Sunday, June 18, 2006

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๔๐ - ๔๓)



(๔๐) รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชพินัยกรรมอีก ๒ ฉบับซึ่งมีลักษณะ “ส่วนพระองค์” คือ ฉบับแรกจัดทำขึ้นในปี ๒๔๖๓ สั่งเรื่องการจัดพิธีพระบรมศพ (ห้ามไม่ให้มีนางร้องไห้ เป็นต้น) อีกฉบับหนึ่ง ทำขึ้นในเวลาใกล้สวรรคต สั่งยกที่ดินวังพญาไท (ที่ตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าในปัจจุบัน) และพระราชวังสนามจันทร์ ให้ลูกในพระครรภ์พระนางเจ้าสุวัทนา หากเป็นชาย ดู เสฐียร พันธรังษี, พระมงกุฏเกล้าฯและเจ้าฟ้าเพ็ชรัตน์ฯ, แพร่พิทยา-โอเดียรสโตร์, ๒๔๙๖, หน้า ๒๓๗-๒๔๗.

(๔๑) เท่าที่ผมสามารถสืบค้นได้ พระราชหัตถเลขานี้เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวใน บุญยก ตามไท, “ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๘, มิถุนายน ๒๕๒๘, หน้า ๔๑-๔๒ แต่ตีพิมพ์ไม่ครบ ขาดตอนท้ายไป (ดูข้างล่าง) เข้าใจว่าเพราะได้สำเนาต้นฉบับที่เป็นลายพระราชหัตถเลขามาเพียงเท่านั้น ผมได้สอบถามคุณบุญยกโดยตรงว่า ได้ “ต้นฉบับ” พระราชพินัยกรรมนี้จากที่ใด น่าเสียดายว่าคุณบุญยกลืมเสียแล้ว เนื่องจากเวลาได้ล่วงเลยมาถึงกว่า ๒๐ ปี แต่คุณบุญยกเดาว่าอาจจะได้มาจาก ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งคุณบุญยกได้สัมภาษณ์เพื่อการเขียนบทความดังกล่าว (สนทนาทางโทรศัพท์ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙) ประเด็นที่ว่าพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ คุณบุญยกได้มาจากที่ใด และเคยมีการตีพิมพ์เผยแพร่นอกเหนือจากในบทความคุณบุญยกหรือไม่ กลายเป็นปัญหาขึ้นมา ก็เพราะสุพจน์ ด่านตระกูลเองได้เคยเห็นและได้อ้างบางส่วนของพระราชหัตถเลขานี้ด้วย (โดยที่เขาไม่รู้ตัวถึงความสำคัญต่อประเด็นที่เขากำลังเขียนเอง – ดูเชิงอรรถถัดไป) สุพจน์ระบุว่า พระราชหัตถเลขานี้ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๘ แต่ในศิลปวัฒนธรรม ไม่มีระบุวันที่ไว้เลย แสดงว่าสุพจน์ต้องไม่ใช่เอามาจาก ศิลปวัฒนธรรม (อย่างไรก็ตาม วันที่ของสุพจน์นี้น่าจะผิด ดูวันที่ในพระราชหัตถเลขาข้างบน) เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุพจน์ได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า “ในระยะเวลาใกล้ๆก่อนที่พระมงกุฏเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ จะเสด็จสวรรคตนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ เอกสารฉบับนี้เคยมีผู้นำลงเผยแพร่ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพเมื่อหลายปีมาแล้ว คุณสุวัฒน์ วรดิลก เคย xerox ให้ผู้สนใจอ่าน ผมเคยได้อ่านและเคยถ่ายทอดข้อความบางตอนลงในหนังสือบางเล่มที่ผมเขียนถึงปัญหานี้ ต้นฉบับสมบูรณ์ได้สูญหายไปแล้ว” (ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 20) ผมได้พยายามค้นหา “หนังสือพระราชทานศพ” เล่มที่มีพระราชหัตถเลขานี้ตามที่สุพจน์กล่าวถึง แต่ไม่พบ

พระราชหัตถเลขาพินัยกรรมที่ผมนำมาแสดงข้างบนนี้ ผมอ้างตามที่ตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อความถึงเพียง “ฃ้อ ๔ ต่อไปภายหน้า คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัฐิ, คือจะเอาองค์ใดฃึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า” ส่วนที่เหลือต่อไปจนจบ ผมได้มาโดยการโพสต์กระทู้ถามในเว็บไซต์ “วิชาการดอทคอม” เมื่อปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ปรากฏว่าได้รับความอนุเคราะห์จากคุณวรชาติ มีชูบท กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ นำข้อความในพระราชหัตถเลขาพินัยกรรมฉบับเต็มมาโพสต์ตอบ ซึ่งผมขอขอบคุณอย่างสูงในที่นี้ ฉบับที่คุณวรชาตินำมาเผยแพร่นั้น เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้....” คือไม่มี ๓ บรรทัดแรก (“หนังสือสั่งเสนาบดีวัง....น่า ๑๖๑”) อย่างในฉบับศิลปวัฒนธรรม คุณวรชาติกล่าวถึงพระราชพินัยกรรมนี้ว่า “ดูเหมือนจะไม่เคยมีการพิมพ์ในหนังสือใดๆ มาก่อนครับ ที่เอามาอ้างกันนั้นก็เป็นการคัดลอกกันมา แต่ฉบับที่ผมเคยเห็นนั้นเป็นแผ่นกระดาษรวม ๓ หรือ ๔ หน้าผมจำไม่ได้แล้ว มีเนื้อความครบสมบูรณ์ทั้ง ๔ ข้อ ดูเหมือนตอนท้ายจะลงพระบรมนามาภิไธยไว้ด้วย แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าเคยอ่านมาจากที่ไหน” และ “วานพรรคพวกไปค้น....เลยคัดมาฝากกัน สำหรับข้อ ๔ ขออนุญาตละพระนามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม เพราะหลานๆ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่”

[ปัจฉิมลิขิต: โปรดดูคำอธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมใน บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ "ฉบับเต็ม"]

(๔๒) สิ่งที่น่าแปลกอย่างยิ่งเกี่ยวกับงานเรื่องนี้ของสุพจน์ ด่านตระกูล คือ เขาได้อ้างบางส่วนของพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ด้วย คือส่วนที่รัชกาลที่ ๖ สั่งให้ยกเว้นวรานนท์ธวัชจากการเป็นกษัตริย์ (“ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด....” โต้คุณไข่มุกด์ ชูโต กรณีสวรรคต, หน้า ๒๘) แต่เขากลับมองไม่เห็นว่า ในประโยคก่อนหน้าที่ติดกันนั้นเอง รัชกาลที่ ๖ ได้สั่งให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลย่อมถือเป็นข้อยุติกรณีจุลจักรพงศ์ คือไม่ว่าจุลจักรพงศ์จะยังมีสิทธิเป็นกษัตริย์หรือไม่ในขณะนั้น แต่เป็นเอกสิทธิ์ของกษัตริย์องค์ก่อนที่จะระบุให้ใครเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ก็ได้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าจุลจักรพงษ์ถูกข้ามเด็ดขาด (ไม่มีสิทธิ์จะเป็นรัชกาลที่ ๘ อีกแล้ว) ด้วยคำสั่งให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์นี้

มิหนำซ้ำ เมื่อได้อ้างข้อความเกี่ยวกับการให้ข้ามวรานนท์ธวัชแล้ว สุพจน์ยังกล่าวว่า (โต้คุณไข่มุกด์, หน้า ๓๐) “จากพระบรมราชโองการฉบับวันที่ 21 กันยายน 2468 นี้ เป็นเครื่องแสดงชี้ให้เห็นว่า พระมงกุฏเกล้าฯทรงรับในสิทธิ์ของพระองค์เจ้าจุลฯในราชสมบัติ เช่นเดียวกับเจ้าฟ้าประชาธิปก เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงยอมรับในสิทธิ์สืบราชสมบัติของพระองค์เจ้าจุลฯ ในพระบรมราชโองการฉบับนั้น พระองค์จะต้องระบุให้ข้ามพระองค์เจ้าจุลฯไปเสีย เพราะมีแม่เป็นนางต่างด้าว เช่นเดียวกับที่ทรงอ้างในกรณีให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชนั้นแล้ว” ความจริงเป็นตรงกันข้ามคือ รัชกาลที่ ๖ ไม่เอ่ยถึงจุลจักรพงษ์ในที่นี้ ก็เพราะทรงถือว่าจุลจักรพงษ์ได้ถูกข้ามไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงอีก (ดูเชิงอรรถที่ ๕๑ ข้างล่างประกอบ)

(น่าเสียดายว่า คุณสุพจน์ซึ่งแม้จะได้เห็นและใช้บางส่วนของเอกสารนี้เอง กลับเผลอมองข้ามความสำคัญต่อประเด็นที่เป็นปัญหากันอยู่นี้ เมื่อผมแย้งว่า มีพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ ระบุให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์ ซึ่งก็คือเอกสารนี้ คุณสุพจน์ตอบว่า “ผม...ไม่เคยเห็นเอกสารที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลอ้างถึง เช่น....พระบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๖ ระบุให้เจ้าฟ้าประชาธิปกสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์”! ดู ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 21)

(๔๓) ม.จ.หญิงประสงค์สม บริพัตร, บันทึกความทรงจำบางเรื่อง พิมพ์ในงานเมรุ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๓๕.