Saturday, June 17, 2006

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๑๐ - ๑๕)



(๑๐) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) และ ว.๑/๓ ตั้งรัชทายาท (๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓) เท่าที่ผมทราบ หลักฐานชุดนี้เคยถูกใช้ในการศึกษาครั้งหนึ่ง คือ ศิรินันท์ บุญศิริ, “บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๓, หน้า ๑๑๔-๑๒๒, ๑๒๔-๑๒๖. แต่เนื่องจากในขณะนั้น ศิรินันท์ไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจภูมิหลังที่จำเป็น การตีความหลักฐานชุดนี้ของเธอจึงมีความคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์อยู่มาก

(๑๑) “ราม วชิราวุธ”, ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, มติชน ๒๕๔๕, หน้า ๑๔๓ อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่บรรทัดต่อมา ทรงออกตัวว่า “แต่อย่าเข้าใจว่าฉันได้คิดเรื่องตั้งรัชทายาทขึ้นเพราะน้องชายเล็กรบเร้าเท่านั้น เพราะตามความจริงฉันเองก็ได้รู้สึกอยู่ว่าเปนปัญหาอันถึงเวลาที่จะต้องวินิจฉัยและวางระเบียบเพื่อให้เปนการเรียบร้อยและมั่นคงสืบไป ความรบเร้าของน้องชายเล็กเปนแต่ได้เร่งให้ฉันคิด และจัดการวางระเบียบการอันนั้นเร็วขึ้นหน่อยเท่านั้น” แต่ความจริง ดังที่จะได้เห็นกัน นอกจากได้ตกลงกับ “น้องชายเล็ก” เรื่องการเป็นรัชทายาทแล้ว รัชกาลที่ ๖ หาได้ทรง “วางระเบียบ” เรื่องการตั้งรัชทายาท จนกระทั่งการร่างกฎมณเฑียรบาลในอีก ๑๓ ปีต่อมา

สำหรับเหตุผลที่ “เสด็จแม่” ทรงช่วยรบเร้าแทน “น้องชายเล็ก” นั้น รัชกาลที่ ๖ เปิดเผยว่า เพราะทรงวิตกตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ เนื่องจาก “ฉันสังเกตว่าทรงพระวิตกขึ้นตั้งแต่เมื่อตาหนู [จุลจักรพงษ์] เกิดแล้ว ทูลกระหม่อม [รัชกาลที่ ๕] ไม่ทรงพระกรุณาโปรดให้เปนเจ้า, เพราะทรงรังเกียจหม่อมคัทริน. อีกประการ ๑ ในเมื่อปลายๆ รัชกาลนั้นทูลกระหม่อมทรงพระเมตตาน้องชายบริพัตร์มาก, ทรงเรียกว่า ‘เจ้าฟ้าองค์ที่ ๒’ (คือรองจากฉันผู้เปนองค์ที่ ๑)” พูดง่ายๆคือ “เสด็จแม่” ทรงห่วงว่า “น้องชายเล็ก” จะถูก “น้องชายบริพัตร์” (ซึ่งไม่ใช่โอรสของพระองค์) แซงหน้า ไม่ได้เป็นกษัตริย์ ในกรณีที่รัชกาลที่ ๖ “ล้มตายลง ก็อาจจะเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นได้”

(๑๒) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓)


(๑๓) ทรงหมายถึง Bangkok Times, 29 October 1910, p.6 ซึ่งตีพิมพ์ข้อความต่อไปนี้

THE NEW REIGN
THE QUESTION OF THE SUCCESSION


The question of the succession is naturally one that falls to be settled early in the new reign. We understand a decision has been come to and that His Majesty’s younger brother, H.R.H. Somdet Chao Fa Chakrabongs Krom Khun Pitsanulok, will in due course be formally proclaimed Heir Presumptive.

(๑๔) ต้นฉบับลายพระหัตถ์จดหมายฉบับนี้อยู่ใน หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ไม่ได้กล่าวถึงจดหมายฉบับนี้ ในจดหมาย กรมนครชัยศรียืนยันเชิงหลักการว่า หากรัชกาลที่ ๖ ตัดสินใจและประกาศเรื่องรัชทายาทออกไปแล้ว จะต้องไม่มีการตั้งข้อสงสัย ถ้ามีต้องถูกลงโทษ และ การทะเลาะเบาะแว้งภายใน นำมาซึ่งการแทรกแซงของต่างชาติ (internal strife is the prelude for foreign intervention) ซึ่งทรงกล่าวว่า เป็นประเด็นที่เข้าใจและให้ความสำคัญไม่เหมือนกันในขณะนั้น ทรงกล่าวว่าพระองค์ไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของบรรดาเสนาบดี แต่ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าในแง่ใด

(๑๕) ไม่ได้ทรงระบุใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ (หน้า ๑๕๕) ว่า มีใครเข้าประชุมบ้าง ทรงบันทึกเพียงว่า “มีการประชุมพิเศษสำหรับปรึกษากิจการเนื่องด้ายงานบรมราชาภิเษก”