Tuesday, June 27, 2006

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑๗ - ๒๕)



(๑๗) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๙/๒๔๙๗ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ ผมไม่พบว่ามีการนำเรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตเข้าสู่การพิจารณาอีก (“ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร”) แต่ ๑๐ เดือนต่อมา มีการเสนอเรื่องการเลื่อนบำเหน็จอีก ดูภาคผนวกท้ายบทความนี้

อันที่จริง คดีสวรรคตถูกพาดพิงถึงในอีกวาระหนึ่ง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีเลย แต่มีความน่าสนใจในตัวเองอยู่บ้าง คือ ในการประชุมวันที่ ๓๑ มกราคม มีวาระชื่อ “นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญจะมาประเทศไทย” เนื้อหาของวาระคือ เอกอัครราชทูตไทยประจำลอนดอนรายงานมาว่า นาย Kingsley Martin บรรณาธิการ New Statesman and Nation จะเดินทางมาแวะพักในกรุงเทพเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ “เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูง ทั้งนี้คงจะมาติดตามข่าวการประชุม SEATO และคดีกรณีสวรรคต ซึ่งมีคำพิพากษาเสร็จแล้วนั้นด้วย” เอกอัครราชทูตรายงานว่า “บุคคลผู้นี้เขียนบทประพันธ์แสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของรัฐบาลและราชวงศ์อยู่เสมอ” จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าจะออกวีซ่าให้หรือไม่ แต่กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้เข้ามาได้ จึงโทรเลขอนุมัติให้สถานทูตในลอนดอนออกวีซ่าให้แล้ว ครม.เพียงแต่ลงมติ “ทราบ” (หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๙/๒๔๙๘ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘)

(๑๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๓/๒๔๙๘ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๑๙) เช้า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๐) สยามนิกร วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ต้นฉบับพิมพ์ผิดว่า “คุณบุญส่ง (ภรรยาคุณชิต)” ผมแก้ให้ถูกต้อง

(๒๑) พิมพ์ไทย ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๒) หัวข้อนี้ ผมเรียบเรียงจากรายงานในหนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้น ๓ ฉบับคือ พิมพ์ไทย, สยามนิกร และ เช้า (ฉบับแรกมากที่สุด) ซึ่งโดยทั่วไปไม่แตกต่างกันนัก เช่น มีการนิมนต์พระมาเทศน์, เผ่าเดินทางมาสังเกตการณ์, มีการอ่านคำพิพากษา เป็นต้น ยกเว้นในแง่ลำดับขั้นตอนที่เกิดขึ้นก่อนหลังและในรายละเอียดบางประการ ในกรณีเช่นนี้ ผมจะระบุว่าผมเขียนจากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ฉบับไหน

(๒๓) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๔) ผมถือตาม เช้า (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) ที่ลำดับการอ่านคำพิพากษาก่อนพระเทศน์ ต่างกับ พิมพ์ไทย (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) ที่ให้พระเทศน์จบแล้วจึงอ่านคำพิพากษา แม้ว่าโดยทั่วไปผมจะเล่ารายละเอียดของแต่ละขั้นตอนโดยถือตามพิมพ์ไทย ซึ่งรายงานละเอียดที่สุด เหตุผลของผมคือ (๑) ผมคิดว่าโดยสามัญสำนึก การบอกนักโทษว่าจะประหาร ควรมาก่อนการให้ฟังเทศน์ (มิเช่นนั้น เหตุใดจึงให้มานั่งฟังเทศน์ดึกๆดื่นๆ!) และ (๒) ทุกฉบับรายงานตรงกันว่า เผ่ากับบริวารมาถึงเมื่อพระเทศน์จบพอดี ถ้าหลังเทศน์ยังมีการอ่านคำพิพากษาอีกว่า ๑ ชั่วโมง เผ่าก็ต้องนั่งรอ (เพราะเขาอยู่ดูการประหาร) ผมไม่คิดว่าเขาจะขยันมาล่วงหน้านานขนาดนั้น

(๒๕) สยามนิกร วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘