Tuesday, June 27, 2006

"ท่านชิ้น" (เชิงอรรถ)



(๑) ฉากเหตุการณ์ทรงต้องพระแสงปืนอย่างไรในลักษณะคล้ายๆกับที่ “ท่านชิ้น” เสนอ (แต่ไม่ละเอียดเท่านี้) ได้เคยถูกเสนอมาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยชิต สิงหเสนี ซึ่งภายหลังตกเป็นจำเลยในคดีสวรรคตและถูกประหารชีวิต ในระหว่างให้การเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ต่อ “คณะกรรมการสอบสวนพฤฒิการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” ที่รัฐบาลปรีดีตั้งขึ้นในปีนั้น ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลกลางเมือง” ชิตได้วาดเหตุการณ์สวรรคต ดังปรากฏในบันทึกการสอบสวนดังนี้ “ประธานกรรมการฯได้ขอให้พยาน [ชิต] ลองวาดภาพการแอ็กซิเดนท์ตามคำให้การของพยานว่า พยานคาดว่าจะเกิดแอ็กซิเดนท์ขึ้นในประการใด พยานได้ทำท่าให้ดูตามที่พยานนึกเอา แล้วบอกว่า บางทีขณะที่พระองค์ถือส่องดูพระแสงปืนนั้น เนื่องจากทรงอิดโรยเพราะกำลังประชวร ปืนอาจจะหล่นจากพระหัตถ์แล้วพระองค์ทรงตะปบคว้าปืนด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ปืนจึงอาจะลั่นออกมาได้ และโดนพระองค์เข้า ภาพที่พยานวาดให้กรรมการฟังนี้ พยานว่า พยานคิดดังนี้ แต่อย่างอื่นไม่เคยคิด” (บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, ๒๕๔๖, หน้า ๙๑) เป็นไปได้ว่า “ท่านชิ้น” อาจจะทรงได้ความคิดอธิบายแบบนี้ครั้งแรกจากคำให้การของชิตก็ได้ ความจริงคือในสมัยนั้น มีการพูดคุยคาดเดาไปต่างๆนานาอย่างกว้างขวางว่า ทรงสวรรคตอย่างไร คนที่คิดว่าการสวรรคตอาจเกิดขึ้นได้โดยอุบัติเหตุในทำนองนี้จึงคงไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ “ท่านชิ้น” (หรือชิต สิงหเสนี) เพียงคนเดียว

(๒) เกี่ยวกับความบาดหมางระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับไทยอันเนื่องมาจากกรณีสวรรคต ดู William Stevenson, The Revolutionary King (2001) pp. 63-64, 95, 144-147, 155 สตีเวนสันกล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยภาษาที่รุนแรงยิ่งกว่าข้อเขียนของลูกสาว “ท่านชิ้น” ที่ผมยกมาข้างต้นเสียอีก (โดยเฉพาะประโยคที่อ้างว่าเป็นของกษัตริย์อังกฤษในการให้เหตุผลปฏิเสธการพบกับในหลวง ซึ่งสตีเวนสันยกมาถึง ๒ ครั้ง) สตีเวนสันเล่าการเสด็จเยือนไทยของเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเค้นท์ในฐานะราชอาคันตุกะของในหลวง ในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของการคืนดี (reconciliation) จากความบาดหมางนี้ (pp. 146-147) ทำให้ผมคิดขึ้นมาว่า การที่ทรงเจาะจงเลือกบ้านไร่ของ “ท่านชิ้น” ในการนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราเสด็จไปพักผ่อน อาจจะไม่ใช่เรื่องไม่มีการเมืองเสียเลยก็ได้ (แต่สตีเวนสันไม่ได้พูดถึง “ท่านชิ้น” ในการเล่าการเสด็จเยือนของอเล็กซานดรา และทายาท “ท่านชิ้น” เองก็ไม่ได้เชื่อมโยงการเยือนนี้กับความเข้าใจผิดก่อนหน้านั้นระหว่างราชวงศ์อังกฤษ-ในหลวง-“ท่านชิ้น” ในกรณีสวรรคต)

การสนทนาระหว่างลอร์ดหลุยส์เมานท์แบทเทนกับพระองค์เจ้าธานี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ราชสำนักไทยทราบข่าวลือในแวดวงราชสำนักอังกฤษ ซึ่งลูกสาว “ท่านชิ้น” เล่าข้างต้น คือกรณีเดียวกับที่ปรีดีเอ่ยพาดพิงถึง (แต่ไม่เล่ารายละเอียด) ใน ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (จนถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๕) พิมพ์ครั้งที่ ๒ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ๒๕๓๕, หน้า ๘๕.

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๒๖ - ๓๘)



(๒๖) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ รายงานว่า บุญสม ปัทมศรินภรรยากล่าวกับนักข่าวว่า “โธ่ ทำไมยิงเขาตั้ง ๓ ชุดไม่รู้ ปกติคุณบุศย์แกเป็นคนขี้โรคอยู่แล้ว รูปร่างก็อ้อนแอ้นยังกับผู้หญิง ดิฉันจะเข้าไปดูศพผู้ใหญ่เขาก็ห้ามไว้ กลัวดิฉันจะเป็นลม ดิฉันไปดูตอนเขามัดตราสังข์ เข้าไปกอดคว้า เห็นเนื้อตัวเหลวไปหมด หาชิ้นดีอะไรไม่ได้เลย คลำหามือไม่พบ เข้าใจว่าถูกยิงขาดไปด้วย”

(๒๗) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๘) เช้า วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๙) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ “ร.ม.ต. เผ่า วิสาสะ – ในขณะที่เฉลียว ชิต บุศย์ กำลังถูกควบคุมตัวภายหลังจากที่ได้ฟังพระเทศน์แล้ว อธิบดีเผ่าได้ถือโอกาสเข้าไปสนทนาและปลอบโยนในห้องขังด้วยตนเองประมาณ ๑๐ นาที จึงได้กลับออกมานอกห้อง”

(๓๐) เช้า วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๓๑) ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป., กรณีสวรรคต และรัฐประหาร ๒๕๐๐”, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง (๒๕๔๔), หน้า ๓๑-๓๕.

(๓๒) ดูจดหมายทั้งฉบับใน คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ (๒๕๔๓), หน้า ๒๑๗ ตอนต้นของจดหมาย ปรีดีได้ท้าวความถึงคำของจอมพล ป ที่ฝากผ่านมาในจดหมายของสังข์ว่า “ผมมีความยินดีมากที่ได้ทราบจากคำยืนยันของคุณว่า ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามมิได้เป็นศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอและอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ” น่าเปรียบเทียบ ท่าทีของจอมพลต่อปรีดีนี้กับการอภิปรายในสภาเมื่อ ๑๒ เดือนก่อนหน้านั้น ที่อ้างในเชิงอรรถที่ ๖ ข้างต้น

(๓๓) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๓๔) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕๓/๒๔๙๘ วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๘

(๓๕) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๑/๒๔๙๓ วันจันทร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๓

(๓๖) จอมพล ป.ให้การในฐานะพยานโจทก์เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ตามรายงานของ สยามนิกร ฉบับวันต่อมา เขาได้กล่าวต่อศาลตอนหนึ่งว่า “ก่อนเสด็จสวรรคตประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ พล.ต.ต.เผ่า ได้มาบอกกับพยานว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เข้าเฝ้า ซึ่งพล.ต.ต.เผ่าบอกแต่เพียงว่า ในหลวงต้องการพบ พลตรีเผ่า ได้ทราบมาจากในวัง ซึ่งพยานเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร พยานได้บอกกับพล.ต.ต.เผ่าว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระประสงค์เช่นนั้น พยานก็ยินดีที่จะเข้าเฝ้า พยานได้ให้พล.ต.ต.เผ่า ไปตกลงว่าจะให้เข้าเฝ้าที่ไหนและเวลาไร แล้วพล.ต.ต.เผ่าก็ได้มาแจ้งให้ทราบ ซึ่งพยานได้ตอบไปว่า ที่ไหนก็ได้ ตามความสะดวกของพระองค์ เมื่อก่อนในหลวงสวรรคต ประมาณ ๑ สัปดาห์ ว่าจะให้เข้าเฝ้าที่วังสระปทุม หรือในวังหลวงที่พระที่นั่งบรมพิมาน พยานจำไม่ได้แน่ ต่อมาเรื่องก็เลยเงียบไป จนกระทั่งในหลวงสวรรคต” ผมตีความว่า ฝ่ายโจทก์พยายามสร้างภาพปรักปรำปรีดี ในลักษณะเดียวกับที่พวกนิยมเจ้าชอบสร้างข่าวลือที่รู้จักกันดีว่าปรีดีไม่พอใจในหลวงอานันท์อย่างมาก ต่อการที่ในหลวงอานันท์ทรงเสด็จเยาวราชโดยการนำเสด็จของควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือพยายามจะบอกว่า ปรีดีอาจไม่พอใจที่ในหลวงอานันท์ทรงติดต่อกับจอมพล ป.เช่นเดียวกัน

(๓๗) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘/๒๔๙๗ วันพุธที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๙๗

(๓๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 15/2497 วันพุธที่ 3 มีนาคม 2497

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑๗ - ๒๕)



(๑๗) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๙/๒๔๙๗ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๗ ผมไม่พบว่ามีการนำเรื่องการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตเข้าสู่การพิจารณาอีก (“ให้รอไว้ก่อน จนกว่าจะถึงโอกาสอันควร”) แต่ ๑๐ เดือนต่อมา มีการเสนอเรื่องการเลื่อนบำเหน็จอีก ดูภาคผนวกท้ายบทความนี้

อันที่จริง คดีสวรรคตถูกพาดพิงถึงในอีกวาระหนึ่ง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดีเลย แต่มีความน่าสนใจในตัวเองอยู่บ้าง คือ ในการประชุมวันที่ ๓๑ มกราคม มีวาระชื่อ “นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญจะมาประเทศไทย” เนื้อหาของวาระคือ เอกอัครราชทูตไทยประจำลอนดอนรายงานมาว่า นาย Kingsley Martin บรรณาธิการ New Statesman and Nation จะเดินทางมาแวะพักในกรุงเทพเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ “เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูง ทั้งนี้คงจะมาติดตามข่าวการประชุม SEATO และคดีกรณีสวรรคต ซึ่งมีคำพิพากษาเสร็จแล้วนั้นด้วย” เอกอัครราชทูตรายงานว่า “บุคคลผู้นี้เขียนบทประพันธ์แสดงความคิดเห็นเป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายของรัฐบาลและราชวงศ์อยู่เสมอ” จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาว่าจะออกวีซ่าให้หรือไม่ แต่กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้เข้ามาได้ จึงโทรเลขอนุมัติให้สถานทูตในลอนดอนออกวีซ่าให้แล้ว ครม.เพียงแต่ลงมติ “ทราบ” (หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๙/๒๔๙๘ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘)

(๑๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๑๓/๒๔๙๘ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๑๙) เช้า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๐) สยามนิกร วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ต้นฉบับพิมพ์ผิดว่า “คุณบุญส่ง (ภรรยาคุณชิต)” ผมแก้ให้ถูกต้อง

(๒๑) พิมพ์ไทย ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๒) หัวข้อนี้ ผมเรียบเรียงจากรายงานในหนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้น ๓ ฉบับคือ พิมพ์ไทย, สยามนิกร และ เช้า (ฉบับแรกมากที่สุด) ซึ่งโดยทั่วไปไม่แตกต่างกันนัก เช่น มีการนิมนต์พระมาเทศน์, เผ่าเดินทางมาสังเกตการณ์, มีการอ่านคำพิพากษา เป็นต้น ยกเว้นในแง่ลำดับขั้นตอนที่เกิดขึ้นก่อนหลังและในรายละเอียดบางประการ ในกรณีเช่นนี้ ผมจะระบุว่าผมเขียนจากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ฉบับไหน

(๒๓) พิมพ์ไทย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๒๔) ผมถือตาม เช้า (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) ที่ลำดับการอ่านคำพิพากษาก่อนพระเทศน์ ต่างกับ พิมพ์ไทย (วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) ที่ให้พระเทศน์จบแล้วจึงอ่านคำพิพากษา แม้ว่าโดยทั่วไปผมจะเล่ารายละเอียดของแต่ละขั้นตอนโดยถือตามพิมพ์ไทย ซึ่งรายงานละเอียดที่สุด เหตุผลของผมคือ (๑) ผมคิดว่าโดยสามัญสำนึก การบอกนักโทษว่าจะประหาร ควรมาก่อนการให้ฟังเทศน์ (มิเช่นนั้น เหตุใดจึงให้มานั่งฟังเทศน์ดึกๆดื่นๆ!) และ (๒) ทุกฉบับรายงานตรงกันว่า เผ่ากับบริวารมาถึงเมื่อพระเทศน์จบพอดี ถ้าหลังเทศน์ยังมีการอ่านคำพิพากษาอีกว่า ๑ ชั่วโมง เผ่าก็ต้องนั่งรอ (เพราะเขาอยู่ดูการประหาร) ผมไม่คิดว่าเขาจะขยันมาล่วงหน้านานขนาดนั้น

(๒๕) สยามนิกร วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๙ - ๑๖)



(๙) ข้อมูลจากสารคดีชุด “อวสานต์ ๓ นักโทษประหาร” โดย “พร เพิ่มสุข” ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆใน พิมพ์ไทย ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หลังการประหารชีวิต เรื่องการถวายฎีกาอยู่ในฉบับวันที่ ๒๔, ๒๕ และ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ตามที่สารคดีชุดนี้เล่า จำเลยแต่ละคนเขียนฎีกาด้วยลายมือตัวเอง ฎีกาของเฉลียวมี “เนื้อความยาวหลายหน้ากระดาษ” ส่วนของชิตและบุศย์ค่อนข้างสั้นคล้ายกัน โดยของบุศย์มีข้อความดังนี้

เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า นักโทษชายบุศย์ ปัทมศริน ขอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา ขอพระมหากรุณาธิคุณใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่พึ่ง พระราชอาญาฯไม่พ้นเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้าได้ถูกจับกุมขังและถูกฟ้องต่อศาลอาญาในข้อหาสมคบกันกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ศาลอาญาได้พิพากษาปล่อยตัวข้าพระพุทธเจ้าพ้นข้อหาไป อัยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอาญาและศาลฎีกาก็ได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคมศกนี้ ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตข้าพระพุทธเจ้า

ระหว่างนี้ทางเรือนจำยังรอพระบรมราชโองการอยู่ หากทรงยกฎีกาของข้าพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็คงถูกประหารชีวิตเป็นแม่นมั่น
พระบรมราชโองการใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเท่านั้น ที่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพระพุทธเจ้าได้มีชีวิตยืนยาวต่อไปนี้ อันชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าที่ได้เติบโตมานี้ ก็ด้วยพระเมตตาบารมีของพระบรมราชวงศ์ ทรงให้ทานชุบเลี้ยง นับแต่มารดาของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับราชการเป็นพนักงานโขลน อยู่ในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน ตัวข้าพระพุทธเจ้าเองนั้น นับตั้งแต่เป็นทารกได้คลุกคลีอยู่กับมารดาในเขตพระราชฐานนั้น จนกระทั่งอายุได้ ๑๑ ปี จึงออกมาศึกษาหาความรู้ แล้วก็ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้รับเลือกให้เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมนั้น ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับสนองพระเดชพระคุณโดยใกล้ชิดพระยุคลบาท ครั้นเมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯเลือกให้ตามเสด็จไปยังต่างประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าก็ยิ่งรู้สึกว่า เป็นวาสนาอย่างสูงแก่ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งจะหาอีกไม่ได้ในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้านี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ยิ่งเพิ่มความจงรักภักดี ตั้งใจรับราชการสนองพระยุคลบาทด้วยความซื่อสัตย์กตัญญูจนสุดความสามารถของข้าพระพุทธเจ้า

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลขอพระมหากรุณา ขอยึดพระเมตตาบารมีของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นที่พึ่งเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เสมือนได้ทรงโปรดแก่สัตว์ผู้ยากให้กลับเกิดใหม่ ส่วนการจะควรเป็นสถานอื่นใดนั้น สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมนี้ จักสลักแน่นอยู่ในดวงใจของข้าพระพุทธเจ้าและวงศ์ตระกูลด้วยความซื่อสัตย์กตัญญูไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ข้าพระพุทธเจ้าขอตั้งสัตยาธิษฐาน ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเจริญสุขในทุกสถานตลอดกาลนิรันดร

การจะควรประการใดสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า นักโทษชายบุศย์ ปัทมศริน ผู้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ฎีกาฉบับนี้ข้าพระพุทธเจ้า นักโทษเด็ดขาดชายบุศย์ ปัทมศริน เป็นผู้เรียงและเขียน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้านักโทษชายบุศย์ ปัทมศริน ผู้เรียงและเขียน
(บุศย์ ปัทมศริน)

(๑๐) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๘๕/๒๔๙๗ วันพุธที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๙๗

(๑๑) ในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี มีตัวอย่างการพิจารณาและมีมติต่อฎีกาของคดีอาญาทั่วไปในลักษณะนี้อยู่เสมอๆ เช่น ในระยะใกล้ๆกับฎีกาคดีสวรรคต กระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอฎีกาของนักโทษเด็ดขาดชาย สิงห์ อินทนนท์ ซึ่งถูกพิพากษาลงโทษในคดีฟันทำร้ายนางคำปัน แก้วดวงตา โดยเจตนาฆ่าให้ตาย เข้าสู่ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าศาลทั้ง ๓ ก็ได้พิจารณาเห็นพ้องต้องกันวางโทษประหารชีวิตสถานเดียวตลอดมา จึงไม่สมควรที่จะขอพระราชทานอภัยลดโทษให้ มติ ให้กราบบังคมทูลได้” (หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๗๗/๒๔๙๗ วันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗)

(๑๒) พิมพ์ไทย ๑๓ มกราคม ๒๔๙๘ “ฎีกาเฉลียว ชิต ไม่มีข่าวคืบหน้า – เพื่อเสนอข่าวคืบหน้าเกี่ยวกับฎีกาของนักโทษประหารทั้งสามนี้ เมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น. วันที่ ๑๒ เดือนนี้ ‘พิมพ์ไทย’ ได้เข้าพบนางฉลวย ปทุมรส ภรรยานายเฉลียว ปทุมรสที่บ้านพักบางกะปิ ‘ดิฉันคาดว่า ป่านนี้ก็คงจะถึงสำนักราชเลขานุการแล้วค่ะ พวกเราก็ได้แต่รอ...ฟังข่าวอยู่อย่างกระวนกระวายใจเป็นที่สุด...’ นางกล่าวอย่างเศร้าๆในที่สุด พลางซับน้ำตาที่ไหลเอ่อล้นออกมา”

(๑๓) สยามรัฐ วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๙๘ และดู พิมพ์ไทย วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๙๘ ซึ่งรายงานการสัมภาษณ์เฉลียว ระหว่างที่เขาถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลในคดีที่ถูกฟ้องว่าขับรถโดยประมาท (เป็นคดีต่างหาก ไม่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต) เฉลียวกล่าวถึงการถวายฎีกาว่า “หวังในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานที่ผมเป็นข้าใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทมาก่อน” และว่าในระยะ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา นักโทษประหารได้รับพระราชทานอภัยโทษเสมอ “พระองค์ท่านก็คงทรงเมตตาผมเช่นกัน” เฉลียวยังกล่าวว่า “ไหนๆผมก็ล้มแล้ว ขออย่าซ้ำ” ส่วนการที่เขาถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลในวันนั้น “ความจริงผมไม่อยากออกมาเลย เพราะออกมาข้างนอกทำให้ใจคอวอกแวก”

(๑๔) สยามรัฐ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

(๑๕) สยามรัฐ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ แหล่งข่าวนี้คือนายณรงค์ บัณฑิต รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ประชาชนสนใจข่าวคราวเกี่ยวกับฎีกาสวรรคตเป็นอันมาก เพราะไปที่ไหนมีคนถามบ่อยๆ ในขณะนี้ได้ทราบมาว่า ฎีกาสวรรคตได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งทางสำนักคณะรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาสวรรคตต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยผ่านทางสำนักราชเลขาธิการ ขณะนี้ฎีกาสวรรคตได้ผ่านไปถึงราชเลขาธิการฝ่ายในแล้ว” สยามรัฐ เองกล่าวว่า “ประชาชนทั่วประเทศกำลังสนใจข่าวคืบหน้าเกี่ยวกับจำเลยคดีสวรรคตทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต่อในหลวงโดยผ่านทางรัฐบาล”

(๑๖) สารเสรี ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๖ - ๘)



(๖) อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีหลักฐานโดยตรง เราก็อาจอภิปรายได้ว่า ท่าทีต่อสาธารณะของจอมพล ป ในขณะนั้น ชวนให้คิดว่า ความจำหรือข้ออ้างภายหลังของเขาน่าจะเป็นเรื่องไม่จริงเสียมากกว่า เพราะในเดือนธันวาคม ๒๔๙๘ หรือ ๑๐ เดือนหลังการประหารชีวิต เมื่อนางสุนี เตลาน ส.ส.นครสวรรค์ เสนอร่าง “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจลาจล” ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเขียนแบบครอบคลุมหมดทั้งผู้ที่ “ได้ถูกฟ้องและรับโทษตามคำพิพากษาแล้ว หรือยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรือในระหว่างสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน ให้เป็นอันพ้นจากความผิดนั้นๆทั้งสิ้น” จอมพล ป ยังอุตส่าห์หยิบเอาคดีสวรรคตมาเป็นข้ออ้างว่าไม่ควรรับรองร่าง พรบ.นั้น เพราะคดียังไม่สิ้นสุด ดังนี้:
สำหรับในระยะหลังนี้ เกี่ยวกับนักโทษที่ท่านกล่าวว่าเป็นนักโทษจลาจลนั้นอาจจะแยกได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ก็คือเป็นนักโทษเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่ได้มีการปลงพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ซึ่งคดีส่วนหนึ่งก็ได้ตัดสินเสร็จไปแล้ว แต่คดียังอยู่อีกส่วนหนึ่งยังไม่ได้ตัดสิน เพราะยังจับตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ก็เป็นคดีเกี่ยวแก่ฐานกบฏและจลาจลอยู่เหมือนกัน อีกประเภทหนึ่งคือคดีต่างๆเกี่ยวกับวันที่ ๑ ตุลาคม ปี ๒๔๙๑ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๙ มิถุนายน ๑๐ พฤศจิกายน เหล่านี้เป็นคดีในจำพวกเกิดขึ้นจากทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น คือหมายความว่าเป็นการสนับสนุนมาจากทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาดูโดยส่วนใหญ่ของคดีทั้งสองประเภทนี้แล้ว หากว่าเราจะปล่อยออกไปทั้งหมดตามที่ท่านผู้เสนอในพระราชบัญญัตินี้แล้ว กระผมคิดว่าพวกนี้ออกไปนั้นอาจที่จะยังไม่รู้สึกตัว เพราะยังไม่ได้รับโทษเพียงพอ ดังเช่นผู้ที่อยู่ในกรณีสวรรคตแล้วก็เราไปล้มในกรณีสวรรคตเสีย โดยพระราชทานอภัยโทษนิรโทษกรรมไปหมดดังนี้ ผมคิดว่าเราต้องระลึกถึงประชาชนส่วนใหญ่จะคิดว่าอย่างไร จะไม่ระลึกถึงหรือว่ารัฐบาลนี้ก็ดีหรือสภาผู้แทนนี้ก็ดี เป็นการสนับสนุนแก่ผู้ที่ได้กระทำการล่วงกฎหมายในการกบฏและจลาจล ในการปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๘ ไป และนอกจากนั้นรัชกาลที่ ๘ เองก็เป็นสมเด็จพระเชษฐาธิราชของรัชกาลปัจจุบันนี้ ตามรัฐธรรมนูญก็บอกว่าการพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ถ้าเราจะกราบบังคมทูลขึ้นไป ทางรัฐบาลนี้ก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังว่าจะเป็นการสมควรเหมาะสมหรือไม่ สำหรับอีกอันหนึ่งก็คือกรณีเกี่ยวกับอีก ๔ กรณีซึ่งอยู่ในข่ายที่จะต้องได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมายที่ท่านผู้เสนอได้เสนอนั้น โดยมากก็เกี่ยวกับกรณีเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น แต่ท่านที่เคารพทั้งหลายเกี่ยวกับกรณีคอมมิวนิสต์นี้ ประเทศของเรานั้นได้มีกฎหมายเกี่ยวแก่คอมมิวนิสต์ เราไม่ต้องการที่จะให้การปกครองของเราเป็นในระบอบคอมมิวนิสต์ และถ้าหากว่าการปกครองของเราเป็นในระบอบคอมมิวนิสต์ ท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่แล้วว่า ก็จะเข้าเท่ากับกรณีที่เราขับไล่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขออกไปจากประเทศนั่นเอง เพราะฉะนั้นคดีที่ ๑ กับที่ ๒ ประเภท ๑ ประเภท ๒ ในความรู้สึกของผมจึงรู้สึกว่าอยู่ในฐานละม้ายคล้ายคลึงกัน เพราะประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์นั้นมีพระมหากษัตริย์ไม่ได้ คดีแรกนั้นปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนเกือบจะทั้งประเทศนั้นไม่เห็นชอบและไม่สนับสนุน กรณีที่ ๒ เป็นทั้งคอมมิวนิสต์และผลพลอยได้ตามไปก็คือขับไล่พระมหากษัตริย์ออกไปด้วย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในปัจจุบันนี้ประชาชนจะไม่ให้ความสนับสนุน ถ้าหากว่าเราได้ประกาศนิรโทษกรรมพวกเหล่านี้ไป
(รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๘/๒๔๙๘ (วิสามัญ ๒) ชุดที่ ๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๘) เห็นได้ชัดว่า นี่ไม่ใช่ท่าทีของผู้ที่เมื่อตอนต้นปี “ได้ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปถึงสามครั้ง ได้พยายามทำหน้าที่ของพ่อจนที่สุดแล้ว” เลยแม้แต่น้อย

(๗) William Stevenson, The Revolutionary King: The True-Life Sequel to The King and I (2001), pp.119-120.

(๘) หัวข้อการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๗๔/๒๔๙๗ วันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๙๗ นี่ไม่ใช่ “รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี” คือมีลักษณะเป็นการสรุปมากกว่ารายงานการประชุม (ความจริงในบางสมัย “รายงานการประชุม” ก็มีลักษณะสรุปย่อแบบนี้) ไม่แน่ใจว่าในสมัยที่กำลังพูดถึงนี้มีการจัดทำ “รายงานการประชุม” แยกต่างหากจาก “หัวข้อการประชุม” นี้หรือไม่ แต่ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีเหลือเก็บเพียง “ห้วข้อการประชุม” เท่านั้น

ประหารชีวิตคดีสวรรคต (เชิงอรรถ ๑ - ๕)



(๑) กรมโฆษณาการ, คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ, หน้า ๒๖, ๓๐-๓๑, ๓๕๓-๓๕๔ ประเด็นของผมในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อกล่าวหารัชกาลที่ ๗ (หรือเจ้าระดับสูงอย่างกรมขุนชัยนาท) ของศาลพิเศษถูกต้องหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าคณะราษฎรมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะดำเนินการแบบนี้ เป็นความจริงด้วยว่า คำพิพากษานี้ทำขึ้นหลังรัชกาลที่ ๗ สละราชย์แล้วกว่า ๔ ปี ไม่ใช่ขณะยังครองราชย์อยู่

(๒) ดู สันติสุข โสภณศิริ (บก.), คำตัดสินใหม่กรณีสวรรคต ร.๘ ฉบับพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, ๒๕๔๓, หน้า ๑๐๖-๑๒๕ การทำผิดกระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายของศาลที่ปรีดีเสนอ ได้แก่ ศาลชั้นต้นไม่ยอมให้จำเลยตามไปสืบพยานซักค้านในหลวงและพระราชชนนีที่สวิตเซอร์แลนด์, ไม่มีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยคดี, วินิจฉัยกล่าวหาปรีดีลับหลังอย่างผิดความจริง และตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้งๆที่ไม่สามารถระบุว่าใครคือผู้ยิงรัชกาลที่ ๘ อย่างไรก็ตาม เฉพาะประเด็นแรกนั้น ปรีดีพลาดอย่างสำคัญ เขากล่าวถึง ๒ ครั้งว่า “ในการที่ศาลอาญาเดินเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันและสมเด็จพระราชชนนี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมี่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นั้น ศาลอาญาไม่อนุญาตให้จำเลยในคดีสวรรคตได้ไปเฝ้าขอพระราชทานกราบทูลถาม ๒ พระองค์นั้น” (หน้า ๑๐๘) และ “พระราชกระแสในหลวงองค์ปัจจุบันที่ได้ทรงให้การเป็นพยานโจทย์ในคดีสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ . . . การเดินเผชิญสืบในหลวงองค์ปัจจุบันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามวันดังกล่าวนั้น ศาลอาญาได้ให้ผู้พิพากษาและอัยการโจทย์ไปเดินเผชิญสืบโดยไม่อนุญาตให้จำเลยในคดีสวรรคตไปขอพระราชทานพระราชกระแส” (หน้า ๑๒๑) ความจริง การสืบพยานในหลวง เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ นั้น กระทำในเมืองไทย เพราะระหว่างนั้นทรงเสด็จกลับมาเพื่อประกอบพระราชพิธีต่างๆที่รู้จักกันดี คือ ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงอานันท์ (๒๙ มีนาคม), อภิเษกสมรส (๒๘ เมษายน) และฉัตรมงคล (๕ พฤษภาคม) ตัวบทคำให้การของในหลวงในหนังสือ ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์ ของชาลี เอี่ยมกระสินธ์ ที่ถูกปรีดีฟ้องและใช้อ้างอิงนั้น พิมพ์ตกหล่นอย่างสำคัญ คือตกคำว่า “ทรงตอบทนายจำเลย” ทำให้ดูราวกับว่ามีเพียงโจทก์ซักถามเท่านั้น ไม่มีฝ่ายจำเลยอยู่ด้วย แต่ความจริงจำเลยอยู่ด้วยและทนายจำเลยได้ซักค้านด้วย ดูตัวบทที่ตีพิมพ์ในสยามนิกร ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ส่วนที่ทรงตอบการซักค้านของทนายจำเลย เริ่มตั้งแต่ประโยคที่ว่า “คนที่ฉันเห็นวิ่งผ่านประตูห้องบันไดไปนั้น เขาผ่านโดยเร็ว ฉันไม่รู้ว่าเป็นใคร” และดูรายงานข่าวการสืบพยานในหลวงครั้งแรกในสยามนิกรฉบับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ซึ่งพาดหัวว่า “บรรทึกเสียงเผชิญสืบ ในหลวงทรงให้การอย่างช้าๆ องค์มนตรีนั่งฟังในหลวงครบชุด” และบรรยายว่าจำเลยทั้ง ๓ คนพร้อมด้วยทนายคือ ฟัก ณ สงขลา และเครือพันธ์ ปทุมรส ได้เข้าร่วมการสืบพยานด้วย คุณเครือพันธ์ (ปทุมรส) บำรุงพงศ์ ลูกเฉลียว ปทุมรส ได้ยืนยันกับผม (สนทนาทางโทรศัพท์ ๓ มีนาคม ๒๕๔๘) ว่า เธอจำได้ว่าได้ไปร่วมสืบพยานในหลวงที่วังสวนจิตรลดาด้วย สรุปแล้ว มีเพียงพระราชชนนีที่สืบพยานในสวิตเซอร์แลนด์ โดยทำกันในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๔๙๓ และฝ่ายจำเลยไม่ได้ไปด้วยจริง ในคำแถลงปิดคดี ฟัก ณ สงขลา ทนายจำเลยได้ยกประเด็นการสืบพยานโดยจำเลยไม่อยู่ด้วยเฉพาะกรณีพระราชชนนี ไม่ได้พูดถึงกรณีในหลวง “การที่ศาลให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาในต่างประเทศ ซึ่งจำเลยไม่สามารถที่จะติดตามไปฟังการพิจารณาได้ ศาลก็ย่อมจะถือเอาพยานหลักฐานในการดำเนินการพิจารณานอกประเทศนั้นประกอบเป็นหลักฐานลงโทษจำเลยไม่ได้” ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์โต้แย้งว่า “การไปเฝ้าเผชิญสืบสมเด็จพระราชชนนี ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นับตามกฎหมายศาลจะทำการสืบพยานนอกศาล ณ ที่ใดก็ได้” (ดู คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา คดีประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๓, หน้า ๒๐๑ และ ๓๗๙-๓๘๐)

(๓) สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (๒๕๑๗), หน้า ๑๓๗ และ ๑๔๒.

(๔) ความเห็นของครูเกอร์ Rayne Kruger, The Devil Discus (1964), p.200. และดูคำวิจารณ์ของปรีดีต่อคำพิพากษาเฉลียวของศาลฎีกาใน คำตัดสินใหม่, หน้า ๑๑๓-๑๒๓

คดีสวรรคตขึ้นศาลครั้งแรกวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๙๑ ศาลชั้นต้นตัดสินเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๔ ให้ชิตมีความผิด ต้องประหารชีวิต ปล่อยเฉลียวและบุศย์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ให้ชิตและบุศย์มีความผิด ต้องประหารชีวิต ปล่อยเฉลียว ศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ ให้ เฉลียว, ชิต และบุศย์ มีความผิด ต้องประหารชีวิตทั้ง ๓ คน

(๕) อนันต์ พิบูลสงคราม, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, เล่ม ๔ (๒๕๑๙), หน้า ๖๘๗-๖๘๘. การเน้นคำเป็นไปตามต้นฉบับ

Monday, June 19, 2006

๒๔๗๕ (เชิงอรรถ)



(๑) ในการตีพิมพ์บทความนี้ครั้งแรก ผมได้ระบุว่า “เฉินซัน” (วิกฤช สุนทรจามร) เป็นผู้เขียนกลอนบทนี้ ต่อมา ผมได้รับการชี้แจงจาก “เฉินซัน” เองว่า เขาไม่ใช่ผู้เขียน และไม่ทราบว่าผู้เขียนคือใคร (ความเข้าใจผิดว่า “เฉินซัน” คือผู้เขียนกลอนนี้ แพร่หลายพอสมควร น่าจะเพราะ “เฉินซัน” เขียนกลอนสดุดีปรีดี อีกบทหนึ่ง ซึ่ง สุรชัย จันทิมาธร ไปทำเป็นเพลง) ต่อมาคุณธนาพล อิ๋วสกุล ได้กรุณาแจ้งให้ผมทราบว่าผู้นำกลอนนี้ไปแปรอักษรคือคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ จากการพูดคุยกับคุณวันชัย จึงทราบว่า ผู้เขียนกลอนเป็นนักศึกษารุ่นเดียวกับเขา ชื่อ “เทียน” (ไม่ทราบชื่อนามสกุลเต็ม) ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว ผมยังไม่สามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับคุณ “เทียน” ได้ อย่างไรก็ตาม ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งนครินทร์, วันชัย และ “เทียน” มีจุดร่วมกัน นอกจากการเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นหลัง ๖ ตุลาแล้ว ทั้ง ๓ คน ยังมีความใกล้ชิดกับกลุ่มกิจกรรมต่างๆในมหาวิทยาลัย ซึ่งสืบทอดมาจากขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายภายใต้การนำของพคท. แต่ขณะเดียวกันตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่นักกิจกรรมในขบวนการนั้นโดยตรง (วันชัยน่าจะใกล้ชิดกับขบวนการหลักของฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัยมากที่สุด แต่ช่วงที่เขาเข้าธรรมศาสตร์ ระหว่าง ๒๕๒๒-๒๕๒๖ เป็นช่วงเดียวกับที่อุดมการณ์ พคท.ในขบวนการนักศึกษาแตกสลายพอดี)

Sunday, June 18, 2006

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๔๔ - ๕๑)



(๔๔) หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, “ชีวประวัติของเจ้าพระยามหิธร” ใน เรื่องของเจ้าพระยามหิธร ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๑๐๕

(๔๕) พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, อัตตชีวประวัติ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทรวาส ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๗, หน้า ๘๒-๘๓ ทรงนิพนธ์อัตตชีวประวัตินี้และพิมพ์แจกครั้งแรกในโอกาส ๘๔ พรรษาในปี ๒๕๑๒

(๔๖) เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, หน้า ๗๒-๗๓ หลังจากสรุปรายงานการประชุมแล้ว “นายหนหวย” ได้ ขอให้สังเกตข้อความที่ผมขีดเส้นใต้ ซึ่งไม่มีอยู่ในเรื่องเล่าใน version ของใครเลย (เท่าที่ผมเคยเห็น)
ทูนกระหม่อมบริพัตรฯ.....ได้เสด็จเข้าร่วมประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ในพระบรมมหาราชวังคืนนั้นด้วย ทูนกระหม่อมบริพัตรฯได้ปลอบโยนและให้กำลังใจแก่เจ้าฟ้าประชาธิปกซึ่งเป็นพระอนุชาตลอดเวลา เพราะทรงตระหนักแน่ในพระทัยแล้วว่า จะหนีตำแหน่งพระมหากษัตริย์ไม่พ้นแน่นอน ทูนกระหม่อมบริพัตรฯได้จูงพระกรและกอดพระศอเจ้าฟ้าประชาธิปก ออกทรงพระดำเนินกลับไปกลับมาหลายเที่ยวพร้อมกับซักซ้อมความเข้าใจกันบางประการ เพราะเจ้าฟ้าประชาธิปกทรงยืนกรานว่าไม่อาจรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้ ในที่สุดทูนกระหม่อมบริพัตรฯก็รับสั่งว่า “ทูนกระหม่อมเอีอดน้อย เธอทำได้รับเถิดแล้วฉันจะช่วยทุกอย่าง” ก็เป็นอันว่าเจ้าฟ้าประชาธิปกตกลงพระทัยรับสืบราชบัลลังก์เป็นรัชกาลที่ 7 ของพระราชวงศ์จักรีอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ทูนกระหม่อมบริพัตรฯซึ่งเมื่อตะกี้นี้กอดพระศอและจูงพระกรสมเด็จพระอนุชาอยู่หยกๆ ได้ทรุดพระองค์ลงกราบพระบาทเจ้าฟ้าประชาธิปกพระอนุชา ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปแล้ว เจ้านายและข้าราชการที่เฝ้าอยู่ ก็พากันกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่พระองค์ใหม่โดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับที่เก้าอี้เป็นที่เรียบร้อย ทูนกระหม่อมบริพัตรฯได้เสด็จเข้าไปคุกเข่าถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินใหม่อีก 3 ครั้ง แล้วกราบบังคมทูนว่า จะทรงใช้สอยในราชการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะสนองพระเดชพระคุณในราชการสิ่งนั้นทุกอย่าง แต่ขอพระราชทานเลิกคิดว่าจะเป็น “ขบถ” เสียที เพราะได้รับหน้าที่นี้มา 15 ปีแล้วเบื่อเต็มที พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ทรงพระสรวล มีพระราชดำรัสว่าอนุญาตให้เลิกได้ เหตุที่รับสั่งเช่นนี้ก็เพราะมีเสียงลือกันตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯว่า ทูนกระหม่อมบริพัตรฯวางแผนจะก่อการขบถชิงราชบัลลังก์ตามที่เคยเป็นและเคยเห็นกันในเรื่องยี่เกจักรๆวงศ์ๆทั่วไป
ความจริง โดยไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว เรื่องเล่าของ “นายหนหวย” ข้างบนนี้ ชวนให้นึกถึงฉากใน “ยี่เกจักรๆวงศ์ๆ” เสียมากกว่า

(๔๗) ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕, มติชน ๒๕๔๓, หน้า ๑๙

(๔๘) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒ สมัยประชาธิปไตย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ (คลังวิทยา, ๒๕๐๑), หน้า ๓๑-๓๓ (เน้นคำตามต้นฉบับ) จดหมายของรัชกาลที่ ๗ ลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๗๑ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อ้างจดหมายฉบับนี้ในบริบทของการเล่าเรื่องว่าในปี ๒๔๗๒ หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาโอรสธิดาของเจ้าฟ้าภาณุรังษีที่ยังเป็น “หม่อมเจ้า” ให้เป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า” ในโอกาสเดียวกันก็ได้สถาปนาโอรสธิดาทั้ง ๓ พระองค์ของเจ้าฟ้ามหิดล (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๘ และ ๙ และ “พระพี่นาง”), โอรสธิดาของเจ้าฟ้าจุฑาธุช, ของเจ้าฟ้าบริพัตร และของเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ที่ยังเป็น “หม่อมเจ้า” ให้เป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า” ทุกพระองค์ ซึ่งในแง่นี้ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เองจึงเป็นกรณียกเว้น คือก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาพระองค์จาก “หม่อมเจ้า” ให้เป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า” แทนที่จะเป็นเพียง “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า” พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เขียนว่า “เป็นอันว่านับแต่วันนั้นเจ้านายที่ยังมีพระชนม์อยู่ ซึ่งเป็นโอรสหรือธิดาของเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมก็เป็นพระองค์เจ้ากันหมด เป็นอันว่า ตามพระราชประสงค์ของทูลกระหม่อมอาเอียดน้อย [พระปกเกล้า – สมศักดิ์] ลูกเจ้าฟ้าที่แม่เป็นเจ้าก็ควรเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ แต่ลูกเจ้าฟ้าที่แม่มิได้เป็นเจ้าควรเป็นพระวรวงศ์เธอ ข้าพเจ้าก็เลยโดดเดี่ยวเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอไม่สมประกอบอยู่คนเดียว การที่เป็นเช่นนั้นไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังจะเห็นได้ในลายพระราชหัตถ์ที่มีพระราชทานมา...” (หมายถึงจดหมายรัชกาลที่ ๗ ข้างต้น)

(๔๙) เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๒ สมัยประชาธิปไตย, หน้า ๔๓-๔๗

(๕๐) ดู “บันทึกลับ” การเข้าเฝ้าวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ ฉบับเต็ม ใน สนธิ เตชานันท์, แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๙-๒๔๗๕) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔ ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๕. กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า ๒๕๔๕, หน้า ๓๑๔-๓๒๓ ข้อความส่วนที่อ้างนี้อยู่ที่หน้า ๓๑๘.

(๕๑) ดูเชิงอรรถที่ ๔๒ ข้างต้นประกอบ กลางปี ๒๔๖๙ พระปกเกล้าทรงเขียนบันทึกช่วยจำฉบับหนึ่งชื่อ “Problems of Siam” เพื่อแลกเปลี่ยนขอคำปรึกษาปัญหาต่างๆที่พระองค์คิดว่าสยามกำลังเผชิญอยู่ (เช่น ควรมี Parliament หรือไม่) กับพระยากัลยาณไมตรี (Francis B Sayre) ปัญหาอันดับแรกที่ทรงปรึกษาคือการสืบราชสันตติวงศ์ ทรงเห็นว่าข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาลมีปัญหา ๒ ประการ คือ (๑) การวางอันดับสืบราชสันตติวงศ์โดยถือตามลำดับยศของมารดา (จากลูกราชินี ไปที่ลูกเมียรองๆ ไปถึงลูกสนม) ซึ่งพระองค์มองว่า ยศของมารดาเหล่านี้มีการเลื่อนขึ้น-ลงได้ (“a concubine may be raised in rank at any time, AND the Queen herself may have her rank lowered according to the whims of the King. This, to my mind, creates very great possibilities of complications.”) ทรงเสนอทางออกให้เปลี่ยนเป็นลำดับตามยศโดยกำเนิดของมารดา (“I would suggest that priority of the sons be regulated by the birth ranks of the mothers. I mean priority be given to the sons born of a Princess, such as daughters of a King, then nieces of a King and so on.”) (๒) ทรงมองว่ากฎมณเฑียรบาลไม่ชัดเจนในประเด็นที่ว่าหากกษัตริย์ไม่มีลูก และน้องกษัตริย์คนที่จะได้เป็นกษัตริย์ในลำดับต่อไปก็สิ้นพระชนม์แล้ว ลูกของน้องคนนั้นทุกคนจะถือว่ามีสิทธิ์ในราชบัลลังก์หรือเฉพาะลูกที่เกิดจากเมียหลวงเท่านั้น ทรงยกตัวอย่างกรณีรัชกาลที่ ๖ ซึ่งไม่มีลูก และน้องชายคนถัดไป คือกรมขุนเพชรบูรณ์ (เจ้าฟ้าจุฑาธุช) สิ้นพระชนม์ไปก่อน ลูกของพระองค์คือวรานนท์ธวัช (ซึ่งไม่ใช่ลูกเมียหลวง) แต่รัชกาลที่ ๖ ทรงสั่งให้ข้ามเสีย ซึ่งแสดงว่ารัชกาลที่ ๖ ทรงถือว่าลูกทุกคนของน้อง ไม่ว่าจะเกิดจากเมียหลวงหรือไม่ มีสิทธิ์สืบราชสมบัติตามข้อกำหนดของกฎมณเฑียรบาล จึงต้องเจาะจงสั่งให้ข้าม (The case has really occurred which shows that in the late King’s mind ALL the sons could succeed. In my case the son of the Prince of Petchabun was passed over by the expressed wish of the late King, Now many people find that the idea that ALL the sons could succeed was objectionable owing to the fact that some Princes have the most disreputable minor wives who are really not fitted to be the mothers of Kings.”) นอกจากนั้น ทรงปรึกษาว่า ใครควรมีสิทธิ์ในการเลือกกษัตริย์องค์ต่อไป เฉพาะกษัตริย์ปัจจุบันหรือควรให้เจ้านายและเสนาบดีช่วยเลือกด้วย เป็นต้น พระยากัลยาณไม่ตรีตอบว่า ในความเห็นของเขา เนื่องจากกษัตริย์สยามมีอำนาจเด็ดขาด ความรุ่งเรืองของประเทศจึงขึ้นอยู่กับระดับความสามารถของกษัตริย์ ดังนั้น หลักการเลือกกษัตริย์ควรมีลักษณะยืดหยุ่นที่จะประกันให้ผู้ที่มีความสามารถที่สุดเข้มแข็งที่สุดในหมู่เจ้านายไม่ว่าจะมียศศักดิ์อะไรได้เป็นกษัตริย์ ไม่ใช่ผู้ที่บังเอิญมียศอยู่ในอันดับแรกตามข้อกำหนดอย่างตายตัวของกฎหมายขณะนั้น เขาเสนอว่าความรับผิดชอบในการเลือกกษัตริย์องค์ต่อไปไม่ควรอยู่กับกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น ควรให้องคมนตรีสภาได้แนะนำเห็นชอบด้วย เขาเสนอให้เลิกกฎมณเฑียรบาลที่ใช้อยู่และเขียนใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการที่เขาเสนอ การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติแต่อย่างใด (เช่นแก้กฎมณเฑียรบาล) ดูตัวบทบันทึกช่วยจำของพระปกเกล้า, คำตอบของพระยากัลยาณไมตรี และความเห็นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งไม่ได้พูดถึงปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์เลย) ใน สนธิ เตชานันท์, แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย”, หน้า ๑๖๗-๑๙๗.

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๔๐ - ๔๓)



(๔๐) รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชพินัยกรรมอีก ๒ ฉบับซึ่งมีลักษณะ “ส่วนพระองค์” คือ ฉบับแรกจัดทำขึ้นในปี ๒๔๖๓ สั่งเรื่องการจัดพิธีพระบรมศพ (ห้ามไม่ให้มีนางร้องไห้ เป็นต้น) อีกฉบับหนึ่ง ทำขึ้นในเวลาใกล้สวรรคต สั่งยกที่ดินวังพญาไท (ที่ตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าในปัจจุบัน) และพระราชวังสนามจันทร์ ให้ลูกในพระครรภ์พระนางเจ้าสุวัทนา หากเป็นชาย ดู เสฐียร พันธรังษี, พระมงกุฏเกล้าฯและเจ้าฟ้าเพ็ชรัตน์ฯ, แพร่พิทยา-โอเดียรสโตร์, ๒๔๙๖, หน้า ๒๓๗-๒๔๗.

(๔๑) เท่าที่ผมสามารถสืบค้นได้ พระราชหัตถเลขานี้เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวใน บุญยก ตามไท, “ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๘, มิถุนายน ๒๕๒๘, หน้า ๔๑-๔๒ แต่ตีพิมพ์ไม่ครบ ขาดตอนท้ายไป (ดูข้างล่าง) เข้าใจว่าเพราะได้สำเนาต้นฉบับที่เป็นลายพระราชหัตถเลขามาเพียงเท่านั้น ผมได้สอบถามคุณบุญยกโดยตรงว่า ได้ “ต้นฉบับ” พระราชพินัยกรรมนี้จากที่ใด น่าเสียดายว่าคุณบุญยกลืมเสียแล้ว เนื่องจากเวลาได้ล่วงเลยมาถึงกว่า ๒๐ ปี แต่คุณบุญยกเดาว่าอาจจะได้มาจาก ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งคุณบุญยกได้สัมภาษณ์เพื่อการเขียนบทความดังกล่าว (สนทนาทางโทรศัพท์ วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๙) ประเด็นที่ว่าพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ คุณบุญยกได้มาจากที่ใด และเคยมีการตีพิมพ์เผยแพร่นอกเหนือจากในบทความคุณบุญยกหรือไม่ กลายเป็นปัญหาขึ้นมา ก็เพราะสุพจน์ ด่านตระกูลเองได้เคยเห็นและได้อ้างบางส่วนของพระราชหัตถเลขานี้ด้วย (โดยที่เขาไม่รู้ตัวถึงความสำคัญต่อประเด็นที่เขากำลังเขียนเอง – ดูเชิงอรรถถัดไป) สุพจน์ระบุว่า พระราชหัตถเลขานี้ลงวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๘ แต่ในศิลปวัฒนธรรม ไม่มีระบุวันที่ไว้เลย แสดงว่าสุพจน์ต้องไม่ใช่เอามาจาก ศิลปวัฒนธรรม (อย่างไรก็ตาม วันที่ของสุพจน์นี้น่าจะผิด ดูวันที่ในพระราชหัตถเลขาข้างบน) เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุพจน์ได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่า “ในระยะเวลาใกล้ๆก่อนที่พระมงกุฏเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ จะเสด็จสวรรคตนั้น พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ เอกสารฉบับนี้เคยมีผู้นำลงเผยแพร่ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพเมื่อหลายปีมาแล้ว คุณสุวัฒน์ วรดิลก เคย xerox ให้ผู้สนใจอ่าน ผมเคยได้อ่านและเคยถ่ายทอดข้อความบางตอนลงในหนังสือบางเล่มที่ผมเขียนถึงปัญหานี้ ต้นฉบับสมบูรณ์ได้สูญหายไปแล้ว” (ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 20) ผมได้พยายามค้นหา “หนังสือพระราชทานศพ” เล่มที่มีพระราชหัตถเลขานี้ตามที่สุพจน์กล่าวถึง แต่ไม่พบ

พระราชหัตถเลขาพินัยกรรมที่ผมนำมาแสดงข้างบนนี้ ผมอ้างตามที่ตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อความถึงเพียง “ฃ้อ ๔ ต่อไปภายหน้า คงจะมีเหตุเรื่องตั้งพระบรมอัฐิ, คือจะเอาองค์ใดฃึ้นมาตั้งคู่กับฃ้าพเจ้า” ส่วนที่เหลือต่อไปจนจบ ผมได้มาโดยการโพสต์กระทู้ถามในเว็บไซต์ “วิชาการดอทคอม” เมื่อปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ปรากฏว่าได้รับความอนุเคราะห์จากคุณวรชาติ มีชูบท กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์ นำข้อความในพระราชหัตถเลขาพินัยกรรมฉบับเต็มมาโพสต์ตอบ ซึ่งผมขอขอบคุณอย่างสูงในที่นี้ ฉบับที่คุณวรชาตินำมาเผยแพร่นั้น เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “ฃ้าพเจ้ามาล้มเจ็บลงคราวนี้....” คือไม่มี ๓ บรรทัดแรก (“หนังสือสั่งเสนาบดีวัง....น่า ๑๖๑”) อย่างในฉบับศิลปวัฒนธรรม คุณวรชาติกล่าวถึงพระราชพินัยกรรมนี้ว่า “ดูเหมือนจะไม่เคยมีการพิมพ์ในหนังสือใดๆ มาก่อนครับ ที่เอามาอ้างกันนั้นก็เป็นการคัดลอกกันมา แต่ฉบับที่ผมเคยเห็นนั้นเป็นแผ่นกระดาษรวม ๓ หรือ ๔ หน้าผมจำไม่ได้แล้ว มีเนื้อความครบสมบูรณ์ทั้ง ๔ ข้อ ดูเหมือนตอนท้ายจะลงพระบรมนามาภิไธยไว้ด้วย แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าเคยอ่านมาจากที่ไหน” และ “วานพรรคพวกไปค้น....เลยคัดมาฝากกัน สำหรับข้อ ๔ ขออนุญาตละพระนามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม เพราะหลานๆ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่”

[ปัจฉิมลิขิต: โปรดดูคำอธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมใน บันทึกเรื่องพระราชพินัยกรรมรัชกาลที่ ๖ "ฉบับเต็ม"]

(๔๒) สิ่งที่น่าแปลกอย่างยิ่งเกี่ยวกับงานเรื่องนี้ของสุพจน์ ด่านตระกูล คือ เขาได้อ้างบางส่วนของพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ด้วย คือส่วนที่รัชกาลที่ ๖ สั่งให้ยกเว้นวรานนท์ธวัชจากการเป็นกษัตริย์ (“ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณอินทราไชยนั้นเสียเถิด....” โต้คุณไข่มุกด์ ชูโต กรณีสวรรคต, หน้า ๒๘) แต่เขากลับมองไม่เห็นว่า ในประโยคก่อนหน้าที่ติดกันนั้นเอง รัชกาลที่ ๖ ได้สั่งให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลย่อมถือเป็นข้อยุติกรณีจุลจักรพงศ์ คือไม่ว่าจุลจักรพงศ์จะยังมีสิทธิเป็นกษัตริย์หรือไม่ในขณะนั้น แต่เป็นเอกสิทธิ์ของกษัตริย์องค์ก่อนที่จะระบุให้ใครเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ก็ได้ ดังนั้นจึงต้องถือว่าจุลจักรพงษ์ถูกข้ามเด็ดขาด (ไม่มีสิทธิ์จะเป็นรัชกาลที่ ๘ อีกแล้ว) ด้วยคำสั่งให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์นี้

มิหนำซ้ำ เมื่อได้อ้างข้อความเกี่ยวกับการให้ข้ามวรานนท์ธวัชแล้ว สุพจน์ยังกล่าวว่า (โต้คุณไข่มุกด์, หน้า ๓๐) “จากพระบรมราชโองการฉบับวันที่ 21 กันยายน 2468 นี้ เป็นเครื่องแสดงชี้ให้เห็นว่า พระมงกุฏเกล้าฯทรงรับในสิทธิ์ของพระองค์เจ้าจุลฯในราชสมบัติ เช่นเดียวกับเจ้าฟ้าประชาธิปก เพราะถ้าพระองค์ไม่ทรงยอมรับในสิทธิ์สืบราชสมบัติของพระองค์เจ้าจุลฯ ในพระบรมราชโองการฉบับนั้น พระองค์จะต้องระบุให้ข้ามพระองค์เจ้าจุลฯไปเสีย เพราะมีแม่เป็นนางต่างด้าว เช่นเดียวกับที่ทรงอ้างในกรณีให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชนั้นแล้ว” ความจริงเป็นตรงกันข้ามคือ รัชกาลที่ ๖ ไม่เอ่ยถึงจุลจักรพงษ์ในที่นี้ ก็เพราะทรงถือว่าจุลจักรพงษ์ได้ถูกข้ามไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงอีก (ดูเชิงอรรถที่ ๕๑ ข้างล่างประกอบ)

(น่าเสียดายว่า คุณสุพจน์ซึ่งแม้จะได้เห็นและใช้บางส่วนของเอกสารนี้เอง กลับเผลอมองข้ามความสำคัญต่อประเด็นที่เป็นปัญหากันอยู่นี้ เมื่อผมแย้งว่า มีพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๖ ระบุให้ประชาธิปกเป็นกษัตริย์ ซึ่งก็คือเอกสารนี้ คุณสุพจน์ตอบว่า “ผม...ไม่เคยเห็นเอกสารที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลอ้างถึง เช่น....พระบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๖ ระบุให้เจ้าฟ้าประชาธิปกสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระองค์”! ดู ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2549, หน้า 21)

(๔๓) ม.จ.หญิงประสงค์สม บริพัตร, บันทึกความทรงจำบางเรื่อง พิมพ์ในงานเมรุ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๓๕.

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๓๐ - ๓๙)



(๓๐) ทำให้มีข่าวลือว่าทรงถูกลอบวางยาพิษ (ดู พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔, คลังวิทยา ๒๕๑๗ หน้า ๖๔๐-๖๔๒) จังหวะเวลา (timing) ของการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าจักรพงษ์นี้มีบางประเด็นที่เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ ซึ่งเท่าที่ผมทราบ ไม่มีการพูดถึงกันมาก่อน คือ ทรงสิ้นพระชนม์ไม่นานหลังจากทรงหย่ากับหม่อมคัทริน และมีชายาองค์ใหม่คือ ม.จ.หญิงชวลิตโอภาส ธิดากรมหลวงราชบุรี (๒๔๖๒) นัยยะของการหย่าเมียฝรั่งและมีเมียใหม่คนไทยคือ หากรัชกาลที่ ๖ ยังคงไม่มีพระโอรสต่อไป ความเป็นไปได้ที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์จะขึ้นเป็นกษัตริย์ก็สูงขึ้น เพราะบัดนี้ไม่ได้มีเมียฝรั่งแล้ว (ดังที่ได้เล่ามาข้างต้นว่า แม้จะทรงถูกตั้งเป็นรัชทายาทตั้งแต่ต้นรัชกาล แต่การมีเมียฝรั่งเป็นปัญหาที่บรรดาเจ้านายชั้นสูงไม่สบายใจกัน) ยิ่งกว่านั้น หากมีลูกชายจากเมียใหม่คนไทย ลูกผู้นั้นก็ย่อมจะได้เป็นรัชทายาทด้วยทันที (ไม่ถูกห้ามจาก “คำปฏิญญา” ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ แบบจุลจักรพงษ์) ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นความบังเอิญล้วนๆ แต่เมื่อนึกถึงปัญหาระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับ “น้องชายเล็ก” ตั้งแต่ต้นรัชกาล โดยเฉพาะในเรื่องตั้งรัชทายาท (ที่ได้เล่าไปแล้ว) ก็ชวนให้คิดไปในทางข่าวลือหรือทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ได้ไม่น้อย ยิ่งกว่านั้น น่าสังเกตด้วยว่า หลังจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์หย่ากับหม่อมคัทรินแล้ว ได้ขออนุญาตรัชกาลที่ ๖ แต่งงานกับ ม.จ.หญิงชวลิต แต่รัชกาลที่ ๖ ไม่อนุญาต ทำให้บาดหมางกันขึ้น จนกระทั่งหลังจากเจ้าฟ้าจักรพงษ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ ๖ จึงได้ยอมรับ ม.จ.หญิงชวลิตเป็นสะใภ้หลวง (เจ้าชีวิต, หน้า ๖๓๘-๖๓๙ และ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๑ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙, คลังวิทยา ๒๕๒๒ หน้า ๒๑๙, ๒๒๙-๒๓๑, ๒๔๔)

(๓๑) ดูเชิงอรรถที่ ๔๘ ข้างล่าง

(๓๒) ดู เจ้าชีวิต, หน้า ๖๔๕-๖๕๕.

(๓๓) ตีพิมพ์อยู่ใน เรื่องของเจ้าพระยามหิธร ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๑๔๔-๑๔๕.

(๓๔) หจช., ร.๖, ว.๒/๒๒ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ (๕ ก.พ. ๒๔๖๖ – ๙ พ.ย. ๒๔๖๗)

(๓๕) ดูตัวบทของจดหมายใน เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๑, หน้า ๓๔๕-๓๔๗.

(๓๖) มาตรา ๕ เพิ่มวรรคสอง “แต่การสมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ให้เป็นพระรัชทายาทเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นเฉพาะพระองค์ของพระรัชทายาทพระองค์นั้น”

มาตรา ๗ เพิ่มวรรคสอง “อนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิที่จะทรงประกาศยกเว้นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ได้”

มาตรา ๙ ข้อความเดิมที่ รัชกาลที่ ๖ ร่างไว้ เกี่ยวกับลำดับขั้นการสืบราชสันตติวงศ์ หลังจาก น้องร่วมมารดาของกษัตริย์หรือลูกของน้องร่วมมารดา หมดสิ้นแล้ว ให้ข้ามไปที่ “สมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี” หรือลูกของพระอนุชาเหล่านั้น กรรมการเสนอให้เพิ่มคำว่า “สนเด็จพระเชษฐาหรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี” เพราะในลำดับขั้นต่อไป รัชกาลที่ ๖ กำหนดให้ไปที่ “พระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ” หรือลูก กรรมการจึงเสนอว่าควรเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกันด้วย (คือถ้าเป็นลูกต่างมารดาของกษัตริย์ ให้นับทั้งพี่และน้อง ไม่ใช่เริ่มนับที่น้อง เหมือนกรณีลูกร่วมมารดาของกษัตริย์ เพราะพี่ถือว่าถูกกษัตริย์ “ข้าม” มาแล้ว) ดูเชิงอรรถที่ ๓ และ ๔ ข้างต้นประกอบ

มาตรา ๑๑ ผู้ถูกยกเว้นจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ เพิ่ม “(๖) เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์”

(๓๗) หลายปีต่อมา พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงตีความมาตรา ๑๑ (๔) ว่า “ได้แก่แม่และพ่อของข้าพเจ้าอย่างไม่มีปัญหา” และมาตรา ๑๒ ว่า “ได้แก่ตัวข้าพเจ้าเองและลูกหลานที่อาจจะมีต่อไป แม้ข้าพเจ้าได้เสกสมรสกับสตรีไทยแท้” เกิดวังปารุสก์ เล่ม ๑, หน้า ๓๙๖ และดู เจ้าชีวิต, หน้า ๖๕๖-๖๕๗.
ต้นฉบับอยู่ที่ หจช., ร.๗ บ.๑.๑/๒ เรื่องรัชกาลที่ ๖ สวรรคตและตั้งพระเจ้าแผ่นดินขึ้นแทน (๒๖ พ.ย. ๒๔๖๘) เท่าที่ผมทราบ รายงานการประชุมนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ รัฐสภา วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๓. กรุงเทพ: รัฐสภา, ๒๕๒๔, หน้า ๕๙-๖๐.

(๓๙) ดูเชิงอรรถที่ ๘ ข้างต้น ความจริง เจ้าฟ้าบริพัตรเพิ่งได้รับแต่งตั้งจากรัชกาลที่ ๗ ให้เป็นเสนาบดีกลาโหมในปี ๒๔๖๘ แล้วย้ายมาเป็นเสนาบดีมหาดไทยในปี ๒๔๗๑ ตำแหน่งจริงๆในวันสวรรคตรัชกาลที่ ๖ คือเสนาธิการทหารบก ทั้งยังเป็นเพียงกรมหลวง เพิ่งเป็นกรมพระ ในเดือนมีนาคม ๒๔๖๘ (ปฏิทินเก่า) ดู ทิพวัน บุญวีระ, “พระประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต” ใน บริพัตรสุขุมพันธ์อนุสรณ์ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๒. กรุงเทพ: เลิศลักษณ์การพิมพ์, ๒๕๔๒.

Saturday, June 17, 2006

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๒๑ - ๒๙)



(๒๑) หจช., ร.๖ ว.๑/๓ ตั้งรัชทายาท (๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓)

(๒๒) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ฉบับที่เหลืออยู่ความจริงเป็นฉบับ “ร่าง” ไม่ใช่ฉบับ “จริง” ที่มีลายพระนามของรัชกาลที่ ๖ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ และเสนาบดีคนอื่นๆกำกับ แต่ผมเชื่อว่า น่าจะเป็น “ร่างสุดท้าย” พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นสำเนาฉบับจริงที่ยังไม่มีลายเซ็นกำกับเท่านั้น

(๒๓) “พอเสร็จงานบรมราชาภิเษกลงแล้ว ฉันก็ได้ลงมือร่างพระราชกฤษฎีกาเรื่องตั้งรัชทายาทให้กรมหลวงเทววงศ์ทรงช่วยแก้เกล้าประโยคประทานให้สละสลวย” (ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๘) ใน หจช. มีต้นฉบับร่างที่เป็นลายพระหัตถ์อยู่ด้วย แต่ไม่ใช่ของรัชกาลที่ ๖ เป็นไปได้ว่าจะเป็นของกรมหลวงเทวะวงศ์

(๒๔) ประโยคนี้อยู่ในการสรุปเนื้อหาของ “พระราชกฤษฎีกา” ตอนนี้ ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๘.

(๒๕) กรณีหลังนี้ “กฤษฎีกา” ได้อ้างถึงพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ร.ศ.๑๑๓ (ผมไม่เคยเห็นพระราชหัตถเลขานี้) ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ (หน้า ๑๕๙) ทรงอธิบายข้อความตอนนี้ของ “กฤษฎีกา” ว่า
เหตุใดพระเจ้าหลวงจึ่งต้องทรงมีคำสั่งเช่นนี้ ผู้ที่ไม่รู้เรื่องเดิมคงจะแลไม่เห็นเปนแน่ เพราะเมื่อฉันเปนรัชทายาทของทูลกระหม่อมอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องสั่งด้วยว่าให้เป็นผู้ถวายน้ำทรงพระบรมศพ? ขออธิบายว่า เมื่อทรงเขียนพระราชหัตถเลขาฉบับนั้น ฉันยังหาได้เปนยุพราชไม่, เพราะทูลกระหม่อมใหญ่ [เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส] ยังมีพระชนม์อยู่ แต่โดยเหตุที่ทูลกระหม่อมใหญ่ไม่ใคร่จะเอื้อในการเข้าไปเฝ้าและพยาบาลทูลกระหม่อมในเวลาที่ทรงพระประชวรอยู่, ทูลกระหม่อมท่านจึ่งทรงหาว่าทูลกระหม่อมใหญ่มิได้มีคาวมจงรักภักดีต่อพระองค์, เปนแต่คอยเปนเจ้าแผ่นดินเท่านั้น, และทรงหาความว่าจะทอดทิ้งพระบรมศพ, จึ่งได้ทรงสั่งไว้ให้ฉันเปนผู้ถวายน้ำสรง
ก่อนหน้านั้น ทรงบันทึกถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิสว่า “ฉันจำได้ว่าทูลกระหม่อมได้เคยตรัสแก่ฉันถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิสว่า. ‘ชายใหญ่เขามุ่งหมายจะเปนเจ้าแผ่นดินแต่สำหรับจะกินกับเสพย์เมถุน’” (ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๕๕)

(๒๖) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓)

(๒๗) ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๙-๑๖๐.

(๒๘) ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๖๐-๑๖๑. “พระราชกฤษฎีกา” ที่เก็บอยู่ที่ หจช. เป็นฉบับร่าง จึงไม่มีรายพระนามเหล่านี้ (ดูเชิงอรรถที่ ๒๓ ข้างต้น) แต่มีข้อความต่อไปนี้ “เพื่อจะให้เปนพยานมั่นคงว่า ผู้ซึ่งนั่งอยู่ในที่นี้ ทราบความประสงค์ของข้าพเจ้าอันกล่าวมาแล้วนี้ชัดเจนแล้ว จึงให้ลงนามไว้ในหนังสือนี้เปนสำคัญ เก็บรักษาไว้ในกรมราชเลขานุการ เปนหลักฐานสืบไป”

(๒๙) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓)

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๑๖ - ๒๐)



(๑๖) ต้นฉบับลายพระหัตถ์จดหมายภาษาอังกฤษของกรมนครชัยศรีนี้ อยู่ใน หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ทั้งจดหมายนี้และประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เขียนราวกับว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นฝ่ายยอมเห็นด้วยกับข้อตกลงของที่ประชุมดังกล่าว ความจริง ข้อตกลงที่ประชุมดังกล่าวเป็นไปตามการยืนยันของเจ้าฟ้าจักรพงษ์แต่แรกที่จะให้มีการประกาศตั้งพระองค์เป็นรัชทายาทอย่างเปิดเผยในหมู่เจ้านาย การที่รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นชอบให้แจ้ง Bangkok Times อย่าง “กึ่งราชการ” ก็เป็นไปตามความต้องการของและเป็นประโยชน์ต่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์เช่นกัน ในทัศนะของผม ใครที่อ่านหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาทนี้ (ทั้ง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ และเอกสารใน หจช.) น่าจะอดรู้สึกไม่ได้ว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงถูก “น้องชายเล็ก” ผลักดันชักจูง (manipulated) ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายหลังต้องการ โดยไม่ทรงรู้พระองค์หรือไม่ทรงยอมรับกับพระองค์เองนัก

(๑๗) ร่างข้อความภาษาอังกฤษที่จะให้ Bangkok Times ตีพิมพ์ พร้อมจดหมายกราบบังคมทูลภาษาไทย ของกรมหลวงเทวะวงศ์ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน อยู่ใน หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ในจดหมาย กรมหลวงเทววะวงศ์กล่าวว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่แน่ใจว่าความปรากฏอย่างนี้ จะมีผลดีฤาเสียเพียงไร ยังมีความสงไสยนัก” และขอปรึกษา “มิสเตอเวสเตนกาด ผู้ซึ่งรู้น้ำใจคนยุโรปแลประโยชน์ราชการมาก” ก่อน ผมไม่พบหลักฐานว่ามีการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร แต่ Bangkok Times ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๔๕๓ ไม่เคยตีพิมพ์ข้อความที่เทวะวงศ์ร่างไว้ ดังนี้

The succession of the throne

We are informed that His Majesty the King has decided, in the Council of the Ministers and with the adhesion and concurrence of the Royal Family, that, during the absence of His Majesty’s Royal Son, the law of succession which has been established by tradition as well as by Royal Decrees of 1887 and 1894 upon the right of primogeniture shall be devolved upon the children of Her Majesty the Queen Mother according to their seniority, and that if there will be legitimate grandchildren of the said Queen, whose mother is a princess by birth, the succession will then follow the right of primogeniture of such children of the said Queen-Mother.


(๑๘) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) และดูสรุปเนื้อหาของจดหมาย ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๕-๑๕๖.

(๑๙) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ผมเน้นความตอนนี้เองตามที่รัชกาลที่ ๖ ทรงทำใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๕๖-๑๕๗ (ต้นฉบับจดหมายไม่มีเน้นความ) รัชกาลที่ ๖ ทรงสรุปเนื้อหาจดหมายฉบับนี้ด้วยภาษาของพระองค์เองโดยตลอด ข้อความตอนนี้ทรงบันทึกว่า “ถ้าการมียุ่งอยู่ต่อไปเช่นนี้น่ากลัวจะถึงต้องต่อยปากกรมสวัสดิ์คราว ๑”

(๒๐) ความจริงในจดหมายวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ที่รัชกาลที่ ๖ ทรงกำลังวิจารณ์นี้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ทรงเสนอเพียงให้ “มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้าน่าที่ลงหนังสือพิมพ์แก้ไขความลือเช่นนี้” (ดูข้างต้น) ไม่ได้ทรงใช้คำว่า “กึ่งราชการ” ที่รัชกาลที่ ๖ วิจารณ์ว่ามีนัยยะ “ข้อที่จะไม่ให้ลูกเปนรัชทายาทต่อนั้น จะได้งำเสีย” แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ได้เสนอเรื่อง “กึ่งราชการ” จริง โดยผ่านทางกรมนครชัยศรี แต่ข่าว “กึ่งราชการ” ที่กรมเทวะวงศ์ร่างสำหรับ Bangkok Times ก็ไม่ได้ “งำ” เรื่องห้ามจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท เพียงแต่เขียนด้วยภาษาราชการประเภท “หากจะมีหลานที่ชอบธรรมของพระราชชนนี ผู้ซึ่งมีแม่เป็นเจ้านายโดยกำเนิด” (if there will be legitimate grandchildren of the said Queen, whose mother is a princess by birth) ดูที่ผมเล่าก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเชิงอรรถที่ ๑๗

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๑๐ - ๑๕)



(๑๐) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) และ ว.๑/๓ ตั้งรัชทายาท (๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓) เท่าที่ผมทราบ หลักฐานชุดนี้เคยถูกใช้ในการศึกษาครั้งหนึ่ง คือ ศิรินันท์ บุญศิริ, “บทบาททางการทหารและการเมืองของสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๓, หน้า ๑๑๔-๑๒๒, ๑๒๔-๑๒๖. แต่เนื่องจากในขณะนั้น ศิรินันท์ไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึง ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจภูมิหลังที่จำเป็น การตีความหลักฐานชุดนี้ของเธอจึงมีความคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์อยู่มาก

(๑๑) “ราม วชิราวุธ”, ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, มติชน ๒๕๔๕, หน้า ๑๔๓ อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่บรรทัดต่อมา ทรงออกตัวว่า “แต่อย่าเข้าใจว่าฉันได้คิดเรื่องตั้งรัชทายาทขึ้นเพราะน้องชายเล็กรบเร้าเท่านั้น เพราะตามความจริงฉันเองก็ได้รู้สึกอยู่ว่าเปนปัญหาอันถึงเวลาที่จะต้องวินิจฉัยและวางระเบียบเพื่อให้เปนการเรียบร้อยและมั่นคงสืบไป ความรบเร้าของน้องชายเล็กเปนแต่ได้เร่งให้ฉันคิด และจัดการวางระเบียบการอันนั้นเร็วขึ้นหน่อยเท่านั้น” แต่ความจริง ดังที่จะได้เห็นกัน นอกจากได้ตกลงกับ “น้องชายเล็ก” เรื่องการเป็นรัชทายาทแล้ว รัชกาลที่ ๖ หาได้ทรง “วางระเบียบ” เรื่องการตั้งรัชทายาท จนกระทั่งการร่างกฎมณเฑียรบาลในอีก ๑๓ ปีต่อมา

สำหรับเหตุผลที่ “เสด็จแม่” ทรงช่วยรบเร้าแทน “น้องชายเล็ก” นั้น รัชกาลที่ ๖ เปิดเผยว่า เพราะทรงวิตกตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ เนื่องจาก “ฉันสังเกตว่าทรงพระวิตกขึ้นตั้งแต่เมื่อตาหนู [จุลจักรพงษ์] เกิดแล้ว ทูลกระหม่อม [รัชกาลที่ ๕] ไม่ทรงพระกรุณาโปรดให้เปนเจ้า, เพราะทรงรังเกียจหม่อมคัทริน. อีกประการ ๑ ในเมื่อปลายๆ รัชกาลนั้นทูลกระหม่อมทรงพระเมตตาน้องชายบริพัตร์มาก, ทรงเรียกว่า ‘เจ้าฟ้าองค์ที่ ๒’ (คือรองจากฉันผู้เปนองค์ที่ ๑)” พูดง่ายๆคือ “เสด็จแม่” ทรงห่วงว่า “น้องชายเล็ก” จะถูก “น้องชายบริพัตร์” (ซึ่งไม่ใช่โอรสของพระองค์) แซงหน้า ไม่ได้เป็นกษัตริย์ ในกรณีที่รัชกาลที่ ๖ “ล้มตายลง ก็อาจจะเกิดแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้นได้”

(๑๒) หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓)


(๑๓) ทรงหมายถึง Bangkok Times, 29 October 1910, p.6 ซึ่งตีพิมพ์ข้อความต่อไปนี้

THE NEW REIGN
THE QUESTION OF THE SUCCESSION


The question of the succession is naturally one that falls to be settled early in the new reign. We understand a decision has been come to and that His Majesty’s younger brother, H.R.H. Somdet Chao Fa Chakrabongs Krom Khun Pitsanulok, will in due course be formally proclaimed Heir Presumptive.

(๑๔) ต้นฉบับลายพระหัตถ์จดหมายฉบับนี้อยู่ใน หจช., ร.๖ ว.๑/๒ รัชทายาท (๒๘ ตุลาคม – ๒๔ ธันวาคม ๒๔๕๓) ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ไม่ได้กล่าวถึงจดหมายฉบับนี้ ในจดหมาย กรมนครชัยศรียืนยันเชิงหลักการว่า หากรัชกาลที่ ๖ ตัดสินใจและประกาศเรื่องรัชทายาทออกไปแล้ว จะต้องไม่มีการตั้งข้อสงสัย ถ้ามีต้องถูกลงโทษ และ การทะเลาะเบาะแว้งภายใน นำมาซึ่งการแทรกแซงของต่างชาติ (internal strife is the prelude for foreign intervention) ซึ่งทรงกล่าวว่า เป็นประเด็นที่เข้าใจและให้ความสำคัญไม่เหมือนกันในขณะนั้น ทรงกล่าวว่าพระองค์ไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของบรรดาเสนาบดี แต่ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าในแง่ใด

(๑๕) ไม่ได้ทรงระบุใน ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ (หน้า ๑๕๕) ว่า มีใครเข้าประชุมบ้าง ทรงบันทึกเพียงว่า “มีการประชุมพิเศษสำหรับปรึกษากิจการเนื่องด้ายงานบรมราชาภิเษก”

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๙)



(๙) ตัวอย่างบางส่วน (การเน้นคำเป็นของรัชกาลที่ ๖ เอง) :

กรณีแย่งกันเป็นตัวแทนรัชกาลที่ ๕ ไปงานราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษ (หน้า ๑๗-๒๔) : “น้องชายเล็ก....เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวและเอาเปรียบฉันปานใด ตามที่ฉันได้เคยเล่าให้เธอฟังมาแล้ว น้องของฉันคนนี้เป็นผู้ที่ตื่นกันว่าเปนคนฉลาดกว่าฉันมาแต่ไหนแต่ไร, และเสด็จแม่ทรงตามใจมากมาแต่เด็กๆ และถ้ามีเหตุทุ่งเถียงกับฉัน ฉันเปนต้องถูกตัดสินให้แพ้ทุกที, เหตุฉนี้แม้เมื่อเปนผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว น้องชายเล็กก็ไม่วายพยายามเอาเปรียบฉัน, และเมื่อใดทำการไม่ได้สมปรารถนาโดยลำพัง ก็มักอาศัยพระบารมีเสด็จแม่ช่วยทรงอุปถัมภ์อยู่เสมอ.....น้องชายเล็กฉวยโอกาสทูลขอไปเสียเองเช่นนั้น ถ้าหากจะต่อว่ากันขึ้น แกก็คงแก้ตัวไปด้วยโวหารดื้อๆดันๆตามแบบของแก, เพราะเป็นแบบของแก ปล่อยให้ความปรารถนาของตนเองบังคับใจของแกให้ลงมือทำกิจการอะไรๆโดยมาก, แล้วจึ่งตรองหาทางแก้ด้วยโวหารภายหลัง, และอย่างไรๆแกก็ไม่ยอมว่าตัวแกผิด, หมดทางที่จะแก้ด้วยโวหารแล้ว ก็เลยโทโษพลุ่มพล่ามลามลุกไปใหญ่, จนใครๆ ต้องยอมแพ้แกเพราะขี้คร้านจะเทลาะ ในการที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบฉันในเรื่องไปยุโรปนั้น ฉันเชื่อว่า แกได้ไปทูลหาฤาเสด็จแม่แล้ว และทรงสนับสนุนแกด้วยตามเคย เพราะถ้ามิฉะนั้นแกจะไปทูลรับกับทูลกระหม่อมได้หรือ ว่าในเวลาเที่ยวเล่นจะใช้เงินของตัวเอง? เงินของแกนั้นแกได้เปนผู้เก็บเองเมื่อไร, เสด็จแม่ทรงดูแลแทนอยู่ต่างหาก. ฉันรู้สึกเสียใจที่น้องชายเล็กนั้น แต่เล็กจนใหญ่ไม่วายคิดเอาเปรียบฉัน, และนึกน้อยใจที่เห็นตัวฉันอาภัพจริงๆ ที่เปนลูกแม่ไม่รัก”

ในคืนที่รัชกาลที่ ๕ กำลังจะสวรรคต (หน้า ๓๕) : “น้องชายเล็กนั้น ฉันนั่งรอๆดูอยู่ไม่เห็นเข้าไป, ฉันรู้สึกรำคาญจึ่งให้หม่อมหลวงเฟื้อ (คือเจ้าพระยารามราฆพ) เอารถไปรับตัวเข้าไป. พอเข้าไปถึงฉันก็ให้ดูรายงานหมอ และเล่าพระอาการให้ฟังเท่าที่รู้กันอยู่ เธอพยักหน้าและบอกว่า ทำนายอยู่แล้วว่าจะไปไม่ได้อีกนาน. ดูเธอไม่ใคร่วิตกในเรื่องพระอาการของทูลกระหม่อมมากเท่าเปนห่วงถึงกิจการอนาคต, คือเปนห่วงถึงรัชกาลที่ ๖ เธอนั่งซักถามอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ว่าจะคิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรอย่างไรบ้าง, เปนอเนกประการเหลือที่จะจดจำ, แต่สรุปความก็เปนอันว่าฉันควรต้องคิดกะการเสียแต่ต้นมือทีเดียวว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อหาชื่อเสียงแข่งกับทูลกระหม่อม”

กรณี “น้องชายเล็ก” เสนอให้รื้อฟื้นรัฐมนตรีสภา (หน้า ๖๖-๗๑) : “ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตลง น้องชายเล็กต้องการจะอะไรอย่าง ๑ ซึ่งจะเปนเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศของรัชกาลที่ ๖ แทนการเลิกทาสของรัชกาลที่ ๕, เธอนึกขึ้นได้ว่ารัฐมนตรีน่าจะพอใช้สำหรับประโยชน์เช่นว่านั้นได้ ...เธอได้ขอเข้าเฝ้าเปนส่วนตัว, และแสดงความเห็นเรื่องรัฐมนตรีนั้นยืดยาว, แต่พอจะสรุปความได้ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องหาอะไรเปนข้อเฉลิมพระเกียรติยศ สู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อม....(๔) สมัยนี้ฝรั่งกำลังนิยมปาร์ลีย์เมนต์, แต่ในเมืองเรายังไม่ถึงเวลาที่ควรจะตั้งปาร์ลีย์เมนต์ขึ้น จึ่งเห็นว่าควรตั้งสภาอะไรขึ้นตบตาแทนไปทีหนึ่ง......ดูน้องชายเล็กแกฉวยเอารัฐมนตรีสภานั้นเปนเจ้า ของเสียเลยทีเดียว, และความที่แกอยากให้คนนิยมตาม แกพอใจพูดอยู่บ่อยๆ ว่ารัฐมนตรีสภานั้นเปนขั้นที่ ๑ ของการมีปาร์ลีย์เมนต์, จนอ้ายพวกหนุ่มๆ ‘รักชาติ’ เข้าใจว่าน้องชายเล็กเปนผู้ที่อยากให้มีปาร์ลีย์เมนต์, แต่ว่าฉันเปนผู้ที่ไม่ยอม, มันจึ่งเรียกฉันว่า ‘อ้าย...’ และเรียกน้องชายเล็กว่า ‘เจ้าพ่อนะโปเลียน’ ที่จริงนั้นน้องชายเล็กแกมิได้ต้องการเลยที่จะให้มีปาร์ลีย์เมนต์, เปนแต่ต้องการให้มีรัฐมนตรีสภาซึ่งแกหวังให้ประโยชน์ ๒ อย่าง อย่าง ๑ สำหรับตบตาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. อีกอย่าง ๑ แกคิดจะใช้รัฐมนตรีสภาเปนเครื่องมือทำโทษคนที่ทำไม่ถูกใจแก่”

เอกสาร ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ นี้ เข้าใจว่า “นายหนหวย” (ศิลปชัย ชาญเฉลิม) คงจะได้รับสำเนาไว้ในครอบครองหลายปีก่อนที่ ศิลปวัฒนธรรม จะนำมาเผยแพร่ เพราะใน เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (๒๕๓๐) หน้า ๓๙-๔๒ เขาได้ตัดตอนบางส่วนมาตีพิมพ์ (โดยไม่อ้างอิงตามแบบฉบับสารคดีการเมือง) คือส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมเจ้านายชั้นสูงในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๕๓ และการประชุมเสนาบดีสภาในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ เพื่อตกลงเรื่องตั้งเจ้าฟ้าจักรพงษ์เป็นรัชทายาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เขาไม่ยอมพูดถึงความบาดหมางระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับน้องชายเล็กที่แสดงออกอย่างรุนแรงในเอกสารนี้เลย รวมทั้งไม่ยอมตีพิมพ์ส่วนที่รัชกาลที่ ๖ เล่าถึงการที่ทรงให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ปฏิญาณต่อที่ประชุมวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ว่าจะไม่ตั้งพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นรัชทายาท

ในหลวงอานันท์ (เชิงอรรถ ๑ - ๘)



(๑) ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปราโมทย์ พึ่งสุนทร และ เปรื่อง ศิริภัทร์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕.

(๒) ตัวบทของกฎมณเฑียรบาลอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ แต่ผมใช้ฉบับสำเนารับรองจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (http://www.krisdika.go.th/)

(๓) มาตรา ๙ (๘) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์

(๔) มาตรา ๙ (๑๑) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้นๆก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นๆสลับกันไปตามลำดับ

(๕) มาตรา ๑๑ เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่าเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ ลักษณะที่กล่าวนี้คือ .... (๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้

(๖) ดู “คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก” ใน ไข่มุกด์ ชูโต, พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลของปวงชนชาวไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ: โรงพิมพ์หงี่เฮง ๒๕๒๙, หน้า 15-16: “เมื่อเสด็จสวรรคต ข้าพเจ้า...ได้ยินและได้อ่านทุกถ้อยคำจากข้อความที่คนทั้งประเทศขณะนั้นลงความเห็นกันว่าถูกลอบปลงพระชนม์ ในขณะเดียวกันก็พากันเกลียดชังสาปแช่งในตัว ‘ผู้บงการ’ ผู้ลงมือและผู้ร่วมมือ ที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า คนไทยทั้งชาตินั้น ก็เพราะคิดว่าผู้ที่คิดอย่างอื่นตามข่าวเล่าลือนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อชาติไทยและไม่สมควรเรียกว่าคนไทย คนไทยมีนิสัยลืมง่าย ผู้ที่เกิดทันเหตุการณ์สมัยนั้นก็ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก พวกที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ก็ขออยู่อย่างสบายๆไปวันหนึ่งๆ คิดว่าศาลฎีกาตัดสินแล้วก็แล้วไป...ในขณะเดียวกันฝ่าย ‘ผู้บงการ’ ก็พยายามกระทำการทุกอย่าง เพื่อฟอกตัวเองให้บริสุทธิ์ กลับกลายเป็นผู้ที่มีคนหลงผิดเคารพนับถือมากขึ้น....ข้าพเจ้าจึงทนไม่ได้ที่จะอยู่นิ่งเฉย จึงได้ถือโอกาสจัดทำหนังสือขึ้น” น่าสนใจว่า อนุสาวรีย์ปรีดีที่ธรรมศาสตร์ได้รับการเปิดก่อนพระบรมรูปในหลวงอานันท์นี้เพียง ๒ ปีพอดี (พฤษภาคม ๒๕๒๗)

(๗) สุพจน์ ด่านตระกูล, โต้คุณไข่มุกด์ ชูโต กรณีสวรรคต. กรุงเทพ: ศิลปสนองการพิมพ์ ๒๕๓๐, หน้า ๒๕-๓๕.

(๘) มีความเชื่อหรือเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปในสมัยรัชกาลที่ ๗ ว่ากรมพระนครสวรรค์คือผู้มีอำนาจแท้จริงอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์ (พระชนมายุมากกว่าพระปกเกล้าถึง ๑๒ ปี) เรื่องเล่าที่ว่าทรงมีบทบาทสำคัญในการเลือกให้เจ้าฟ้าประชาธิปกเป็นรัชกาลที่ ๗ นี้ ฟังดูสมจริง ก็เพราะเข้ากันได้กับความเชื่อดังกล่าว ในบทความล่าสุดของสุพจน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาได้เล่าบทบาทผลักดันของกรมพระนครสวรรค์นี้อย่างมีสีสันว่า (ส่วนที่เน้นของสุพจน์เอง)

ในบรรดาเสนาบดีที่ร่วมเฟ้นหาองค์รัชทายาท [ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘] ..... มีจอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นบุคคลสำคัญที่ทรงอำนาจที่สุดในบรรดาเสนาบดีในขณะนั้น (พระองค์...อยู่ในฐานะพระเชษฐาของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก) อันเป็นเหตุให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาปฏิเสธในเบื้องต้นที่จะรับเป็นองค์รัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ โดยทรงอ้างเหตุผลทางพระอนามัย

แต่จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตตระหนักเป็นอย่างดีว่า เหตุผลที่ทรงปฏิเสธที่ล้ำลึกกว่าเรื่องพระอนามัยนั้นมีอยู่ และนั่นก็คือ ตำแหน่งเสนาบดี 2 กระทรวงหลักที่พระองค์ท่านดำรงอยู่ เป็นเหตุที่แท้จริงให้พระอนุชาโดยชันษา แต่มีศักดิ์สูงกว่าโดยชาติกำเนิดทางพระราชชนนี ทรงปฏิเสธที่จะรับเป็นองค์รัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ พระองค์จึงลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่ประทับ ลงนั่งกับพื้นกราบถวายบังคมทูลอัญเชิญให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกกรมขุนสุโขทัยธรรมราชาขึ้นนั่งบัลลังก์สืบราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ 7

(สุพจน์ ด่านตระกูล, “การสืบราชสันตติวงศ์”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 4, ตุลาคม-ธันวาคม 2548, หน้า 105-106) สุพจน์ไม่ได้อ้างหลักฐานสำหรับเรื่องเล่านี้ แต่ผู้ที่เคยอ่านงานประเภทสารคดีการเมืองเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๗ อาจจะเคยเห็นเรื่องเล่าทำนองนี้มาก่อน อันที่จริง ดังที่ผมจะแสดงให้เห็นข้างหน้า เรื่องเล่าหรือ “ตำนาน” กรมพระนครสวรรค์ลงนั่งกราบเจ้าฟ้าประชาธิปกนี้เป็นที่นิยมเล่าต่อๆกันมาอย่างแพร่หลายไม่น้อย แม้ว่าแต่ละคนที่เล่าจะมีรายละเอียดที่ไม่ตรงกันทั้งหมด หรือบางกรณีก็ต่างกันค่อนข้างมาก สุพจน์เพียงแต่นำเรื่องเล่าจากผู้อื่นมาเล่าต่ออีกทอดหนึ่ง นอกจากปัญหาใหญ่ในแง่ความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่านี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทเจ้าฟ้าบริพัตรในการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๗ แล้ว การเล่าของสุพจน์มีความคลาดเคลื่อนในประเด็นรองที่เห็นได้ชัดเจนคือ ตำแหน่งของเจ้าฟ้าบริพัตรขณะนั้นไม่ใช่เสนาบดี ๒ กระทรวง (ทั้งยังทรงเป็นเพียง “กรมหลวง” ไม่ใช่ “กรมพระ”) ดูเชิงอรรถที่ ๓๙ ข้างล่าง