Friday, October 27, 2006

"เราสู้" หลัง 6 ตุลา (เชิงอรรถ 5 - 10)



(6) ในหนังสือ พระราชกรณียกิจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2519 – กันยายน 2520 ของสำนักราชเลขาธิการ (หน้า 7) ได้สรุปพระราชกรณียกิจเดียวกันนี้ของ 2 พระเจ้าลูกเธอ ไว้ดังนี้:
วันพุธที่ 20 ตุลาคม 2519

เวลา 14.50 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จโดยรถยนต์ที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบรรจุศพ นายเสมอ อ้นจรูญ ลูกเสือชาวบ้านรุ่นที่ 6 ค่ายวังสราญรมย์ 206/3 กทม. 70 ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ณ ศาลาทักษิณาประดิษฐ วัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร

เวลา 16.05 น. เสด็จถึงหน้าศาลาทักษิณาประดิษฐ วัดพระศรีมหาธาตุ เสด็จขึ้นศาลาทักษิณาประดิษฐ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์สวดมาติกา จบแล้ว เสด็จไปทอดผ้า พระสงฆ์บังสกุล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงหลั่งทักษิโณทก พระเสงฆ์ถวายอนุโมทนา จบแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ทรงอ่านประกาศสดุดีเกียรติคุณนายเสมอ อ้นจรูญ เสร็จแล้ว เสด็จไปที่หน้าหีบศพ ทรงหยิบดินห่อผ้าขาว-ดำ วางบนพานที่ตั้งอยู่หน้าหีบศพ และทรงวางพวงมาลา เมื่อเสร็จพิธีบรรจุศพแล้ว ทรงพระดำเนิน ทรงเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านและราษฎรที่เฝ้าอยู่เป็นจำนวนมากภายในบริเวณวัด ทรงพระปฏิสันถารอย่างทั่วถึงกับลูกเสือชาวบ้าน และราษฎรเหล่านั้น สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์ที่นั่งเสด็จกลับถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเวลา 17.40 น.
ใน ประมวลพระราชดำรัสและพระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เล่ม 1 ปีพุทธศักราช 2519-2525 (2538) ไม่มีพระราชดำรัสสดุดีนายเสมอ อ้นเจริญ รวมอยู่ด้วย (พระราชดำรัสปี 2519 ที่รวมไว้ในเล่มมีเพียง 2 รายการ วันที่ 2 และ 22 เมษายน)

น่าสังเกตว่า ในกรณีระเบิดหน้าที่ประทับปี 2520 (ข้างล่าง) พระเจ้าลูกเธอ 2 พระองค์ก็ทรงเป็นผู้นำร้องเพลง “เราสู้”

(7) โดยมีเพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่เคยพิมพ์อยู่ในหน้าแรกตั้งแต่ปี 2516 ย้ายไปพิมพ์บนปกหลัง (ยกเว้นปี 2527 ซึ่งสลับกัน และปี 2521 ซึ่งพิมพ์อยู่ติดกันใน 2 หน้าแรก) เฉพาะฉบับปี 2520 นี้ ไม่มี “ความฝันอันสูงสุด” อันที่จริง เนื้อเพลง “เราสู้” คงปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือที่ระลึกปี 2519 (มีพิธีวันที่ 6 พฤษภาคม) แต่ผมหาหนังสือที่ระลึกของปีนั้นได้เพียงเล่มเดียว คือเล่มรายชื่อและรูปถ่ายผู้เสียชีวิต ซึ่งมีเพลง “เราสู้” และ “ความฝันอันสูงสุด” พิมพ์อยู่ในหน้าติดกันก่อนรายชื่อและรูปถ่าย เล่มบทความซึ่งผมยังหาไม่ได้ อาจจะมี “เราสู้” ตีพิมพ์อยู่ด้วยก็ได้

(8) ผมถูกเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ โดยงานวิจัยของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง “ความรุนแรงกับการจัดการ ‘ความจริง’: ปัตตานีกึ่งศตวรรษ” (ฉบับร่าง สิงหาคม 2545 แต่ฉบับที่ผมใช้อ้างในเชิงอรรถที่ 19 ข้างล่างคือฉบับแก้ไขปรับปรุง พฤษภาคม 2547) บทที่ 6 เสียงระเบิดใกล้ที่ประทับ: แถลงการณ์, เสียงเพลง และรถมอเตอร์ไซค์, ยะลา 2520

ยกเว้นที่ระบุเป็นอย่างอื่น ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในย่อหน้าถัดไป ผมสรุปมาจากแถลงการณ์ที่รัฐบาลออกในขณะนั้น ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ (ผมใช้ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, บ้านเมือง, สยามรัฐ, ดาวสยาม และ ตะวันสยาม)

(9) วสิษฐ เดชกุญชร รอยพระยุคลบาท, หน้า 351-352 “ผมตัดสินใจก้าวจากพื้นพลับพลาขึ้นไปบนแท่นที่เขาจัดถวายให้เป็นที่ประทับทั้งสี่พระองค์โดยเฉพาะ ผมเข้าไปยืนจนชิดพระวรกายพระเจ้าอยู่หัว และหันหน้าออกเพื่อเผชิญภัยที่อาจตามมา พร้อมๆกันนั้น นายทหารราชองครักษ์ประจำและนายตำรวจราชสำนักประจำคนอื่นๆ ก็ปฏิบัติอย่างเดียวกัน ผมเชื่อว่าคงเป็นครั้งแรกและยังเป็นครั้งเดียวที่พวกเราได้เข้าถวายความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดถึงเพียงนั้น ตามหลักการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น สิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพึงกระทำ ก็คือเอาตัวบุคคลสำคัญผู้นั้นออกจากที่เกิดเหตุไปทันที เพื่อมิให้ได้รับอันตรายจากเหตุร้ายที่ยังอาจจะตามมาอีก แต่ไม่มีใครกล้าถวายบังคมทูลให้เสด็จออกจากพลับพลาพิธีนั้น เพราะทั้งพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯทรงแสดงพระกิริยามั่นคง ทรงยืนนิ่งอยู่ สีพระพักตร์เป็นปกติ”

(10) เกี่ยวกับการรายงานข่าวหรือ “การจัดการความจริง” กรณีนี้ของหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ดูงานวิจัยของชัยวัฒน์ที่อ้างถึงในเชิงอรรถที่ 8 ข้างต้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า โดยทั่วไป ชัยวัฒน์ให้ภาพที่ไขว้เขวด้วยการตีความมากเกินไป (over-interpretation) เขาเสนอว่ารูปแบบการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2520 เปลี่ยนแปลงไปจากฉบับวันที่ 23 โดยในวันที่ 23 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเสนอข่าวเหมือนๆกัน ขณะที่วันต่อมา “เริ่มเลือกให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆในเหตุการณ์ต่างกันออกไป” (หน้า 200 ของงานวิจัย การขีดเส้นใต้เน้นคำของชัยวัฒน์เอง) ผมเห็นว่า ยกเว้นกรณี เดลินิวส์ ที่ผมจะอธิบายข้างล่าง (และ สยามรัฐ ในบางด้าน) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเสนอข่าวนี้ในลักษณะที่เหมือนๆกันทั้ง 2 วัน คือ ไม่รายงานข่าวเองว่าเกิดอะไรขึ้น แต่อ้างจากแถลงการณ์ของรัฐบาล (หรือในภาษาหนังสือพิมพ์ว่า “ข่าวแจก”) ผมคิดว่า สาเหตุสำคัญที่ภาพรวมของชัยวัฒน์ไขว้เขว เพราะเขา “ตกหล่น” ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง และมองข้ามความจริงอีกอย่างหนึ่ง ข้อมูลสำคัญที่ “ตกหล่น” คือ มีการเปิดเผยว่า กองเอกสารกรมตำรวจได้ขอร้องหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเกี่ยวกับการเสนอข่าวเรื่องที่เกิดขึ้นกับในหลวงติดกัน 2 วัน คือ รถมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งวันที่ 21 (ดูเชิงอรรถที่ 12 ข้างล่าง) และระเบิดหน้าที่ประทับวันที่ 22 ว่า “ให้เสนอเป็นข่าวธรรมดา อย่าให้ประชาชนตื่นเต้น” (ดูคอลัมภ์ “ฟันวันละหน” ของ “ไอศูรย์ รังษี” ใน ตะวันสยาม วันที่ 24 และ 25 กันยายน 2520 ซึ่งโจมตี เดลินิวส์ อย่างรุนแรงที่ไม่ยอมทำตามคำขอร้องเหมือนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ เพราะ “ฟังภาษาคนไม่รู้เรื่อง” และ “ดึงสถาบันกษัตริย์มาหากิน”) ถ้าเรามองการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ขณะนั้นผ่านข้อมูลนี้ จะทำให้เห็นลักษณะที่เหมือนๆกันแบบ “ข่าวแจก” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (และไม่ตีความมากเกินไปแบบชัยวัฒน์) ส่วนความจริงอย่างหนึ่งที่ชัยวัฒน์มองข้ามคือ (ดังกล่าวข้างต้น) เดลินิวส์ เป็นฉบับเดียวที่เสนอข่าวในลักษณะของการรายงานเองจากที่เกิดเหตุเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่รายงาน “ข่าวแจก” เท่านั้นเหมือนฉบับอื่นๆทุกฉบับ เดลินิวส์ แทบจะเป็นฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายเหตุการณ์จริงหลังการระเบิดไม่กี่วินาที ในฉบับวันที่ 24 และ 25 ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความชุลมุนวุ่นวายที่เกิดขึ้น (ไทยรัฐ ตีพิมพ์ภาพเหตุการณ์ 1 ภาพ แต่เป็นหลังการชุลมุนแล้ว แสดงว่ามีนักข่าวอยู่ในที่เกิดเหตุเหมือนกัน แต่กลับอาศัยแถลงการณ์รัฐบาลในการรายงานข่าว) เดลินิวส์ เป็นฉบับเดียวเช่นกัน ที่รายงานข่าวมอเตอร์ไซค์ชนรถพระที่นั่งที่นราธิวาสตอนค่ำวันที่ 21 กันยายน เพิ่มเติมจากที่เกิดเหตุ (ความจริง ผมเห็นว่า มีเรื่องที่ชัยวัฒน์มองข้ามหรือไม่เอ่ยถึงอื่นๆอีก ซึ่งมีส่วนทำให้ภาพรวมออกมาไขว้เขว เช่นการที่เขากล่าวถึง “พาดหัว” ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ โดยไม่อธิบายว่า ลักษณะของการ “พาดหัว” เป็นอย่างไร ใหญ่เล็กแค่ไหน หรือการมองข้ามการวิจารณ์รัฐบาลของ คึกฤทธิ์ (สยามรัฐ วันที่ 27 กันยายน 2520 คอลัมภ์ “คลื่นใต้น้ำ” หน้า 5) กรณี สยามรัฐ นับว่ามีลักษณะเสนอข่าวต่างกับฉบับอื่นในบางด้าน คือเป็นฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ ข่าวหน้า 1 ในลักษณะวิจารณ์รัฐบาลโดยตรง: “ส.ส.ปฏิรูปตำหนิรัฐบาลทำหละหลวม ในการอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องรับผิดชอบเต็มประตู” (แต่ก็ยังเหมือนฉบับอื่น – และต่างกับ เดลินิวส์ – ในแง่ที่ใช้ “ข่าวแจก” ของเหตุการณ์ล้วนๆเช่นกัน)