ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นก็คือ ในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์ จะปล่อยให้องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ต้องออกมาฟ้องคดีหมิ่นประมาทกับเอกชนย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่งามด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐในอันที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์” สำหรับนักประวัติศาสตร์ชั้นนำ ที่พูดเรื่อง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” จนติดปาก การพูดถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในลักษณะนี้นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ กฎหมายนี้ไม่เพียงเป็นกฎหมายของสมบูรณาญาสิทธราช ซึ่งก็คือเป็นส่วนหนึ่งของระบอบกฎหมายที่ค้ำจุนโครงสร้างทางอำนาจแบบเผด็จการจารีตเท่านั้น หลัง ๒๔๗๕ การดำรงอยู่ของกฎหมายนี้ก็เป็นมากกว่าเพื่อเหตุผลไร้เดียงสาประเภทป้องกันความ “ไม่งาม” อันจะเกิดจากการที่กษัตริย์และราชวงศ์ต้องออกมาฟ้องคดีหมิ่นประมาท แล้วเหตุใดจึงควรจะถือเป็นเรื่อง “ไม่งามด้วยประการทั้งปวง” ถ้าจะมีการฟ้องร้องของราชวงศ์จริงๆ? ทำไมจึงเป็นเรื่อง “เป็นไปไม่ได้” ในเมื่อราชวงศ์ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกทั่วไป ก็ต้องอาศัยการฟ้องร้องนี้เช่นกัน? ถ้าราษฎรไทยรู้สึกเดือดร้อนจากการถูกละเมิด ต้องอาศัยกระบวนการฟ้องร้อง ทำไมเจ้าจึงทำไม่ได้? การเสนอให้รัฐใช้กฎหมายนี้ “ป้องกันมิให้มีการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์” เป็นเรื่อง “งาม” กว่า? และที่ผ่านมา มองในเชิง “โครงสร้าง” และการปฏิบัติที่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ กฎหมายนี้มีไว้เพื่อเหตุผลนี้จริงหรือ?