Tuesday, June 27, 2006

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๙ - ๑๖)



(๙) ข้อมูลจากสารคดีชุด “อวสานต์ ๓ นักโทษประหาร” โดย “พร เพิ่มสุข” ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆใน พิมพ์ไทย ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หลังการประหารชีวิต เรื่องการถวายฎีกาอยู่ในฉบับวันที่ ๒๔, ๒๕ และ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ตามที่สารคดีชุดนี้เล่า จำเลยแต่ละคนเขียนฎีกาด้วยลายมือตัวเอง ฎีกาของเฉลียวมี “เนื้อความยาวหลายหน้ากระดาษ” ส่วนของชิตและบุศย์ค่อนข้างสั้นคล้ายกัน โดยของบุศย์มีข้อความดังนี้

เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า นักโทษชายบุศย์ ปัทมศริน ขอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา ขอพระมหากรุณาธิคุณใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่พึ่ง พระราชอาญาฯไม่พ้นเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถูกจับกุมขังและถูกฟ้องต่อศาลอาญาในข้อหาสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ศาลอาญาได้พิพากษาปล่อยตัวข้าพระพุทธเจ้าพ้นข้อหาไป อัยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอาญาและศาลฎีกาก็ได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคมศกนี้ ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตข้าพระพุทธเจ้า

ระหว่างนี้ทางเรือนจำยังรอพระบรมราชโองการอยู่ หากทรงยกฎีกาของข้าพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็คงถูกประหารชีวิตเป็นแม่นมั่น
พระบรมราชโองการใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเท่านั้น ที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีชีวิตยืนยาวต่อไปนี้ อันชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าที่ได้เติบโตมานี้ ก็ด้วยพระเมตตาบารมีของพระบรมราชวงศ์ ทรงให้ทานชุบเลี้ยง นับแต่มารดาของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับราชการเป็นพนักงานโขลน อยู่ในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน ตัวข้าพระพุทธเจ้าเองนั้น นับตั้งแต่เป็นทารกได้คลุกคลีอยู่กับมารดาในเขตพระราชฐานนั้น จนกระทั่งอายุได้ ๑๑ ปี จึงออกมาศึกษาหาความรู้ แล้วก็ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้รับเลือกให้เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมนั้น ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับสนองพระเดชพระคุณโดยใกล้ชิดพระยุคลบาท ครั้นเมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯเลือกให้ตามเสด็จไปยังต่างประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าก็ยิ่งรู้สึกว่า เป็นวาสนาอย่างสูงแก่ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งจะหาอีกไม่ได้ในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้านี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ยิ่งเพิ่มความจงรักภักดี ตั้งใจรับราชการสนองพระยุคลบาทด้วยความซื่อสัตย์กตัญญูจนสุดความสามารถของข้าพระพุทธเจ้า

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณา ขอยึดพระเมตตาบารมีของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่พึ่งเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เสมือนได้ทรงโปรดแก่สัตว์ผู้ยากให้กลับเกิดใหม่ ส่วนการจะควรเป็นสถานอื่นใดนั้น สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมนี้ จักสลักแน่นอยู่ในดวงใจของข้าพระพุทธเจ้าและวงศ์ตระกูลด้วยความซื่อสัตย์กตัญญูไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ข้าพระพุทธเจ้าขอตั้งสัตยาธิษฐาน ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเจริญสุขในทุกสถานตลอดกาลนิรันดร

การจะควรประการใดสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า นักโทษชายบุศย์ ปัทมศริน ผู้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ฎีกาฉบับนี้ข้าพระพุทธเจ้า นักโทษเด็ดขาดชายบุศย์ ปัทมศริน เป็นผู้เรียงและเขียน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้านักโทษชายบุศย์ ปัทมศริน ผู้เรียงและเขียน
(บุศย์ ปัทมศริน)

(๑๐) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๕/๒๔๙๗ วันพุธที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๙๗

(๑๑) ในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี มีตัวอย่างการพิจารณาและมีมติต่อฎีกาของคดีอาญาทั่วไปในลักษณะนี้อยู่เสมอๆ เช่น ในระยะใกล้ๆกับฎีกาคดีสวรรคต กระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอฎีกาของนักโทษเด็ดขาดชาย สิงห์ อินทนนท์ ซึ่งถูกพิพากษาลงโทษในคดีฟันทำร้ายนางคำปัน แก้วดวงตา โดยเจตนาฆ่าให้ตาย เข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าศาลทั้ง ๓ ก็ได้พิจารณาเห็นพ้องต้องกันวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวตลอดมา จึงไม่สมควรที่จะขอพระราชทานอภัยลดโทษให้ มติ ให้กราบบังคมทูลได้” (หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๗๗/๒๔๙๗ วันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗)

(๑๒) พิมพ์ไทย ๑๓ มกราคม ๒๔๙๘ “ฎีกาเฉลียว ชิต ไม่มีข่าวคืบหน้า – เพื่อเสนอข่าวคืบหน้าเกี่ยวกับฎีกาของนักโทษประหารทั้งสามนี้ เมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. วันที่ ๑๒ เดือนนี้ ‘พิมพ์ไทย’ ได้เข้าพบนางฉลวย ปทุมรส ภรรยานายเฉลียว ปทุมรสที่บ้านพักบางกะปิ ‘ดิฉันคาดว่า ป่านนี้ก็คงจะถึงสำนักราชเลขานุการแล้วค่ะ พวกเราก็ได้แต่รอ...ฟังข่าวอยู่อย่างกระวนกระวายใจเป็นที่สุด...’ นางกล่าวอย่างเศร้าๆในที่สุด พลางซับน้ำตาที่ไหลเอ่อล้นออกมา”

(๑๓) สยามรัฐ วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๙๘ และดู พิมพ์ไทย วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๙๘ ซึ่งรายงานการสัมภาษณ์เฉลียว ระหว่างที่เขาถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลในคดีที่ถูกฟ้องว่าขับรถโดยประมาท (เป็นคดีต่างหาก ไม่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต) เฉลียวกล่าวถึงการถวายฎีกาว่า “หวังในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานที่ผมเป็นข้าใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทมาก่อน” และว่าในระยะ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา นักโทษประหารได้รับพระราชทานอภัยโทษเสมอ “พระองค์ท่านก็คงทรงเมตตาผมเช่นกัน” เฉลียวยังกล่าวว่า “ไหนๆผมก็ล้มแล้ว ขออย่าซ้ำ” ส่วนการที่เขาถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลในวันนั้น “ความจริงผมไม่อยากออกมาเลย เพราะออกมาข้างนอกทำให้ใจคอวอกแวก”

(๑๔) สยามรัฐ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๑๕) สยามรัฐ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ แหล่งข่าวนี้คือนายณรงค์ บัณฑิต รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ประชาชนสนใจข่าวคราวเกี่ยวกับฎีกาสวรรคตเป็นอันมาก เพราะไปที่ไหนมีคนถามบ่อยๆ ในขณะนี้ได้ทราบมาว่า ฎีกาสวรรคตได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งทางสำนักคณะรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาสวรรคตต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยผ่านทางสำนักราชเลขาธิการ ขณะนี้ฎีกาสวรรคตได้ผ่านไปถึงราชเลขาธิการฝ่ายในแล้ว” สยามรัฐ เองกล่าวว่า “ประชาชนทั่วประเทศกำลังสนใจข่าวคืบหน้าเกี่ยวกับจำเลยคดีสวรรคตทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต่อในหลวงโดยผ่านทางรัฐบาล”

(๑๖) สารเสรี ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘