Saturday, June 17, 2006

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๑๖ - ๒๐)



(๑๖) ต้นฉบับลายพระหัตถ์จดหมายภาษาอังกฤษของกรมนครชัยศรีนี้ อยู่ใน หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ทั้งจดหมายนี้และประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เขียนราวกับว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นฝ่ายยอมเห็นด้วยกับข้อตกลงของที่ประชุมดังกล่าว ความจริง ข้อตกลงที่ประชุมดังกล่าวเป็นไปตามการยืนยันของเจ้าฟ้าจักรพงษ์แต่แรกที่จะให้มีการประกาศตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทอย่างเปิดเผยในหมู่เจ้านาย การที่รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นชอบให้แจ้ง Bangkok Times อย่าง “กึ่งราชการ” ก็เป็นไปตามความต้องการของและเป็นประโยชน์ต่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์เช่นกัน ในทัศนะของผม ใครที่อ่านหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาทนี้ (ทั้ง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ และเอกสารใน หจช.) น่าจะอดรู้สึกไม่ได้ว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงถูก “น้องชายเล็ก” ผลักดันชักจูง (manipulated) ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายหลังต้องการ โดยไม่ทรงรู้พระองค์หรือไม่ทรงยอมรับกับพระองค์เองนัก

(๑๗) ร่างข้อความภาษาอังกฤษที่จะให้ Bangkok Times ตีพิมพ์ พร้อมจดหมายกราบบังคมทูลภาษาไทย ของกรมหลวงเทวะวงศ์ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน อยู่ใน หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ในจดหมาย กรมหลวงเทววะวงศ์กล่าวว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่แน่ใจว่าความปรากฏอย่างนี้ จะมีผลดีฤาเสียเพียงไร ยังมีความสงไสยนัก” และขอปรึกษา “มิสเตอเวสเตนกาด ผู้ซึ่งรู้น้ำใจคนยุโรปแลประโยชน์ราชการมาก” ก่อน ผมไม่พบหลักฐานว่ามีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร แต่ Bangkok Times ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๔๕๓ ไม่เคยตีพิมพ์ข้อความที่เทวะวงศ์ร่างไว้ ดังนี้

The succession of the throne

We are informed that His Majesty the King has decided, in the Council of the Ministers and with the adhesion and concurrence of the Royal Family, that, during the absence of His Majesty’s Royal Son, the law of succession which has been established by tradition as well as by Royal Decrees of 1887 and 1894 upon the right of primogeniture shall be devolved upon the children of Her Majesty the Queen Mother according to their seniority, and that if there will be legitimate grandchildren of the said Queen, whose mother is a princess by birth, the succession will then follow the right of primogeniture of such children of the said Queen-Mother.


(๑๘) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) และดูสรุปเนื้อหาของจดหมาย ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๕-๑๕๖.

(๑๙) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ผมเน้นความตอนนี้เองตามที่รัชกาลที่ ๖ ทรงทำใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๖-๑๕๗ (ต้นฉบับจดหมายไม่มีเน้นความ) รัชกาลที่ ๖ ทรงสรุปเนื้อหาจดหมายฉบับนี้ด้วยภาษาของพระองค์เองโดยตลอด ข้อความตอนนี้ทรงบันทึกว่า “ถ้าการมียุ่งอยู่ต่อไปเช่นนี้น่ากลัวจะถึงต้องต่อยปากกรมสวัสดิ์คราว ๑”

(๒๐) ความจริงในจดหมายวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ที่รัชกาลที่ ๖ ทรงกำลังวิจารณ์นี้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงเสนอเพียงให้ “มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้าน่าที่ลงหนังสือพิมพ์แก้ไขความลือเช่นนี้” (ดูข้างต้น) ไม่ได้ทรงใช้คำว่า “กึ่งราชการ” ที่รัชกาลที่ ๖ วิจารณ์ว่ามีนัยยะ “ข้อที่จะไม่ให้ลูกเปนรัชทายาทต่อนั้น จะได้งำเสีย” แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ได้เสนอเรื่อง “กึ่งราชการ” จริง โดยผ่านทางกรมนครชัยศรี แต่ข่าว “กึ่งราชการ” ที่กรมเทวะวงศ์ร่างสำหรับ Bangkok Times ก็ไม่ได้ “งำ” เรื่องห้ามจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท เพียงแต่เขียนด้วยภาษาราชการประเภท “หากจะมีหลานที่ชอบธรรมของพระราชชนนี ผู้ซึ่งมีแม่เป็นเจ้านายโดยกำเนิด” (if there will be legitimate grandchildren of the said Queen, whose mother is a princess by birth) ดูที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเชิงอรรถที่ ๑๗