Saturday, June 17, 2006

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๑ - ๘)



(๑) ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปราโมทย์ พึ่งสุนทร และ เปรื่อง ศิริภัทร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕.

(๒) ตัวบทของกฎมณเฑียรบาลอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ แต่ผมใช้ฉบับสำเนารับรองจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (http://www.krisdika.go.th/)

(๓) มาตรา ๙ (๘) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

(๔) มาตรา ๙ (๑๑) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้นๆก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นๆสลับกันไปตามลำดับ

(๕) มาตรา ๑๑ เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่าเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ ลักษณะที่กล่าวนี้คือ .... (๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้

(๖) ดู “คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก” ใน ไข่มุกด์ ชูโต, พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลของปวงชนชาวไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ: โรงพิมพ์หงี่เฮง ๒๕๒๙, หน้า 15-16: “เมื่อเสด็จสวรรคต ข้าพเจ้า...ได้ยินและได้อ่านทุกถ้อยคำจากข้อความที่คนทั้งประเทศขณะนั้นลงความเห็นกันว่าถูกลอบปลงพระชนม์ ในขณะเดียวกันก็พากันเกลียดชังสาปแช่งในตัว ‘ผู้บงการ’ ผู้ลงมือและผู้ร่วมมือ ที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า คนไทยทั้งชาตินั้น ก็เพราะคิดว่าผู้ที่คิดอย่างอื่นตามข่าวเล่าลือนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อชาติไทยและไม่สมควรเรียกว่าคนไทย คนไทยมีนิสัยลืมง่าย ผู้ที่เกิดทันเหตุการณ์สมัยนั้นก็ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก พวกที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ก็ขออยู่อย่างสบายๆไปวันหนึ่งๆ คิดว่าศาลฎีกาตัดสินแล้วก็แล้วไป...ในขณะเดียวกันฝ่าย ‘ผู้บงการ’ ก็พยายามกระทำการทุกอย่าง เพื่อฟอกตัวเองให้บริสุทธิ์ กลับกลายเป็นผู้ที่มีคนหลงผิดเคารพนับถือมากขึ้น....ข้าพเจ้าจึงทนไม่ได้ที่จะอยู่นิ่งเฉย จึงได้ถือโอกาสจัดทำหนังสือขึ้น” น่าสนใจว่า อนุสาวรีย์ปรีดีที่ธรรมศาสตร์ได้รับการเปิดก่อนพระบรมรูปในหลวงอานันท์นี้เพียง ๒ ปีพอดี (พฤษภาคม ๒๕๒๗)

(๗) สุพจน์ ด่านตระกูล, โต้คุณไข่มุกด์ ชูโต กรณีสวรรคต. กรุงเทพ: ศิลปสนองการพิมพ์ ๒๕๓๐, หน้า ๒๕-๓๕.

(๘) มีความเชื่อหรือเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ ๗ ว่ากรมพระนครสวรรค์คือผู้มีอำนาจแท้จริงอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ (พระชนมายุมากกว่าพระปกเกล้าถึง ๑๒ ปี) เรื่องเล่าที่ว่าทรงมีบทบาทสำคัญในการเลือกให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นรัชกาลที่ ๗ นี้ ฟังดูสมจริง ก็เพราะเข้ากันได้กับความเชื่อดังกล่าว ในบทความล่าสุดของสุพจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาได้เล่าบทบาทผลักดันของกรมพระนครสวรรค์นี้อย่างมีสีสันว่า (ส่วนที่เน้นของสุพจน์เอง)

ในบรรดาเสนาบดีที่ร่วมเฟ้นหาองค์รัชทายาท [ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘] ..... มีจอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นบุคคลสำคัญที่ทรงอำนาจที่สุดในบรรดาเสนาบดีในขณะนั้น (พระองค์...อยู่ในฐานะพระเชษฐาของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก) อันเป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาปฏิเสธในเบื้องต้นที่จะรับเป็นองค์รัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ โดยทรงอ้างเหตุผลทางพระอนามัย

แต่จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตตระหนักเป็นอย่างดีว่า เหตุผลที่ทรงปฏิเสธที่ล้ำลึกกว่าเรื่องพระอนามัยนั้นมีอยู่ และนั่นก็คือ ตำแหน่งเสนาบดี 2 กระทรวงหลักที่พระองค์ท่านดำรงอยู่ เป็นเหตุที่แท้จริงให้พระอนุชาโดยชันษา แต่มีศักดิ์สูงกว่าโดยชาติกำเนิดทางพระราชชนนี ทรงปฏิเสธที่จะรับเป็นองค์รัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ พระองค์จึงลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่ประทับ ลงนั่งกับพื้นกราบถวายบังคมทูลอัญเชิญให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาขึ้นนั่งบัลลังก์สืบราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ 7

(สุพจน์ ด่านตระกูล, “การสืบราชสันตติวงศ์”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 4, ตุลาคม-ธันวาคม 2548, หน้า 105-106) สุพจน์ไม่ได้อ้างหลักฐานสำหรับเรื่องเล่านี้ แต่ผู้ที่เคยอ่านงานประเภทสารคดีการเมืองเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๗ อาจจะเคยเห็นเรื่องเล่าทำนองนี้มาก่อน อันที่จริง ดังที่ผมจะแสดงให้เห็นข้างหน้า เรื่องเล่าหรือ “ตำนาน” กรมพระนครสวรรค์ลงนั่งกราบเจ้าฟ้าประชาธิปกนี้เป็นที่นิยมเล่าต่อๆกันมาอย่างแพร่หลายไม่น้อย แม้ว่าแต่ละคนที่เล่าจะมีรายละเอียดที่ไม่ตรงกันทั้งหมด หรือบางกรณีก็ต่างกันค่อนข้างมาก สุพจน์เพียงแต่นำเรื่องเล่าจากผู้อื่นมาเล่าต่ออีกทอดหนึ่ง นอกจากปัญหาใหญ่ในแง่ความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่านี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทเจ้าฟ้าบริพัตรในการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๗ แล้ว การเล่าของสุพจน์มีความคลาดเคลื่อนในประเด็นรองที่เห็นได้ชัดเจนคือ ตำแหน่งของเจ้าฟ้าบริพัตรขณะนั้นไม่ใช่เสนาบดี ๒ กระทรวง (ทั้งยังทรงเป็นเพียง “กรมหลวง” ไม่ใช่ “กรมพระ”) ดูเชิงอรรถที่ ๓๙ ข้างล่าง