ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๙)
(๙) ตัวอย่างบางส่วน (การเน้นคำเป็นของรัชกาลที่ ๖ เอง) :
กรณีแย่งกันเป็นตัวแทนรัชกาลที่ ๕ ไปงานราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษ (หน้า ๑๗-๒๔) : “น้องชายเล็ก....เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบฉันปานใด ตามที่ฉันได้เคยเล่าให้เธอฟังมาแล้ว น้องของฉันคนนี้เป็นผู้ที่ตื่นกันว่าเปนคนฉลาดกว่าฉันมาแต่ไหนแต่ไร, และเสด็จแม่ทรงตามใจมากมาแต่เด็กๆ และถ้ามีเหตุทุ่งเถียงกับฉัน ฉันเปนต้องถูกตัดสินให้แพ้ทุกที, เหตุฉนี้แม้เมื่อเปนผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว น้องชายเล็กก็ไม่วายพยายามเอาเปรียบฉัน, และเมื่อใดทำการไม่ได้สมปรารถนาโดยลำพัง ก็มักอาศัยพระบารมีเสด็จแม่ช่วยทรงอุปถัมภ์อยู่เสมอ.....น้องชายเล็กฉวยโอกาสทูลขอไปเสียเองเช่นนั้น ถ้าหากจะต่อว่ากันขึ้น แกก็คงแก้ตัวไปด้วยโวหารดื้อๆดันๆตามแบบของแก, เพราะเป็นแบบของแก ปล่อยให้ความปรารถนาของตนเองบังคับใจของแกให้ลงมือทำกิจการอะไรๆโดยมาก, แล้วจึ่งตรองหาทางแก้ด้วยโวหารภายหลัง, และอย่างไรๆแกก็ไม่ยอมว่าตัวแกผิด, หมดทางที่จะแก้ด้วยโวหารแล้ว ก็เลยโทโษพลุ่มพล่ามลามลุกไปใหญ่, จนใครๆ ต้องยอมแพ้แกเพราะขี้คร้านจะเทลาะ ในการที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบฉันในเรื่องไปยุโรปนั้น ฉันเชื่อว่า แกได้ไปทูลหาฤาเสด็จแม่แล้ว และทรงสนับสนุนแกด้วยตามเคย เพราะถ้ามิฉะนั้นแกจะไปทูลรับกับทูลกระหม่อมได้หรือ ว่าในเวลาเที่ยวเล่นจะใช้เงินของตัวเอง? เงินของแกนั้นแกได้เปนผู้เก็บเองเมื่อไร, เสด็จแม่ทรงดูแลแทนอยู่ต่างหาก. ฉันรู้สึกเสียใจที่น้องชายเล็กนั้น แต่เล็กจนใหญ่ไม่วายคิดเอาเปรียบฉัน, และนึกน้อยใจที่เห็นตัวฉันอาภัพจริงๆ ที่เปนลูกแม่ไม่รัก”
ในคืนที่รัชกาลที่ ๕ กำลังจะสวรรคต (หน้า ๓๕) : “น้องชายเล็กนั้น ฉันนั่งรอๆดูอยู่ไม่เห็นเข้าไป, ฉันรู้สึกรำคาญจึ่งให้หม่อมหลวงเฟื้อ (คือเจ้าพระยารามราฆพ) เอารถไปรับตัวเข้าไป. พอเข้าไปถึงฉันก็ให้ดูรายงานหมอ และเล่าพระอาการให้ฟังเท่าที่รู้กันอยู่ เธอพยักหน้าและบอกว่า ทำนายอยู่แล้วว่าจะไปไม่ได้อีกนาน. ดูเธอไม่ใคร่วิตกในเรื่องพระอาการของทูลกระหม่อมมากเท่าเปนห่วงถึงกิจการอนาคต, คือเปนห่วงถึงรัชกาลที่ ๖ เธอนั่งซักถามอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ว่าจะคิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรอย่างไรบ้าง, เปนอเนกประการเหลือที่จะจดจำ, แต่สรุปความก็เปนอันว่าฉันควรต้องคิดกะการเสียแต่ต้นมือทีเดียวว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อหาชื่อเสียงแข่งกับทูลกระหม่อม”
กรณี “น้องชายเล็ก” เสนอให้รื้อฟื้นรัฐมนตรีสภา (หน้า ๖๖-๗๑) : “ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตลง น้องชายเล็กต้องการจะอะไรอย่าง ๑ ซึ่งจะเปนเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศของรัชกาลที่ ๖ แทนการเลิกทาสของรัชกาลที่ ๕, เธอนึกขึ้นได้ว่ารัฐมนตรีน่าจะพอใช้สำหรับประโยชน์เช่นว่านั้นได้ ...เธอได้ขอเข้าเฝ้าเปนส่วนตัว, และแสดงความเห็นเรื่องรัฐมนตรีนั้นยืดยาว, แต่พอจะสรุปความได้ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องหาอะไรเปนข้อเฉลิมพระเกียรติยศ สู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อม....(๔) สมัยนี้ฝรั่งกำลังนิยมปาร์ลีย์เมนต์, แต่ในเมืองเรายังไม่ถึงเวลาที่ควรจะตั้งปาร์ลีย์เมนต์ขึ้น จึ่งเห็นว่าควรตั้งสภาอะไรขึ้นตบตาแทนไปทีหนึ่ง......ดูน้องชายเล็กแกฉวยเอารัฐมนตรีสภานั้นเปนเจ้า ของเสียเลยทีเดียว, และความที่แกอยากให้คนนิยมตาม แกพอใจพูดอยู่บ่อยๆ ว่ารัฐมนตรีสภานั้นเปนขั้นที่ ๑ ของการมีปาร์ลีย์เมนต์, จนอ้ายพวกหนุ่มๆ ‘รักชาติ’ เข้าใจว่าน้องชายเล็กเปนผู้ที่อยากให้มีปาร์ลีย์เมนต์, แต่ว่าฉันเปนผู้ที่ไม่ยอม, มันจึ่งเรียกฉันว่า ‘อ้าย...’ และเรียกน้องชายเล็กว่า ‘เจ้าพ่อนะโปเลียน’ ที่จริงนั้นน้องชายเล็กแกมิได้ต้องการเลยที่จะให้มีปาร์ลีย์เมนต์, เปนแต่ต้องการให้มีรัฐมนตรีสภาซึ่งแกหวังให้ประโยชน์ ๒ อย่าง อย่าง ๑ สำหรับตบตาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. อีกอย่าง ๑ แกคิดจะใช้รัฐมนตรีสภาเปนเครื่องมือทำโทษคนที่ทำไม่ถูกใจแก่”
เอกสาร ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นี้ เข้าใจว่า “นายหนหวย” (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) คงจะได้รับสำเนาไว้ในครอบครองหลายปีก่อนที่ ศิลปวัฒนธรรม จะนำมาเผยแพร่ เพราะใน เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (๒๕๓๐) หน้า ๓๙-๔๒ เขาได้ตัดตอนบางส่วนมาตีพิมพ์ (โดยไม่อ้างอิงตามแบบฉบับสารคดีการเมือง) คือส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมเจ้านายชั้นสูงในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๕๓ และการประชุมเสนาบดีสภาในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ เพื่อตกลงเรื่องตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เขาไม่ยอมพูดถึงความบาดหมางระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับน้องชายเล็กที่แสดงออกอย่างรุนแรงในเอกสารนี้เลย รวมทั้งไม่ยอมตีพิมพ์ส่วนที่รัชกาลที่ ๖ เล่าถึงการที่ทรงให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ปฏิญาณต่อที่ประชุมวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ว่าจะไม่ตั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท
<< Home